Ant-Man & The Wasp คือหนังเรื่องที่ 20 ของจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวลส์ ผลงานกำกับของ เพย์ตัน รีด ที่นับว่าทำผลงานได้อย่างน่าพอใจตั้งแต่ภาคแรกในปี 2015 และได้กลับมารับหน้าที่สำคัญอีกครั้ง ในฐานะผู้กำกับหนังของมาร์เวล ต่อจาก Avengers: Infinity War ที่เป็นเรื่องสำคัญในการเปิดประตูสู่สงครามครั้งต่อไปในปีหน้า ซึ่งในความรู้สึกของเราภาคนี้ทำหน้าที่นั้นได้เป็นอย่างดี
ซูเปอร์ฮีโร่ตัวจิ๋วที่ทำให้รู้ว่าเล่าเรื่องเล็กๆ ก็สนุกได้
ความน่าสนใจอย่างแรกที่เราชอบมากๆ ของ Ant-Man & The Wasp คือความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของเนื้อเรื่องที่นำเสนอ
ธรรมดาตรงที่เส้นเรื่องหลักๆ ไม่ต่างจากหนังซูเปอร์ฮีโร่ทั่วไป คือการต่อสู้ของซูเปอร์ฮีโร่ตัวหลักและตัวร้ายประจำภาค แต่ Ant-Man & The Wasp ไม่ธรรมดาตรงที่จุดเริ่มต้นของสงครามไม่ได้มาจากการล้างแค้น หรือต้องการขึ้นมาเป็นใหญ่ของตัวร้าย และไม่ได้มาจากอุดมการณ์ยิ่งใหญ่แบบที่ธานอสต้องการรวบรวมอินฟินิตี้สโตนเพื่อปรับสมดุลของจักรวาลใน Avengers: Infinity War แต่สิ่งที่เอวาหรือโกสต์ (รับบทโดยฮันนาห์ จอห์น-คาเมน) ตัวร้ายในภาคนี้ต้องการมีเพียงการ ‘เยียวยา’ อาการบาดเจ็บของตัวเองเพียงเท่านั้น
และสิ่งที่ฝ่ายซูเปอร์ฮีโร่พยายามปกป้องก็ไม่ใช่มวลมนุษยชาติ แต่เป็นการปกป้องชีวิตของตัวเองและคนใกล้ตัว อย่างโฮป แวน ไดน์ หรือเดอะ วอสพ์ (รับบทโดยอีแวนเจลีน ลิลลี่) ต่อสาวรุ่นที่สอง และ ดร. แฮงก์ พิม (รับบทโดยไมเคิล ดักลาส) แอนต์แมนรุ่นแรก ก็สร้างสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่อย่างเครื่องเปิดประตูมิติควอนตัมเพียงเพื่อตามหา เจเน็ต แวนไดน์ (รับบทโดยมิเชล ไฟเฟอร์) แม่และภรรยาที่หลงอยู่ในมิติควอนตัม ส่วนแอนต์แมนรุ่นสองอย่าง สกอตต์ แลง (รับบทโดยพอล รัดด์) ก็สวมชุดสูทมนุษย์มดเพียงเพราะต้องการช่วยเหลือเพื่อน (ตรงนี้ถึงขนาดทำให้ภารกิจหลักเกือบพังมาแล้ว) และรักษาสถานการเป็นทั้งฮีโร่และพ่อดีของตัวเองเอาไว้ให้ได้เท่านั้น
ตัวหนังเลือกที่จะดำเนินเรื่องแบบสแตนด์อโลนอย่างชัดเจน เพราะไม่มีตัวละครไหนที่เชื่อมโยงไปกับเรื่องอื่นๆ รวมทั้งการเลือกใช้ช่วงเวลาดำเนินเรื่องตรงกับเหตุการณ์ใน Infinity Wars ก็ช่วยตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่าระหว่างที่แก๊งอเวนเจอร์สรวมตัวกันสู้กับธานอส สมาชิกคนสำคัญอย่างแอนต์แมนที่น่าจะออกมาช่วยกำลังทำอะไรอยู่ได้อย่างชัดเจน
การร่วมมือระหว่างซูเปอร์ฮีโร่รุ่นหนึ่งและรุ่นสอง
ถ้าไม่นับการสืบทอดบัลลังก์แบบรุ่นต่อรุ่นใน Black Panther และไม่นับมรดกโครงสร้างงาน Stark Expo ที่ ฮาเวิร์ด สตาร์ก ทิ้งไว้กับ โทนี สตาร์ก การที่ แฮงก์ พิม มอบชุดสูทมนุษย์มดและสอนวิธีใช้เบื้องต้นให้กับ สกอตต์ แลง คือครั้งแรกที่ซูเปอร์ฮีโร่ 2 รุ่น ได้ร่วมงานกันอย่างเป็นทางการ
และยิ่งในภาคนี้มีการขยายไปถึงซูเปอร์ฮีโร่สาวเดอะ วอสพ์ทั้งสองรุ่น ก็ยิ่งทำให้จุดแข็งของ Ant-Man & The Wasp น่าสนใจมากขึ้นไปอีก การได้เห็นนักวิทยาศาสตร์ 2 นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ (แฮงก์ พิม คือ 1 ใน 9 ตัว ที่ฉลาดที่สุดในจักรวาลมาร์เวล ส่วนเจเน็ตมีโอกาสเป็นไปได้ว่าหลังจากติดอยู่ในมิติควอนตัมนาน 30 ปี เธออาจจะ ‘วิวัฒน์’ ตัวเองจนเหนือกว่าสามีไปแล้ว) คอยวางแผนและร่วมมือกับรุ่นสองที่ปราดเปรื่องและคล่องแคล่ว ทำให้เราแอบรู้สึกว่าทีม ‘ฮีโร่จิ๋ว’ แก๊งนี้มีความสามารถน่ากลัวไม่แพ้ซูเปอร์ฮีโร่แก๊งอื่นๆ เลยทีเดียว
โดยเฉพาะการที่หนังเทน้ำหนักมาที่เดอะ วอสพ์ จนแอนต์แมนแทบจะมีบทบาทเป็นตัวประกอบ อีแวนเจลีน ลิลลี่ ก็ทำหน้าที่ซูเปอร์ฮีโร่สาวได้อย่างสมบูรณ์ เธออาจจะไม่ได้สวย ดุ เซ็กซี่ เหมือนกับ สการ์เล็ต โจแฮนสัน ในบทแบล็ก วิโดว์ และไม่ได้ดูลึกลับน่าค้นหา เหมือนเอลิซาเบธ โอลเซน ในบท สการ์เล็ต วิชต์ แต่ความตลก ขี้เล่น และยิ้มเก่ง ก็ทำให้เราตกหลุมรักเธอได้ง่ายๆ เหมือนกัน
ไม่ใช่แค่เสน่ห์ของตัวละครเท่านั้นที่เดอะ วอสพ์ทำได้ดี เพราะถ้าพูดถึงภาคแรก เนื่องจาก สกอตต์ แลง เพิ่งได้รับชุดสูท และรู้จักพลังย่อส่วนของอนุภาคพิมเพียงระดับเริ่มต้น ทำให้เขายังไม่สามารถรีดศักยภาพของทั้งสองอย่างออกมาได้อย่างเต็มที่ ผิดกับเดอะ วอสพ์ที่คุ้นเคยกับพลังเป็นอย่างดี ทำให้เธอช่วยยกระดับความสามารถในการต่อสู้ให้กับชุดสูทและอนุภาคพิมว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในสงครามครั้งต่อไปได้อย่างแน่นอน
ส่วน พอล รัดด์ ที่ถึงบทบาทจะดูดรอปลงจากภาคแรก แต่เมื่อถึงเวลาแสดงฝีมืออย่างฉากในห้องแล็บ ที่ต้องแสดงสีหน้าและน้ำเสียงแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน เขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกรอยยิ้มจากคนดูและเพิ่มความน่ารักให้กับตัวละครนี้ได้เป็นกอง
ตัวประกอบดีเด่นแห่งจักรวาลมาร์เวล
สำหรับคนที่ดูภาคแรกมาก่อนเชื่อว่าต้องจำลีลาการแรปเล่าเรื่องย้อนที่มายาวเหยียดของลูอิส (รับบทโดยไมเคิล พีนา) ตัวขโมยซีนเพื่อนซี้ของ สกอตต์ แลง ได้เป็นอย่างดี คราวนี้เขามาพร้อมมุกใหม่ ‘เซรุ่มสัจจะ’ มุกคลิเชที่บางเรื่องเอามาใช้เป็นกิมมิกสั้นๆ เพื่อเค้นความจริง แต่คงไม่ต้องอธิบายว่าพอยาตัวนี้ถูกฉีดเข้าไปในตัวลูอิส ความน่าปวดหัวจะเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน และเรายกให้ฉากพูดความจริงของเขาเป็นหนึ่งในฉากที่เราชอบมากที่สุดในภาคนี้ไปเลย ไปจนถึงการขยี้ตอนจบด้วยการให้ ซันนี่ เบิร์ช (รับบทโดยวอลตัน ก็อกกินส์) ตัวประกอบฝั่งผู้ร้ายโดนเล่นงานคืนด้วยเซรุ่มสัจจะ ก็เป็นจุดจบที่น่ารักของเรื่องเหมือนกัน
รวมทั้งเดฟ (รับบทโดยที. ไอ. แฮริส) และเคิร์ท (รับบทโดยเดวิด ดาสต์มอลเชน) เพื่อนร่วมบริษัทของสกอตต์และลูอิส ที่มาพร้อมกับมุกผีบาบายากา และตำรวจหน้านิ่ง จิมมี่ วู (รับบทโดยแรนดอลล์ ปาร์ก) ที่เปิดตัวด้วยฉากพยายามอธิบายความผิดของสกอตต์ให้ลูกสาวฟัง ก็เป็นตลกหน้าตายที่โผล่มาสร้างสีสันให้กับเรื่องได้อยู่หลายจังหวะ
ทำให้ถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆ ในจักรวาลมาร์เวล Ant-Man & The Wasp คือเรื่องที่ให้พื้นที่กับบรรดาตัวประกอบรายล้อมมากกว่าเรื่องอื่นๆ (เพราะเส้นเรื่องเอื้อให้อธิบายถึงคนรอบข้างอยู่แล้ว) และทำให้ตัวละครแทบทุกตัวมีเสน่ห์ น่าจดจำ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้มีส่วนกับสงครามครั้งต่อๆ ไปก็ตาม
ความเชื่อมโยงกับสงครามครั้งสำคัญใน Avengers 4
ถึงแม้ว่าเส้นเรื่องหลักของ Ant-Man & The Wasp จะไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม Infinity Wars แม้แต่นิดเดียว แต่จากการให้สัมภาษณ์ของ เควิน ไฟกี ว่าภาคนี้จะเชื่อมโยงกับ Avengers 4 โดยตรง และตัวละครบางส่วนจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต ประกอบกับฉากในเอนด์เครดิตตัวแรก ที่ทำให้ทุกคนในโรงภาพยนตร์ส่งเสียงอื้ออึงออกมาพร้อมกัน ก็ช่วยยืนยันได้ว่าภาคนี้จะประตูบานสำคัญในการปูเรื่องเข้าสู่สงครามใหญ่ครั้งต่อไปอย่างแน่นอน
ถึงแม้ตัวหนังจะไม่ได้บอกแบบเฉพาะเจาะจงว่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไร แต่ถ้าดูจากภารกิจหลักที่เกี่ยวกับการเดินทางตามหา เจเน็ต แวน ไดน์ ในมิติควอนตัมที่เต็มไปด้วยพลังงานบริสุทธิ์ และเป็นโลกที่กาลเวลาและความเป็นจริงใดๆ ล้วนไม่มีผล รวมทั้งการที่พลังงานในมิติควอนตัมส่งผลต่อการ ‘วิวัฒน์’ ความสามารถของตัวร้ายอย่างโกสต์ (มีโอกาสที่จะมีบทบาทในภาคต่อไป) และเจเน็ตให้มีความสามารถขึ้นไปอีกระดับ ก็พอจะเดาได้ว่าคีย์เวิร์ดสำคัญในสงครามครั้งต่อไปย่อมหนีไม่พ้นการใช้พลังงานในมิติควอนตัมให้เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน
และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เทียบกับฉากจบในเรื่องเท่ากับว่า สกอตต์ แลง จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากๆ ใน Avengers 4 และลบคำสบประสาทจากคนทั้งโลกที่ออกมาต่อว่าหลังจากไม่ยอมมาช่วยเพื่อนพ้องซูเปอร์ฮีโร่ Infinity War ได้แน่นอน
อาจเข้าใจยากไปบ้าง สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนคอมมิกของมาร์เวล
ถ้าไม่นับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่พอมองข้ามไปได้ ปัญหาเพียงอย่างเดียวที่เรารู้สึกได้จาก Ant-Man & The Wasp คือการที่มิติควอนตัมซับซ้อนและยากต่อการอธิบายเกินไป และการที่ตัวหนังก็ไม่มีเวลาสำหรับการอธิบายมากเท่าไร ทำให้คนที่ไม่เคยมีพื้นฐานเรื่องมิติควอนตัมจากฉบับคอมมิกมาก่อน ยังงงๆ กับคุณสมบัติและความสำคัญของพลังนี้อยู่อีกหลายส่วน
ซึ่งถ้าเรามีความเข้าใจในความซับซ้อนของมิติควอนตัมมากกว่านี้ เราน่าจะสนุกกับการจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในการใช้พลังนี้ต่อสู้กับธานอสก่อนที่สงครามครั้งต่อไปจะเริ่มต้นได้อีกมากทีเดียว