×

แอนโทนี เอลังกา กับทฤษฎี ‘ออกจากผีได้ดีทุกคน?’

02.04.2025
  • LOADING...
แอนโทนี เอลังกา เฉลิมฉลองหลังทำประตูให้น็อตติงแฮม ฟอเรสต์เอาชนะอดีตต้นสังกัดแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ประตูจากลูกโซโล่เดี่ยวสุดมันของ แอนโทนี เอลังกา ไม่เพียงเป็นประตูที่ต่อยอดความหวังของทีม ‘เจ้าป่า’ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์​ ในการจะลุ้นทำอันดับเพื่อไปเล่นยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แต่ยังเป็นประตูที่สำคัญกับเจ้าตัวด้วย

 

เพราะเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของปีกจอมกระชากที่เคยถูกมองข้ามมาก่อนเมื่อครั้งยังอยู่ในถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ด

 

แต่ไม่เพียงเท่านี้ เพราะมันยังมาพร้อมกับคำถามที่น่าสนใจมากว่า ทำไมนักเตะหลายคนที่เดินออกจากโรงละครแห่งความฝันแล้วถึงสามารถกลับมาแจ้งเกิดกันได้อย่างมากมาย

 

น่าสงสัยดีนะว่าไหม?

 

ในเกมที่สนามซิตี้ กราวด์ ต้องบอกว่าเป็นการต่อสู้กันที่สนุกสำหรับผู้ชมเพราะน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่างมีโอกาสที่จะทำประตูด้วยกันพอสมควร

 

โดยเฉพาะทีมปีศาจแดงที่มีโอกาสไม่น้อยเพียงแต่ปัญหาคือการขาดคุณภาพในการเล่นพื้นที่แดนสุดท้าย (Final Third) ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโอกาสที่มีให้เป็นประตูได้ ซึ่งตรงนี้คือความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดสำหรับสองทีม

 

และที่ทำให้เรื่องสนุกคือ ‘ความแตกต่างใกล้ฉัน’ ที่ว่านั้นเป็นอดีตนักเตะที่เคยเป็นลูกหม้อของแมนฯ ยูไนเต็ด อย่าง แอนโทนี เอลังกา นั่นเอง

 

แอนโทนี เอลังกา เฉลิมฉลองหลังทำประตูให้น็อตติงแฮม ฟอเรสต์เอาชนะอดีตต้นสังกัดแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

 

เอลังกากลายเป็นผู้เล่นที่ตัดสินเกมนี้จากประตูในนาทีที่ 5 ของเขาที่เกิดขึ้นในจังหวะสวนกลับจากลูกเตะมุมของแมนฯ​ ยูไนเต็ด ปรากฏว่าบอลมาเข้าเท้าของปีกทีมชาติสวีเดนวัย 22 ปี ที่เมื่อได้บอลแล้วก็ติดเครื่องทันทีด้วยความเร็วที่ไม่มีผู้เล่นทีมเก่าคนไหนตามได้ทัน

 

ก่อนที่หนึ่งในผู้เล่นริมเส้นที่โดดเด่นที่สุดของพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้จะตัดสินใจใส่สกอร์ด้วยตัวเอง เป็นประตูที่ 6 ของเขาในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ และทำให้ฟอเรสต์คว้าชัยชนะที่สำคัญอย่างยิ่งต่อโอกาสในการไปแชมเปียนส์ลีกเมื่อโกยแต้มเพิ่มเป็น 57 คะแนน หนีห่างเชลซี ทีมอันดับ 4 เป็น 8 คะแนน (ลงเล่นมากกว่า 1 นัด) โดยห่างจากทีมรองจ่าฝูงอย่างอาร์เซนอลเพียงแค่ 4 แต้มเท่านั้น

 

เห็นผลงานของเอลังกาแล้ว แฟนบอลเรดอาร์มีจำนวนไม่น้อยได้แต่บ่นเสียดายในใจ

 

ไม่น่าปล่อยตัวไปเลย…

 

อย่างไรก็ดี คำถามที่น่าสนใจคือสมมติหากเอลังกายังคงอยู่กับแมนฯ ยูไนเต็ด – ไม่ได้โดนขายทิ้งออกไปในช่วงยุคของ เอริก เทน ฮาก ในปี 2023 – เขาจะสามารถแจ้งเกิดและทำผลงานได้ในระดับนี้หรือไม่?

 

เพราะดูเหมือนเทรนด์ในเวลานี้ที่ค่อนข้างชัดเจนคือ นักเตะที่เคยดับกับทีมปีศาจแดงต่างกลับมาแจ้งเกิดได้สวยงามหลายต่อหลายคนกับทีมใหม่

 

ยังมีแอนโทนีที่กลายเป็นขวัญใจคนใหม่ของเรอัล เบติส ในลาลีกา สเปน, สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ ก็เป็นฮีโร่ของทีมนาโปลีที่กำลังลุ้นคว้าสคูเด็ตโตในเซเรียอา อิตาลี และ มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่กลับมามีความสุขในการเล่นฟุตบอลอีกครั้งกับแอสตัน วิลลา

 

โดยที่เรายังไม่ได้พูดถึงคนที่ไม่ถึงกับเด่นมากแต่ก็ดูดีขึ้นกว่าตอนอยู่ในโอลด์แทรฟฟอร์ดอย่าง อองโตนี มาร์ซิยาล, อารอน วาน บิสซากา, ดอนนี ฟาน เดอ เบค หรือ เจดอน ซานโช (แฟนเชลซีอาจจะขอเถียงนิดหน่อย)

 

ทำไมนักเตะเหล่านี้ถึงทำได้ดีขึ้น? มันเป็นเพราะอะไรกันแน่?

 

เรื่องนี้หากนำมาวิเคราะห์แล้วเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง

 

 

1. น้ำหนักของความคาดหวัง

 

อย่างแรกคือเรื่องของความคาดหวังซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมจับต้องไม่ได้แต่รู้สึกได้มากที่สุด

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ได้เป็นแค่สโมสรฟุตบอลแต่เป็น ‘สถาบันลูกหนัง’ ที่มีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์ยาวนาน การได้สวมเสื้อที่มีตราปีศาจแดงถือสามง่ามลงเล่นนั้นจึงถือเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตัวเองอย่างมากแน่นอน

 

แต่มันก็มาพร้อมกับภาระความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเตะที่ย้ายมาส่วนใหญ่จะย้ายมาด้วยค่าตัวที่สูงมหาศาล 

 

ริโอ เฟอร์ดินานด์ เคยกล่าวในรายการ Podcast ของตัวเองว่า “ลองดูแอนโทนี เขาได้แมนออฟเดอะแมตช์ติดๆ กัน แถมยิงประตูกับทำแอสซิสต์ได้ด้วยตั้งแต่เกมแรกๆ ส่วนแม็คโทมิเนย์ก็เล่นอย่างกับเป็น จูด เบลลิงแฮม ในตอนนี้ ส่วนเอลังกาก็กลายเป็นปีกลอยลม

 

“การที่นักเตะเหล่านี้ย้ายออกไปและทำได้ดีราวกับเป็นอีกคน เพราะว่าอะไรที่เหนี่ยวรั้งไว้อยู่ได้ถูกสลัดหลุดไปหมดแล้ว บรรยากาศความกดดันในโอลด์แทรฟฟอร์ด ตราสโมสร ทุกอย่างที่แบกมาได้ถูกปลดปล่อยออกทำให้พวกเขาเป็นอิสระ”

 

2. แรงกดดันจากแฟนบอล

 

ปัจจัยที่เชื่อมโยงกับความคาดหวังคือแรงกดดันจากแฟนฟุตบอล ซึ่งแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดนั้น แม้จะมีแฟนจำนวนมากที่พร้อมสนับสนุนทีมแบบไม่มีเงื่อนไข แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีขีดความอดทนที่ไม่จำกัด

 

ความอดทนที่จำกัดนั้นได้ถูกทดสอบอย่างหนักหน่วงมายาวนานนับสิบปี ตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือเมื่อปี 2013 ทำให้ทุกครั้งที่มีผู้เล่นหน้าใหม่ย้ายเข้ามาหรือผู้เล่นดาวรุ่งจากอะคาเดมีของสโมสร พวกเขาย่อมอยากเห็นนักเตะเหล่านี้ทำได้ดีเหมือนรุ่นพี่ๆ ที่เคยทำไว้เมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว

 

จริงๆ ถ้าเล่นกันได้ดี แฟนๆ ก็พร้อมเชียร์อยู่แล้ว แต่เมื่อเล่นกันไม่สมกับค่าตัวและค่าเหนื่อยมหาศาล ก็เป็นธรรมดาที่แฟนบอลจะโจมตีด่าทอ

 

นั่นนำไปสู่แรงกดดันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผู้เล่นเริ่มไม่เป็นตัวของตัวเอง (ลองคิดถึงถ้าเรานั่งทำงานในออฟฟิศแล้วมีคนแอบมองดูว่าเราทำงานเป็นอย่างไรตลอดเวลาก็ได้ คล้ายกัน) 

 

หนักเข้าก็สูญเสียตัวเอง สูญเสียความมั่นใจ และไม่เหมือนเดิมอีกเลย

 

ในขณะที่การย้ายมาเล่นในสโมสรใหม่ พวกเขาไม่ได้ถูกคาดหวังอะไรมากมายนักเพราะไม่ได้ย้ายมาด้วยค่าตัวมหาศาล อีกทั้งฟอร์มการเล่นก็ไม่เอาไหน (เล่นดีใครจะปล่อยมา) ไม่คาดหวังก็ย่อมไม่ผิดหวัง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคุณภาพของฝีเท้านักเตะเหล่านี้นั้นยังเป็นระดับท็อปอยู่ 

 

การเล่นได้ดีจึงเป็นเรื่องที่ทำได้เกินความคาดหวัง

 

 

3. โค้ชและคู่มือการใช้งาน

 

แต่จะโทษความคาดหวังและบรรยากาศทั้งหมดก็ไม่ใช่ ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือโค้ชที่จะต้องเป็นคนหาทางใช้งานและดึงศักยภาพในตัวผู้เล่นออกมาให้ได้มากที่สุด

 

กรณีนี้เห็นได้ชัดในรายของเอลังกา ที่แม้จะแจ้งเกิดในยุคของ ราล์ฟ รังนิก แต่ไม่อยู่ในแผนการทำทีมจนถูกปล่อยตัวมาให้กับฟอเรสต์ ซึ่งในช่วงแรกก็เล่นไม่ออกเหมือนกัน จนกระทั่งได้ นูโน เอสปิริโต ซานโต นายใหญ่คนปัจจุบันมาช่วยขัดเกลา

 

นูโนมองออกว่าจุดเด่นของเอลังกาคือความเร็วที่ไม่มีใครหยุดได้ ซึ่งเข้ากับระบบการเล่นในสไตล์ที่เขาถนัดคือรับแล้วสวนกลับเร็วพอดี สิ่งที่เหลือคือการหาคู่มือการใช้งานว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถใช้ประโยชน์ของนักเตะคนนี้ได้มากที่สุด

 

ผลตอบแทนที่ได้ก็อย่างที่เห็น หลังการขัดเกลาอยู่นานในที่สุดเอลังกาก็กลายเป็นปีกที่อันตรายที่สุดคนหนึ่งของพรีเมียร์ลีก และกลายเป็นอาวุธหนักของทีมเจ้าป่าไปแล้ว 

 

ทีนี้ลองคิดกลับไปอีกที สมมติหากเขายังอยู่กับแมนฯ ยูไนเต็ด ต่อ วันนี้ รูเบน อโมริม จะสามารถขัดเกลาและหาทางใช้งานเอลังกาได้ดีแบบนี้หรือไม่?

 

4. เพราะทุกคนเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

 

นักฟุตบอลก็เป็นคนทำงานเหมือนทุกคน พวกเขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่มีใครอยากจะเป็นคนไร้ค่าในสายตาคนอื่น

 

แต่เมื่อกลายเป็นคนที่ทำอะไรก็ไม่ดี หายใจก็ผิดแล้ว การได้โอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไม่มีใครอยากจะปล่อยผ่านไป เพราะต่อให้จะไม่สามารถเดินไปได้ไกลสุดทางแบบที่เคยฝันไว้ แต่อย่างน้อยก็กลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง

 

เกิดเป็นคนขอให้เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน 

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเตะหลายคนที่ย้ายออกจากแมนฯ ยูไนเต็ดจะดูมุ่งมั่นตั้งใจและเต็มที่เป็นพิเศษกับทีมใหม่ ต่อให้ทีมนั้นจะไม่ได้เป็นทีมใหญ่ ไม่ได้เป็นบิ๊กเนมอีกแล้วก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

 

ที่สำคัญคือโอกาสในการลงเล่น นักฟุตบอลคนไหนก็ไม่มีวันทำได้ดีหากไม่มีโอกาสได้ลงสนามต่อเนื่อง ซึ่งคนที่ต้องย้ายออกมาส่วนใหญ่คือคนที่ไม่ได้โอกาสในการลงสนาม เมื่อได้ลงเล่นสม่ำเสมอการเรียกจังหวะจะโคน (Rythm) ในการเล่น ไปจนถึงความแข็งแรงของร่างกาย (Match Fitness) ก็ดีขึ้นตามไปด้วย

 

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทีมอื่นมีให้ แต่แมนฯ ยูไนเต็ด มีให้ไม่ได้

 

 

5. ความมุ่งมั่นส่วนตัว

 

นักฟุตบอลแต่ละคนมีความมุ่งมั่นไม่เท่ากัน บางคนมุ่งมั่นจะเป็นที่หนึ่ง บางคนแค่เล่นแบบขอไปที ตรงนี้เป็นเรื่องปัจเจกของแต่ละบุคคล

 

ในกลุ่มนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ย้ายออกมาแล้วถือว่าประสบความสำเร็จนั้นหลายคนยังรักษาความมุ่งมั่นส่วนตัวได้ดีอยู่ ซึ่งเอลังกาเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

 

นอกเหนือจากการฝึกซ้อมกับทีมแล้ว สิ่งที่เอลังกาทำมานานและทำมาต่อเนื่องคือการจ้างโค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านการวิ่งเพื่อมาฝึกสอนและฝึกซ้อมให้ตัวเองวิ่งได้อย่างถูกวิธีและทำความเร็วได้ดีที่สุด ซึ่งการฝึกฝนของเขามีความสำคัญอย่างมากต่อสไตล์การเล่นของตัวเอง

 

จะสังเกตได้ว่าเอลังกาไม่ได้มีแค่ความเร็ว แต่ยังวิ่งได้อย่างดี รักษาสมดุลดีมาก เปลี่ยนทิศทางได้อย่างคล่องแคล่ว ไปกับบอลได้ด้วยความเร็วที่แทบไม่ลดลงจากปกติ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เรื่องที่นอนหลับแล้วฝันตื่นมาก็ทำได้เลย แต่ต้องแลกมาด้วยการฝึกซ้อมอย่างหนัก ต่อเนื่อง จนกลายเป็นวิชาติดตัว

 

เพราะต่อให้ย้ายมาทีมใหม่ เจอเพื่อนใหม่ โค้ชใหม่ แต่ทำตัวไม่เอาไหนเหมือนเดิม ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 

 

เราต่างเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น เริ่มจากตัวเองก่อน ซึ่งสำหรับเอลังกา เขาทำแบบนี้มาตลอดตั้งแต่อยู่กับแมนฯ ยูไนเต็ด และทำต่อเนื่องจนพัฒนาตัวเองมาไกลลิบ

 

สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยเหตุที่ทำให้นักเตะที่ย้ายออกมาจากแมนฯ ยูไนเต็ดส่วนใหญ่ทำผลงานกันได้ดีเมื่อเก็บข้าวของออกมาจากโรงละครแห่งความฝัน ที่ปัจจุบันไม่ต่างอะไรจากสุสานคนเป็น หลุมฝังศพของความหวัง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะกลับมาเป็นสถานที่ที่ดีและยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต

 

และอย่าลืมว่าในโลกของความจริง เวทีสำหรับการแสดงไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงละครเสมอไป

 

โรงละครเป็นเพียงแค่สถานที่ แต่หัวใจที่แท้จริงคือ ‘นักแสดง’ 

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising