×

6 อดีต กสม. แถลงการณ์ ขอทุกฝ่ายเคารพการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน คุ้มครองผู้ชุมนุม 19 ก.ย.

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (18 กันยายน) อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รวม 6 คน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิในการแสดงออกอย่างสันติของประชาชนและให้ความคุ้มครองผู้ชุมนุมทุกคน โดยมีรายละเอียดระบุว่า 

 

ในฐานะผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน เพื่อเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม และการยุติการคุกคามประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นับตั้งแต่การชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงล่าสุดที่ผู้ชุมนุมได้ประกาศการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พวกข้าพเจ้าตามรายชื่อแนบท้ายรู้สึกกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีท่าทีชัดเจนในการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ในขณะเดียวกันพบว่ามีการใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและผู้เห็นต่างทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น

 

เราเห็นว่าเห็นว่าสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และหลักการสำคัญในการคุ้มครองการชุมนุมคือการรักษาชีวิตและความปลอดภัยของบุคคลทุกคนในที่ชุมนุม ซึ่งการชุมนุมในปัจจุบันถือเป็นการเคลื่อนไหวในมิติใหม่ของเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนที่มิได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย หากแต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายของคนรุ่นใหม่ต่อค่านิยมเชิงสังคมและวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อน ซึ่งหากบรรดาผู้ใหญ่ไม่เข้าใจหรือแสดงท่าทีต่อต้านก็เท่ากับเป็นการทำลายคุณค่าอนาคตของสังคมไทย

 

นอกจากนั้นสถาบันการศึกษาจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม และเพื่อป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาจสร้างสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่ควรผลักไสให้ประชาชนออกไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอันตราย เพราะจะแสดงถึงความไม่รับผิดชอบของสถาบันการศึกษาในการคุ้มครองนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ซึ่งแม้จะเป็นผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล แต่ทุกเสียงของประชาชนมีความสำคัญที่ต้องถูกรับฟัง


เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น 
พวกข้าพเจ้าตามรายชื่อแนบท้ายจึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

 

1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรหารือกับผู้จัดการชุมนุมและหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเพื่อหาทางออกร่วมกันในการคุ้มครองผู้ชุมนุม และป้องกันการสร้างสถานการณ์จากผู้ไม่หวังดีที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง 


2. ขอให้รัฐบาลใช้หลักรัฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งแทนการใช้กฎหมายเพื่อคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะการตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงและไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้ชุมนุม


3. รัฐสภาควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ตามที่ผู้แทนประชาชนได้แสดงเจตจำนงในการจะยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 50,000 รายชื่อต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 22 กันยายน 2563


4. รัฐบาลควรปฏิบัติตามความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (CCPR) ฉบับที่ 37 ตามข้อบทที่ 21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบขององค์การสหประชาชาติ (ICCPR) มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุม เช่น รัฐไม่ควรจะกล่าวอ้าง ‘ความสงบเรียบร้อย’ ซึ่งเป็นคำที่มีความคลุมเครือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบอย่างกว้างขวาง และการห้ามก่อ ‘ความไม่สงบเรียบร้อย’ (Public Disorder) ภายใต้กฎหมายภายในประเทศ ไม่ควรถูกใช้โดยมิชอบเพื่อจำกัดการชุมนุมโดยสงบ (ข้อ 44) 

 

การอ้างเหตุแห่งการจำกัดสิทธิเพื่อการคุ้มครอง ‘ด้านสาธารณสุข’ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่เหตุดังกล่าวสามารถถูกใช้ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และการชุมนุมรวมกลุ่มกันอาจก่อให้เกิดอันตราย การจำกัดสิทธิด้วยเหตุนี้อาจยกขึ้นมาใช้ได้ในกรณีที่ร้ายแรงอย่างมากเมื่อสถานการณ์ด้านสุขอนามัยในระหว่างการชุมนุมอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อสาธารณชนหรือต่อตัวผู้ชุมนุมเอง (ข้อ 45)

 

การใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในการชุมนุมจะต้องกระทำเมื่ออยู่ภายใต้สถานการณ์อันจำเป็น และเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจะต้องมิใช่ผู้ก่อให้เกิดความรุนแรง ก่อนที่จะมีการตรวจค้นหรือจับกุมใดๆ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจะต้องแสดงตนต่อผู้เกี่ยวข้อง (ข้อ 92) 

 

ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น พวกข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันหาทางออก โดยทุกเสียงของประชาชนจะต้องถูกรับฟัง และรัฐบาลควรตระหนักถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยความยืดหยุ่น ผ่อนปรน และยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองของประเทศไทยที่เกิดจากประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง และพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยต่อไป

 

1. วสันต์ พานิช
2. สุนี ไชยรส
3. นัยนา สุภาพึ่ง
4. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
5. เตือนใจ ดีเทศน์
6. อังคณา นีละไพจิตร

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X