×

Ant Group ของ แจ็ค หม่า ฟินเทค IPO ใหญ่สุดในโลก กระทบเราอย่างไร

30.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • Alipay เกิดขึ้นครั้งแรกปี 2004 เพื่อเป็นเครื่องมือทำธุรกรรมซื้อ-ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Alibaba ช่วยให้พลเมืองจีนซื้อขายสินค้าได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะการคลายความกังวลประเด็นการถูกโกงจากผู้ขาย
  • ปัจจุบันแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมของ Ant Group โดยเฉพาะ Alipay และพาร์ตเนอร์ e-Wallet ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีผู้ใช้งานสูงกว่า 1,300 ล้านราย มีมูลค่าการทำธุรกรรมรวม 17.6 ล้านล้านดอลลาร์
  • การเทรดในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ของ Ant Group สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ​ และจีนได้เป็นอย่างดี โดยในเชิงภาพรวม CNN เชื่อว่าในอนาคตเราน่าจะได้เห็นบริษัทจีนหลายแห่งเจริญรอยตามพวกเขา

หนึ่งในประเด็นร้อนโลกธุรกิจที่สื่อหลายสำนักทั่วโลกต่างจับตาและให้ความสนใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากเป็นพิเศษนอกเหนือจากโค้งสุดท้ายเวทีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 ย่อมหนีไม่พ้นกรณีการเตรียมยื่นจดทะเบียนในสองตลาดหลักทรัพย์ทั้งฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบบ Dual Listing ของ ‘Ant Group’ บริษัทฟินเทคจากประเทศจีน

 

โดยมีการคาดการณ์กันเอาไว้ว่า การเข้า IPO ในครั้งนี้ของพวกเขาจะมีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ราว 34,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างบริษัท Saudi Aramco บริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมครบวงจรจากซาอุดีอาระเบียที่เพิ่ง IPO ในปีที่แล้วไปด้วยมูลค่า 29,400 ล้านดอลลาร์ไปแบบไม่เห็นฝุ่น

 

ไม่ใช่แค่ ‘มูลค่า’ และเม็ดเงินเท่านั้นที่ทำให้การ IPO ของ Ant Group ปลุกกระแสความตื่นตัวให้กับบรรดานักลงทุนและผู้คร่ำหวอดในวงการมากเป็นพิเศษ เพราะการพาบริษัทเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แบบคู่ขนานในครั้งนี้ของพวกเขายังมีมิติความน่าสนใจที่มากไปกว่านั้น

 

THE STANDARD ชวนคุณมาเขย่ารังมดเงินดิจิทัลจากจีนแห่งนี้ไปด้วยกัน ว่าเพราะอะไรการ IPO ของ Ant Group จึงส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าแค่การขึ้นเป็นบริษัทยืนหนึ่ง IPO สูงสุดในโลก

 

 

Ant Group เป็นใคร เกี่ยวอะไรกับ Alipay และ Alibaba ทำไมถึงมีจำนวนการทำธุรกรรมแซง Visa และ Mastercard

ย้อนกลับไปในปี 2004 หรือราว 16 ปีที่แล้ว ‘Alipay’ หรือช่องทางการทำธุรกรรมออนไลน์สัญชาติจีนได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้การพัฒนาโดย Alibaba Group แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน และ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทวัย 56 ปี 

 

เดิมทีจุดประสงค์การถือกำเนิดของ Alipay คือการเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือทำธุรกรรมออนไลน์ซื้อ-ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Alibaba ช่วยให้พลเมืองในประเทศจีนที่อาจจะไม่มีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเองสามารถซื้อขายสินค้าได้อย่างสะดวกมากขึ้น คลายความกังวลเรื่องการถูกโกงจากผู้ขาย

 

แน่นอนว่าเมื่อบริษัทใหญ่ขึ้น Alipay จึงไม่ได้เป็นแค่หน่วยธุรกิจย่อยของ Alibaba อีกต่อไป โดยในปี 2014 หรืออีก 10 ปีให้หลัง พวกเขาจะรีแบรนด์บริษัทเป็น Ant Financial มุ่งเน้นให้บริการพลเมืองในประเทศจีนให้สามารถทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างสะดวกสบาย ไร้ข้อจำกัด เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างหลากหลายด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำข้อมูลจำนวนมหาศาลมาประมวลผลเพื่อปล่อยสินเชื่อรายย่อย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ‘Ant Group’ ในปี 2020 นี้เอง

 

ปัจจุบันแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมของ Ant Group โดยเฉพาะ Alipay และพาร์ตเนอร์ e-Wallet ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีผู้ใช้งานสูงกว่า 1,300 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (เฉพาะ Alipay มีผู้ใช้งานทั้งปี 1,000 ล้านราย MAU 711 ล้านราย) และยังมีผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมทางการเงินอีกมากที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เช่น 

 

  • Yu’e Bao แพลตฟอร์มจัดการ-ซื้อกองทุน 
  • Huabei บริการสินเชื่อรายย่อยสำหรับใช้ซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค
  • Xiang Hu Bao แพลตฟอร์มที่นำบล็อกเชนเข้ามาช่วยดูแลจัดการประกันสุขภาพ
  • MYbank ธนาคารออนไลน์ที่ดำเนินธุรกิจกับกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจขนาดกลางและเล็กโดยเฉ​พาะ
  • Zhima Credit บริการประเมินสินเชื่ออิสระเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์

 

โดยเมื่อจำแนกรายได้ของ Ant Group ในครึ่งปีแรก 2020 ที่ผ่านมาจะอยู่ที่ 72,528 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.34 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 38% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 21,923 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนราว 30.2% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท (รายได้บริษัท 95% ยังมาจากจีนเป็นหลัก)

 

ข้อมูลที่น่าสนใจที่เปิดเผยโดย New York Times ยังพบอีกด้วยว่า ในช่วงเทศกาลคนโสด​ (มหกรรมช้อปปิ้งแห่งปีของจีน) เมื่อวันที่ 11 เดือน 11 ในปีที่แล้ว Ant Group มีจำนวนการทำธุรกรรมที่พวกเขาต้องดูแลในช่วงพีกไทม์สูงกว่า 459,000 ครั้งต่อวินาที ขณะที่ Visa ตัวแทนการทำธุรกรรมระดับโลกระบุว่า พวกเขาสามารถจัดการการทำธุรกรรมได้สูงสุดที่ 65,000 ครั้งต่อวินาที (ข้อมูลล่าสุดปี 2017: https://usa.visa.com/dam/VCOM/download/corporate/media/visanet-technology/aboutvisafactsheet.pdf) สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกรรมของ Ant Group ได้เป็นอย่างดี

 

ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับตัวแทนชำระเงินระดับโลกอย่าง PayPal จะพบว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2019 ถึง มิถุนายน 2020) Ant Group ดูแลธุรกรรมดิจิทัลที่ผ่านเข้าแพลตฟอร์มของพวกเขามากกว่า 17 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่า PayPal ที่มีมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม 712,000 ล้านดอลลาร์

 

ภาพ: medium 

 

ซึ่งจากการเปิดเผยโดย Medium ยังพบอีกด้วยว่า มูลค่าการทำธุรกรรมผ่าน Alipay ที่ 17.6 ล้านล้านดอลลาร์นั้นมีปริมาณที่สูงพอๆ กับมูลค่าการทำธุรกรรมที่ Visa และ Mastercard มีรวมกันที่ราว 18.2 ล้านล้านดอลลาร์​ (หมายเหตุ: ข้อมูลในเว็บไซต์ Medium ระบุว่า Visa ดูแลธุรกรรมมูลค่ากว่า 11.3 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วน Mastercard ดูแลธุรกรรมมูลค่ารวมกว่า 6.9 ล้านล้านดอลลาร์)

 

ส่วนเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะในประเทศจีน ปัจจุบัน Alipay ครองส่วนแบ่งในตลาดการทำธุรกรรมบนมือถือในสัดส่วน 55% หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่คู่แข่งในตลาดเดียวกันอย่าง WeChat Pay และ QQ Wallet โดย Tencent ครองส่วนแบ่งในสัดส่วน 40% อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องจับตาก็คือ หากรัฐบาลจีนประกาศใช้สกุลเงิน ‘ดิจิทัลหยวน’ ออกมา สถานการณ์การแข่งขันในตลาดนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้ Xiaomeng Lu นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Eurasia Group ให้ความเห็นที่น่าสนใจกับ CNN ว่า Ant Group จะได้รับประโยชน์จากแผนยุทธศาตร์ชาติจีน 5 ปีที่จะนำเทคโนโลยีมาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

 

“Ant ถูกมองในฐานะ ‘เทคโนโลยีแชมเปียนของชาติจีน’ พวกเขาได้ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลทั้งใน AI และบล็อกเชน” Xiaomeng กล่าว 

 

 

ว่าที่ IPO ที่ ‘ใหญ่ที่สุดในโลก’ เตรียมขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าแซงหน้าสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่ง

สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO แบบเข้าจดทะเบียนในสองตลาด หรือ Dual Listing ในครั้งนี้ของ Ant Group จะเสนอขายหุ้นรวม 1.67 พันล้านหุ้นต่อแห่ง โดยเข้าเทรดในสองตลาดด้วยกันคือ ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange) ที่ 80 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1.33 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 1.72 แสนล้านดอลลาร์

 

และตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Star Market) ที่ 68.8 หยวนต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1.14 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

นั่นหมายความว่าการ IPO ครั้งนี้ของ Ant Group จะส่งผลให้มูลค่าของบริษัททะยานขึ้นไปสูงกว่า 310,000 ล้านดอลลาร์ ขึ้นแท่นเป็นบริษัทฟินเทคที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก โดยมีมูลค่าบริษัทมากกว่าสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะ JPMorgan Chase & Co (306,000 ล้านดอลลาร์), Bank of America Corp (210,000 ล้านดอลลาร์) และ PayPal (231,000 ล้านดอลลาร์)

 

โดยมีสถานะเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงินในลำดับที่ 4 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ Mastercard (316,000 ล้านดอลลาร์), Visa (407,000 ล้านดอลลาร์) และ Berkshire Hathaway (481,000 ล้านดอลลาร์)

 

(หมายเหตุ: ข้อมูลมูลค่าบริษัทล่าสุดอ้างอิงจาก Matketwatch จนถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2020 ยกเว้นมูลค่าบริษัทของ Berkshire Hathaway ที่นับจนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2020)

 

ทั้งนี้กำหนดการ IPO ในตลาดหุ้นฮ่องกงของ Ant Group จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ส่วนในเซี่ยงไฮ้ยังไม่มีกำหนดการในการเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ชัดเจน (Alibaba ตั้งเป้าจะเข้าซื้อหุ้นของ Ant Group เพื่อถือครองสิทธิการออกเสียงและการดูแลบริษัทในสัดส่วน 32% ส่วน แจ็ค หม่า ถือในสัดส่วน 8.8%)

 

 

ทำไม IPO ของ Ant Group ถึงน่าสนใจขนาดนั้น?

ไม่ใช่แค่ในเชิงตัวเลขเงินๆ ทองๆ มูลค่าการ IPO ที่สูงลิ่วเพียงอย่างเดียวที่ทำให้การเทรดของ Ant Group ในคร้ังนี้น่าสนใจ เพราะถ้าเรายังจำกันได้ ครั้งหนึ่งที่ Alibaba ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นการ IPO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกที่ 25,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 พวกเขาเลือก ‘ตลาดหุ้นสหรัฐฯ’ เป็นหมุดหมายปลายทางในการ IPO

 

ขณะที่การ IPO ในครั้งนี้ของ Ant Group กลับเลือกตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แทน ซึ่งในอีกนัยหนึ่งนักวิเคราะห์มองว่า การเปลี่ยนฐานทัพการ IPO ในครั้งนี้มีเบื้องหลังมาจากความขัดแย้งในสถานการณ์ความตึงเครียดที่มีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

 

ด้าน Brock Silvers หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนจาก Kaiyuan Capital มองว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มออกมาตรการที่เข้มงวดกับบริษัทเทคโนโลยีตัวท็อปจากจีน เช่น Huawei, TikTok หรือ WeChat ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนให้กับบริษัทจากจีนที่เล็งจะเข้ามาเทรดในตลาดหุ้น Wall Street 

 

 

ซึ่งเหตุผลหลักที่ Ant Group เลือกย้ายฐานทัพการลงทุนของตัวเองมาที่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงมากกว่าจะเดินตามรอย Alibaba ไป Wall Street ก็เพราะมองเห็นการสร้างประโยชน์ในระยะยาวให้กลับเข้าสู่ประเทศจีนแทนที่จะเป็นสหรัฐฯ จากประเด็นสงครามการค้าทางเทคโนโลยีและความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้นนั่นเอง

 

ผลที่ตามมาจากการที่ Ant Group เข้าเทรดในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ด้วยมูลค่าเงินลงทุนที่สูงมหาศาลเช่นนี้ ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของตลาดหุ้นจีนที่นักลงทุนเคยมองเปลี่ยนไปในเชิงบวกอีกด้วย และน่าจะสร้างแรงดึงดูดต่อนักลงทุนในอนาคตได้อีกมหาศาลโดยไม่ต้องง้อสหรัฐฯ อีกต่อไป

 

และในอนาคตเราน่าจะได้เห็นภาพที่บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนหลายแห่งไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ อีกต่อไป โดยเฉพาะในวันที่ตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้สามารถสร้างแรงดึงดูดเย้ายวนใจให้กับเหล่านักลงทุนได้มหาศาล

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X