ภูเขาน้ำแข็งขนาดเกือบเท่าเขตมหานครลอนดอน แตกออกจากหิ้งน้ำแข็งบรันต์ในทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (22 มกราคม) จากการเปิดเผยของคณะสำรวจแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักร (British Antarctic Survey – BAS)
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบรอยแตกขนาดใหญ่บนหิ้งน้ำแข็งบรันต์เป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน จนกระทั่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดการแตกครั้งใหญ่ 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี กลุ่มนักวิทยาธารน้ำแข็งเผยว่า สถานีวิจัยฮัลลีย์ของ BAS ซึ่งตั้งอยู่บนหิ้งน้ำแข็งบรันต์ ยังคงอยู่รอดปลอดภัย
สำหรับภูเขาน้ำแข็งที่แตกออกครั้งล่าสุดนี้มีขนาดประมาณ 1,550 ตารางกิโลเมตร ขณะที่นักวิจัยกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถูกคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และไม่ได้เป็นผลมาจากภาวะโลกรวน
“เหตุการณ์นี้ถูกคาดการณ์ไว้แล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมตามธรรมชาติของหิ้งน้ำแข็งบรันต์ ไม่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทีมวิทยาศาสตร์และทีมปฏิบัติการของเรายังคงตรวจสอบหิ้งน้ำแข็งตามเวลาจริง เพื่อให้แน่ใจว่าหิ้งน้ำแข็งยังปลอดภัย และเพื่อคงการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เราดำเนินการอยู่ที่สถานีวิจัยฮัลลีย์เอาไว้ต่อไป” ศ.โดมินิก ฮอดจ์สัน นักวิทยาธารน้ำแข็งของ BAS ระบุในแถลงการณ์
การแยกตัวออกในครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่ขนาดของทะเลน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานว่า “แม้ขนาดของทะเลน้ำแข็งแอนตาร์กติกจะลดลงฮวบฮาบเสมอในช่วงเวลานี้ของปี แต่ปีนี้กลับลดลงรวดเร็วผิดปกติ และเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขนาดทะเลน้ำแข็งแอนตาร์กติกอยู่ที่ระดับต่ำสุดเท่าที่ดาวเทียมได้เคยบันทึกไว้ในรอบ 45 ปี”
นักวิจัยจากศูนย์ข้อมูลแห่งนี้กล่าวว่า ทะเลน้ำแข็งที่ลดลงทำสถิติมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอุณหภูมิของอากาศที่อุ่นกว่าปกติ โดยอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทะเลรอสส์ถึง 2 องศาเซลเซียสในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ลมแรงยังเป็นตัวเร่งการลดลงของทะเลน้ำแข็งอีกด้วย
ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าทะเลน้ำแข็งยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งบ่งชี้ว่า ทวีปแอนตาร์กติกาอาจสิ้นสุดช่วงฤดูร้อนนี้ด้วยการทำสถิติใหม่เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ทวีปแอนตาร์กติกาประสบกับภาวะทะเลน้ำแข็งแกว่งตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี ขนาดของทะเลน้ำแข็งในแอนตาร์กติกานั้นเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอด ซึ่งแตกต่างจากทะเลน้ำแข็งในทวีปอาร์กติกที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ภาวะโลกรวนกำลังเป็นตัวเร่งให้เกิดผลกระทบต่างๆ
ข้อมูลดาวเทียมที่ย้อนกลับไปถึงปี 1978 แสดงให้เห็นว่า เมื่อไม่นานมานี้ในปี 2014 และ 2015 แอนตาร์กติกายังมีขนาดของทะเลน้ำแข็งสูงทำสถิติ แต่กลับลดลงอย่างกะทันหันในปี 2016 และยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนับตั้งแต่นั้นมา
ภาพ: Mario Tama / Getty Images
อ้างอิง: