ถึงแม้ NFT จะได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากกลุ่มครีเอเตอร์คนไทย แต่ทว่าในต่างประเทศ NFT นั้นมีกระแสต่อต้านอย่างหนักจากคนหลายกลุ่ม จนทำให้บริษัทต่างๆ ที่ประกาศทำ NFT ต้องยกเลิกแผนไปอย่างเงียบๆ หลายราย การแอนตี้ NFT อาจยังดูเป็นเรื่องไกลตัวเมืองไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังเห็นตรงกันว่ามันคือหนทางสู่ความสำเร็จ แต่เราอยากให้ทุกคนได้เห็นเหรียญสองด้านของสิ่งนี้ จากการศึกษากรณีต่อต้าน NFT ในกลุ่มแพลตฟอร์ม ดารา บริษัทเกม และมูลนิธิ ที่จบไม่สวยเอาเสียเลย และไม่แน่ว่ากระแสต่อต้านที่มาแรงขึ้นนี้อาจทำให้พื้นที่ของ NFT นั้นเปลี่ยนไป
1. ผู้ใช้งาน Discord ไม่พอใจหากต้องผูกตัวแอปกับระบบบล็อกเชน
บริษัทแรกๆ ที่ต้องเจ็บตัวจากการเข้าสู่โลก NFT คือแพลตฟอร์มแชตกลุ่มยักษ์ใหญ่ Discord เพราะเมื่อซีอีโอของ Discord อย่าง Jason Citron ทวีตว่าจะมีการผูกตัวแอปกับระบบบล็อกเชนเท่านั้น ทวิตเตอร์ของเขาก็ถูกผู้ใช้งานที่ไม่พอใจจำนวนมากรุมถล่มส่งรูปยกเลิก Discord Nitro (การสมัครสมาชิกแบบจ่ายตังค์) ในคอมเมนต์ รวมถึงขู่ว่าจะเปลี่ยนไปใช้บริการบริษัทคู่แข่ง ทำให้เจ้าตัวต้องรีบเปลี่ยนนโยบายหลังจากนั้นในสามวัน แต่การต่อต้านมิได้นำไปสู่การยกเลิกเสมอไป เพราะสตาร์ทอัพอย่าง Kickstarter และ Gumroad ก็ยังมุ่งหน้าเข้าสู่การใช้ NFT และคริปโตในแพลตฟอร์มของตน แม้จะมีการต่อต้านอย่างมากมาย
2. กระแสโจมตีดาราที่ทำให้ราคา NFT สูงขึ้น
ไม่มีดาราคนไหนที่ออกมาเผยแพร่ NFT แล้วไม่ถูกโจมตีอย่างเมามันในทวิตเตอร์ เพราะคนดังอย่าง Matt Damon, Reese Witherspoon, Paris Hilton ฯลฯ ถูกเผาไปเรียบร้อยแล้วจากการโฆษณาและการสนับสนุน NFT ในช่องทางต่างๆ ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่การกระทำที่บริสุทธิ์ใจ แต่เป็นการถูกจ้างให้พูดถึงเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋า ทั้งๆ ที่ตัวเองก็รวยจะแย่อยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งการซื้อ NFT เฉยๆ ยังถูกมองว่าเป็นการปั่นราคาทำกำไร โดยใช้ชื่อเสียงที่มีอยู่แล้วมาทำให้ราคาดีดสูงขึ้น ล่าสุด Brie Larson นางเอก Marvel ก็ถูกโจมตีในทวิตเตอร์ว่าการอวด NFT อันใหม่ของเธอนั้นมีผลเสียมหาศาลต่อวงการศิลปะและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังก่อให้เกิดการต้มตุ๋น
Paris Hilton ในรายการ Tonight Show
3. นักเล่นเกมมองว่าถูกเอาเปรียบหากเพิ่ม NFT ในเกม
การต่อต้านที่เกรี้ยวกราดที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มเกมเมอร์ที่ไม่พอใจ เมื่อผู้พัฒนาต่างๆ มีแผนใส่ NFT เพิ่มเข้าไปในเกมเพื่อให้ผู้เล่นสามารถเป็นเจ้าของไอเท็มนั้นได้จริง เพราะสำหรับผู้เล่นเเล้ว การใส่ NFT ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าอีกหนทางในการเอาเปรียบพวกเขาเพื่อเพิ่มกำไรบริษัท สิ่งที่เหล่าเกมเมอร์ต้องการคือเกมที่สนุกมากกว่าการเอาสกินไปขายเพื่อทำเงิน การต่อต้านอย่างหนักก็ทำให้ผู้ผลิตอย่าง EA ล้มเลิกความตั้งใจนี้ไป แต่ทว่าเจ้าอื่นๆ อย่าง Ubisoft, Square Enix และ Konami กลับลงทุนการสร้างมากขึ้นโดยไม่สนใจเสียงวิจารณ์ ด้วยความหวังที่จะเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ในเกมรูปแบบ Play-to-Earn
4. WWF ถูกโจมตีจนต้องล้มเลิกการขาย NFT
จบท้ายด้วย WWF มูลนิธิในตำนานที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งนี้ที่ต้องล้มเลิกการขาย NFT คอลเล็กชันแรกภายใน 48 ชั่วโมง หลังถูกต่อต้านอย่างหนัก ถึงแม้แคมเปญทั้งหมดจะถูกคำนวณมาอย่างดีว่าเป็นการทำความดีเพื่อระดมทุนช่วยเหลือสัตว์ป่าด้วย NFT ที่แสดงถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดต่างๆ และขายบนบล็อกเชน Polygon ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าบล็อกเชนอื่น แต่ความไม่พอใจก็ยังปะทุขึ้นจากฝ่ายนักอนุรักษ์ที่เห็นว่าการขาย NFT นั้นเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะขายที่ไหน พวกเขาจึงพากันยกเลิกการบริจาครายเดือนกันไปเลย
จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนกลยุทธ์มาสาย NFT ไม่สามารถทำได้กับทุกธุรกิจหรือทุกคน เพราะในขณะที่กลุ่มดาราและผู้พัฒนาเกมหรือแอปถูกต่อต้าน ในทางกลับกัน NFT ประเภทอื่นๆ อย่างแฟชั่นหรือเพลงกลับได้รับความนิยม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงว่าภาพในอนาคตของ NFT จะเป็นอย่างไร และจะมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากนี้อีก
อ้างอิง: