อูฐเคยเป็นสัตว์ตัวกลางในการนำไวรัสโคโรนาจากค้างคาวในชื่อ MERS-CoV ก่อโรคเมอร์สระบาดสู่มนุษย์ในปี 2013 สัตว์อีกชนิดหนึ่งในตระกูลเดียวกันกับอูฐคือ ตัวลามาหรือยามา (Llama) ก็เป็นสัตว์ตัวกลางในการนำไวรัสโคโรนา HCoV-229E จากค้างคาวระบาดมาสู่มนุษย์เช่นเดียวกัน
และล่าสุดปีนี้ เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่าง SARS-CoV-2 นำโรคโควิด-19 มาระบาดใหญ่ในมนุษย์ทั่วโลกอีกครั้ง ก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งสนใจที่จะนำภูมิคุ้มกันไวรัสในร่างกายสัตว์ตระกูลนี้มาศึกษา และก็พบเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัสออสติน ประเทศเบลเยียม นำโดย รองศาสตราจารย์ด้านชีวโมเลกุล เจสัน แม็คเลลลัน ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Cell เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เอกสารดังกล่าวผ่านขั้นตอน Peer-Reviewed และเผยแพร่ในระบบออนไลน์แล้ว เป็นเรื่องราวของการนำระบบการต้านไวรัสในลามามาช่วยผู้ป่วยโควิด-19 โดยการเชื่อมแอนติบอดี้ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างแอนติบอดี้ตัวใหม่ที่มีความสามารถในการเข้าไปจับกับโปรตีนบริเวณหนามของไวรัสโคโรนา เป็นการขัดขวางไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์เป้าหมาย
รู้จักกับ ‘วินเทอร์’
ตัวจักรสำคัญในการศึกษาครั้งนี้คือ ‘วินเทอร์’ ลามาเพศเมียอายุ 4 ปี ในฟาร์มแห่งหนึ่งนอกเขตเมืองของเบลเยียม ซึ่งทุกวันนี้ วินเทอร์ ยังมีสุขภาพดี อยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ลามาและอัลปากาอีกราว 30 ชีวิต
เรื่องราวของ วินเทอร์ เริ่มขึ้นในปี 2016 เมื่อเธอมีอายุเพียง 9 เดือน ก็ได้ถูกนำมาเข้าสู่การทดลองเพื่อหาภูมิคุ้มกันกับเชื้อของโรคซาร์สและเมอร์สที่เคยระบาดก่อนหน้านั้น หลังผ่านไป 6 สัปดาห์ เมื่อนำเลือดของ วินเทอร์ มาตรวจ ก็พบแอนติบอดี้ในเลือดของ วินเทอร์ ที่เรียกว่า VHH-72 แสดงคุณสมบัติว่า สามารถต้านไวรัสโคโรนา SARS-CoV-1 ตัวก่อโรคซาร์สได้จริง
ร่างกายลามา หรืออัลปากา หรือสัตว์อื่นในตระกูลอูฐนั้น เมื่อมีสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรียหรือไวรัส ล่วงล้ำเข้าไป ระบบภูมิคุ้มกันของมันจะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมา 2 ชนิด ชนิดแรกมีลักษณะคล้ายแอนติบอดี้ที่มีในร่างกายมนุษย์เรา ชนิดที่สองจะมีขนาดเล็กเพียงหนึ่งในสี่ มีชื่อเรียกว่า Single-domain antibodies หรือแอนติบอดี้โดเมนเดี่ยว
ซึ่งเจ้าแอนติบอดี้ขนาดเล็กนี้เองที่มีคุณสมบัติพิเศษ เนื่องจากมันสามารถเข้าไปจับกับสไปรค์โปรตีนบริเวณ ‘หนาม’ ของไวรัสโคโรนาได้อย่างเหนียวแน่น การที่สไปรค์โปรตีนของไวรัสโคโรนาถูกขัดขวางไว้เช่นนี้ ทำให้ไวรัสไม่อาจเข้าไปเกาะกับ ‘ตัวรับ’ ที่เซลล์โฮสต์ ไวรัสจึงเข้าไปในเซลล์นั้นเพื่อแพร่พันธุ์ต่อไปไม่ได้ ทำให้สัตว์ในกลุ่มนี้ไม่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสนี้แต่อย่างใด
Photo: www.nature.com/articles/s41579-018-0118-9/figures/2
ทีมงานพบว่า แอนติบอดี้ VHH-72 จากเจ้าลามาวินเทอร์ สามารถจับกับสไปรค์โปรตีนของไวรัสโรคซาร์ส หรือ SARS-CoV-1 ได้เป็นอย่างดี และสามารถจับกับสไปรค์โปรตีนของไวรัสของโรคโควิด-19 หรือ SARS-CoV-2 ได้ด้วย แต่จับไม่แน่นพอ ต้องใช้แอนติบอดี้ VHH-72 นี้จำนวน 2 ชุด เชื่อมเข้าด้วยกันจึงได้ผล
ล่าสุด ทีมงานเตรียมขยายผลการทดลองไปสู่สัตว์กลุ่มอื่น เช่น หนูแฮมสเตอร์ และเตรียมนำไปทดลองในมนุษย์ต่อไป ทีมงานเชื่อว่า แอนติบอดี้จากลามาสามารถช่วยลดอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ในขั้นวิกฤตได้ อย่างน้อยก็เป็นการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดใหญ่ของโรคนี้ ก่อนที่การผลิตวัคซีนเฉพาะโรคที่วิจัยกันอยู่ในหลายประเทศจะได้รับการอนุมัติให้ใช้จริง ซึ่งอาจต้องรออีกนานถึง 18 เดือน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: