×

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดโปงกลโกงโครงการก่อสร้างรัฐ จับตาเงินภาษี 2 แสนล้านบาทต่อปี หายเข้ากระเป๋าคนบางกลุ่ม

โดย THE STANDARD TEAM
11.04.2025
  • LOADING...
anti-corruption-state-projects

วันนี้ (11 เมษายน) ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านระบบ D-VOTE หัวข้อ ‘คุณคิดว่าเหตุการณ์อาคาร สตง. แห่งใหม่ถล่ม เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันหรือไม่?’ ซึ่งเปิดให้ประชาชนโหวตระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2568 

 

ผลสำรวจเบื้องต้นจากกลุ่มตัวอย่างกระจายทุกช่วงอายุและภูมิภาคจำนวน 182 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 87.0 พบว่า ร้อยละ 98 ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่มเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน 

 

เมื่อถามเจาะลึกถึงสาเหตุตึกถล่ม ประชาชนชี้ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ คอร์รัปชันของผู้เกี่ยวข้องการใช้วัสดุคุณภาพต่ำ เช่น เหล็กปลอม และกำหนดแบบก่อสร้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น ต้องการเงินทอน

 

สำหรับการลงโทษผู้กระทำผิด ประชาชนจี้รัฐ ฟันให้ถึงตัวใหญ่ ไม่ใช่แค่โยนแพะ โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้แค่หาผู้รับเหมากลับมารับผิด แต่เรียกร้องให้ดำเนินคดีผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งเสนอให้แบล็กลิสต์บริษัทรับเหมาที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ห้ามรับงานรัฐอีกตลอดชีวิต และจำคุกตลอดชีวิตผู้เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันโดยไม่ลดหย่อนโทษ 

 

ส่วนแนวทางแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยตึกถล่ม เสียงจากประชาชนเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. ปรับปรุงกฎหมายให้เข้มงวด บังคับให้ทุกโครงการต้องมีกระบวนการตรวจสอบคอร์รัปชัน ทั้ง ตรวจสอบผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน ตรวจรับวัสดุ 
  2. บังคับใช้กฎหมายปราบคอร์รัปชันด้วยบทลงโทษเด็ดขาดรุนแรงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต 
  3. รัฐต้องปรับปรุงระบบข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนตรวจสอบอย่างโปร่งใส 
  4. ให้ทุกโครงการเมกะโปรเจกต์ (มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) ต้องผ่านข้อตกลงคุณธรรม ให้ประชาชนร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ต้น 

 

ดร.มานะ กล่าวต่อว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือโครงการร่วมลงทุนภาครัฐกับเอกชน เป็นโครงการที่ใช้งบลงทุนสูงเป็นเป้าหมายของคนโกง โดยอาศัยช่องทางตามระเบียบ ดูเผินๆ เหมือนถูกต้องตามระเบียบทุกประการ แต่กลับมีช่องพลิกแพลงให้คอร์รัปชันหลากหลายเทคนิค เช่น การล็อกสเปก เพื่อให้เฉพาะบริษัทบางรายเท่านั้นที่ผ่านคุณสมบัติ การฮั้วประมูล โดยตกลงราคาล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ชนะได้งาน 

 

ส่วนผู้แพ้ได้ค่าตอบแทน การแบ่งสัญญา ล่วงหน้าตามคิว ผู้รับเหมาที่ต้องได้รับงาน รวมถึงการหักหัวคิว หรือเงินทอน ร้อยละ 20-30 ของมูลค่างาน เพื่อจ่ายให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจเอื้อประโยชน์ ที่ผ่านมาพบว่า 3 ขั้วอำนาจที่ร่วมมือกันแนบแน่น ทำให้คอร์รัปชันดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนายทุน ข้าราชการที่รู้เห็นแต่เงียบเฉย ก็ถือว่ามีส่วนร่วมเช่นกัน งบประมาณงานก่อสร้างภาครัฐแต่ละปี มีมูลค่ารวมกว่า 780,000 ล้านบาท หากคอร์รัปชันเฉือนหัวคิวไปร้อยละ 30 จะคิดเป็นเงินสูงถึงกว่า 200,000 ล้านบาท ที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ เข้าสู่กระเป๋าคนบางกลุ่ม 

 

ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า คอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และการนิ่งเฉยคือการสมรู้ร่วมคิด สื่อมวลชนและภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องไม่แค่เรียกร้องให้รัฐโปร่งใส แต่ต้องปฏิเสธคอร์รัปชันทุกรูปแบบหยุดระบบฮั้ว หัวคิว เงินทอน และรวมพลังประชาชนลุกขึ้นสู้ เพื่อเปลี่ยนประเทศของเรา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising