×

นักวิจัยจีนเผย แอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนโควิด-19 แบบเชื้อตายของจีน 2 ชนิดมีประสิทธิภาพลดลงต่อไวรัสสายพันธุ์ ‘เดลตา’ ชี้กรณีระบาดที่กวางตุ้งยังไม่มีใครฉีดแล้วป่วยหนัก

โดย THE STANDARD TEAM
27.06.2021
  • LOADING...
โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เฟิงจี้เจียน นักวิจัยและอดีตรองผู้อำนวยการจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน เปิดเผยผ่านการสัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ CCTV ของทางการจีนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า แอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนโควิด-19 ของจีนสองตัว มีประสิทธิภาพลดลงต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตา เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ แต่ยังคงให้การป้องกันโรคได้ แต่ไม่ได้เจาะจงว่า ‘วัคซีนสองตัว’ นี้ หมายถึงยี่ห้อใด เพียงแต่บอกว่าเป็นวัคซีนชนิด ‘เชื้อตาย’ (Inactivated Vaccine) เท่านั้น และไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ มากกว่านี้

 

ทั้งนี้ หากสำรวจตามรายงานของรอยเตอร์สและสื่อของจีน จากวัคซีนทั้งหมด 7 ตัวในจีนที่เป็นวัคซีนพัฒนาเองภายในประเทศและอยู่ในโครงการฉีดวัคซีนในประชากรขนาดใหญ่นั้น มี 5 ตัวที่เป็นชนิด ‘เชื้อตาย’ ได้แก่ วัคซีนที่พัฒนาโดย Sinovac Biotech, วัคซีนที่พัฒนาโดย Sinopharm Group (มี 2 ตัว), วัคซีนที่พัฒนาโดย Shenzhen Kangtai Biological Product และวัคซีนที่พัฒนาโดยสถาบันชีววิทยาการแพทย์ของ Chinese Academy of Medical Sciences ในเมืองคุนหมิง

 

เจ้าหน้าที่ทางการจีนระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตาทำให้เกิดการระบาดใน 3 เมืองทางใต้ของมณฑลกวางตุ้ง โดยมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันในพื้นที่แล้ว 170 คนระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคมถึง 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ร้อยละ 85 พบที่เมืองกวางโจว เมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ติดเชื้อเฉพาะสายพันธุ์เดลตากี่ราย เฟิงยืนยันว่าการระบาดในมณฑลกวางตุ้งนั้น “ไม่มีการติดเชื้อที่กลายมาเป็นกรณีที่รุนแรงในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว และไม่มีใครในหมู่ผู้ที่มีอาการรุนแรงเลยที่ได้รับวัคซีนแล้ว”

 

ภาพ: Liu Shuangxi / VCG via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X