×

รวมคำตอบปมร้อน ‘ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4’ ทำเพื่อประชาชนหรือนายทุน?

โดย THE STANDARD TEAM
09.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (9 มกราคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จัดแถลงข่าวตอบประเด็นที่สังคมสงสัยว่า ‘ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4’ เป็นการจัดทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือกลุ่มนายทุน

 

โดยสืบเนื่องมาจากการประชุมรับฟังความคิดเห็น และปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ซึ่งภาพรวมความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปในทิศทางที่ ‘ไม่เห็นด้วย’

 

ทำไมต้องมีแผนปรับปรุงครั้งที่ 4?

 

วิศณุกล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ใช้ผังเมืองรวมฯ ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2556 เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ตามปกติการปรับปรุงผังเมืองจะต้องปรับเปลี่ยนทุก 5 ปี แต่ด้วยปี 2562 มี พ.ร.บ.ผังเมืองฯ ตัวใหม่ออกมา ที่กำหนดว่าต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่มี 4 แผนผัง (แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน, แผนผังแสดงที่โล่ง, แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง, แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ)

 

โดยกฎหมายใหม่บังคับให้มีเพิ่มอีก 2 ผัง (แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, แผนผังแสดงผังน้ำ) ต่อมาในปี 2564 กทม. จึงดำเนินการทำร่างผังเมืองใหม่ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ขึ้น

 

ผังรวมเมืองฯ นี้ประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย วิศณุกล่าวว่า ผลตอบรับจากการจัดประชุมภาคประชาชน ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีการตื่นตัวในเรื่องของผังเมือง ส่วนทำไมเราต้องมีการทบทวนผังเมืองทุก 5 ปี นั่นก็เพราะเมืองมีการพัฒนา มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป 

 

ที่ผ่านมา กทม. เปิดรับฟังความเห็นประชาชนไม่มากพอ?

 

ชูขวัญกล่าวว่า ตามกฎหมายจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนทำร่าง 1 ครั้ง ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้มีการจัดประชุมภาคประชาชนไป 5 ครั้ง ผู้เข้าร่วมประมาณ 1,400 คน 

  • จัดประชุมครั้งแรกในกลุ่มปริมณฑล ช่วงเดือนเมษายน 2561 
  • จัดประชุมรายผัง คือการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติฯ เดือนมิถุนายน
  • จัดประชุมด้านคมนาคมขนส่ง เดือนมิถุนายน
  • จัดประชุมเรื่องผังน้ำ ผังที่โล่ง เดือนมิถุนายน
  • จัดประชุมภาพรวมใหญ่กับประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ประกอบการ 500 คน เดือนกรกฎาคม

 

โดยทุกครั้งที่มีการจัดประชุมจะมีทั้งรูปแบบออนไลน์และออนไลน์ ซึ่งหลังมีร่างผังเมืองฯ เข้าสู่กระบวนการปิดประกาศ 15 วัน ตามกฎหมายบังคับว่าต้องจัดประชุมไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ทางคณะกรรมการฯ จัดทั้งหมด 7 ครั้ง เป็นการจัดในรายกลุ่มเขต 6 กลุ่มเขต ได้แก่

  • 23 ธันวาคม 2566 กลุ่มเขตตะวันออก กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง และกลุ่มเขตกรุงเทพใต้
  • 24 ธันวาคม กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กรุงธนบุรีเหนือ และกรุงธนบุรีใต้

 

และมีการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ที่เป็นการประชุมรวมทั้ง 50 เขต

 

วิศณุกล่าวเสริมว่า หลังจากนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมฯ จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นประชาชน ทั้งจากการจัดประชุม และที่ส่งมาทางออนไลน์เพื่อประมวลความเห็นส่งต่อให้อีก 3 ส่วนคือ คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด กรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงมหาดไทย

 

ทั้งนี้ กทม. รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นเพียงคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ไม่ได้เป็นคณะกรรมการผังเมืองเหมือนในจังหวัดอื่น

 

พื้นที่สีแดงที่ ‘เพิ่มขึ้น-มีอยู่’ อย่างเฉพาะเจาะจงในผังเมืองเพื่อนายทุนหรือไม่

 

พื้นที่สีแดงในผังเมืองคือ พื้นที่พาณิชยกรรม ที่ตั้งศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ นันทนาการ เป็นพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเพื่อการเติบโตของเมืองสูงสุด

 

นพนันท์อธิบายว่า หลักการแบ่งประเภทที่ดินหรือการจัดวางพื้นที่จะต้องพิจารณาจากรูปแบบการอาศัยอยู่ของประชากร อัตราการจ้างงาน จำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นว่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งการเปลี่ยนประเภทการใช้ประโยชน์ของที่ดิน (สีพื้นที่ในผังเมือง) ก็คือการสะท้อนว่าพื้นที่นั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการเติบโตภาครัฐก็ต้องเตรียมพื้นที่ในการรองรับ

 

กรณีแดงเดียว (พื้นที่พาณิชยกรรมจุดเดียวท่ามกลางพื้นที่อยู่อาศัยปกติ) นพนันท์ระบุว่า เราใช้ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) มาช่วยวิเคราะห์ เนื่องจากทุกวันนี้เรามีการพูดถึงระบบโครงสร้างของเมืองที่จะมีการปรับจากรูปแบบศูนย์กลางเดียวใน 1 เมือง ที่ทำให้ประชาชนต้องเดินทางจากชานเมืองเข้ามาส่วนกลางเพื่อหางานทำ ผลคือเมื่อเมืองขยายไปเรื่อยๆ การมีศูนย์กลางเดียวจะก่อให้เกิดปัญหา เช่น การจราจรติดขัด

 

ฉะนั้นการกระจายพื้นที่พาณิชยกรรม เหมือนการสร้างหลายศูนย์กลางในเมือง เป็นการบริหารอุปสงค์ อุปทาน ลดการเดินทาง คนในเมืองเกิดการวางระบบ มีการกระจายตัว ตัวอย่างที่ทำแล้ว เช่น เขตมีนบุรี ที่มีการคมนาคมเข้าถึง

 

วิศณุกล่าวเสริมว่า หลักการจัดพื้นที่พาณิชยกรรม กทม. ยืนยันได้ว่าไม่ได้เลือกกลุ่มทุนเป็นที่ตั้ง แต่เอาปัญหาสาธารณะเป็นหลัก แต่ด้วยกรุงเทพฯ ไม่ได้มีที่ดินใหม่ ฉะนั้นแล้วหากที่ดินของคุณได้รับจัดสรรประเภทที่ดินให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น คุณเองก็ต้องแบ่งพื้นที่ให้สาธารณะใช้เพิ่มขึ้นด้วย 

 

สรุปคือ สิทธิที่คุณได้รับจากการปรับผังที่ดิน สุดท้ายแล้วพื้นที่ที่ได้เพิ่มจะถูกใช้เพื่อสาธารณะ 

 

ในส่วน กทม. ผังเมืองใหม่ที่พยายามแก้ฉบับนี้จะนำมาแก้ไขเรื่องทางเท้าแคบเพราะมีตีนสะพานลอย หรือมีหม้อแปลงไฟฟ้า จากนี้เป็นไปได้ว่าตีนสะพานลอย หรือหม้อแปลงไฟฟ้าเหล่านั้นจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เอกชนแทน เพิ่มพื้นที่สาธารณะ

 

พื้นที่แดงล้อมรอบสนามกอล์ฟเขตหลักสี่ นพนันท์ระบุเพียงว่า เป็นลักษณะเช่นนี้ตั้งแต่ผังรวมเมืองฯ ปรับปรุงครั้งที่ 1

 

การตัดผ่านถนนใหม่-เพิ่มความกว้างถนน เวนคืนบ้านเรือนประชาชน

 

วิศณุกล่าวว่า ความกังวลในส่วนนี้ถือเป็นส่วนรายละเอียดลึกขึ้น การที่ผังรวมเมืองเพิ่มเติมเรื่องถนนเข้าไป เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาว่ากระทบที่ดินของตนเองอย่างไร และมีสิทธิที่จะโต้แย้งและทักท้วงกลับมา 

 

ฉะนั้น ข้อกังวลที่ว่าบ้านของตนเองจะถูกเวนคืนนั้น ขอให้เข้าใจว่าสามารถโต้แย้งได้ ส่วนบ้านที่จะสร้างใหม่หากเป็นไปตามผังเมืองที่จัดทำขึ้นนี้ ก็ต้องเว้นระยะจากถนนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความแออัดให้เมืองได้มากเพราะถนนกว้างขึ้น

 

อนาคตโครงการฟลัดเวย์ พื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก

 

นพนันท์กล่าวว่า แนวฟลัดเวย์ตะวันออกที่ผ่านมาถูกใช้เป็นพื้นที่ระบายน้ำจริง แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พื้นที่ทางใต้ของฟลัดเวย์คือสนามบินสุวรรณภูมิ ตามรายงานมหาวิทยาลัยประเทศอังกฤษ ระบุว่าสุวรรณภูมิเป็นสนามบินที่มีความเสี่ยงเกิดอุทกภัยอันดับ 1 ของโลก ฉะนั้นแล้วผังเมืองฉบับปรับปรุงล่าสุดนี้จะต้องมีการพิจารณาว่าจากนี้กรุงเทพฯ จะต้องระบายน้ำอย่างไร

 

ปัจจุบันคลองในกรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ ระบายน้ำผ่านจังหวัดสมุทรปราการไม่ได้ จึงต้องผันน้ำระยะทางที่ไกลมาก (ผ่านคลองไปแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล) ทำให้ต้องศึกษาการปรับระบบระบายน้ำต่อไป

 

ฟลัดเวย์นี้เราจะเริ่มปรับลดพื้นที่ คืนพื้นที่ให้ประชาชน ตลอด 20 ปีของโครงการนี้ถือว่าคุ้มทุนแล้ว

 

ผังรวมเมืองฯ ปรับปรุงใหม่จะแล้วเสร็จปี 2568 หรือไม่

 

วิศณุกล่าวว่า จะใช่ปี 2568 หรือไม่ ส่วนนี้เป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจของ กทม. เพราะ กทม. เป็นเพียงกรรมการที่ปรึกษาฯ ที่ต้องส่งไปที่กรมโยธาธิการฯ และ กระทรวงมหาดไทย 

 

เราคงไม่สามารถควบคุมเวลาได้ แต่ถ้าดูจากในอดีตการปรับปรุงแต่ละครั้งจะใช้เวลาที่ 2 ปี

 

ช่องทางการแสดงความคิดเห็นต่อผังรวมเมืองฯ

 

เมื่อถามว่าจะมีการขยายระยะเวลาให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้หรือไม่ เพราะจากการประชุมล่าสุด ส่วนมากยังไม่เห็นด้วยกับร่างผังรวมเมืองฯ นี้

 

วิศณุกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะขยายระยะเวลา จากเดิมที่จะปิดรับฟังความเห็นวันที่ 22 มกราคม 2567 ส่วนตัวคาดว่าจะมีการขยายเวลาออกไปอาจถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ กทม. ขอหารืออีกครั้ง และยืนยันว่าพร้อมที่จะรับฟังทุกปัญหา

 

ในส่วนของช่องทางการแสดงความคิดเห็น ได้แก่ 

  • ยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองต่อเจ้าหน้าที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง หรือส่งทางไปรษณีย์ไปที่ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400 
  • ยื่นทางเว็บไซต์ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร https://webportal.bangkok.go.th/cpud  
  • ยื่นทางเว็บไซต์โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร https://plan4bangkok.com โทรศัพท์ 0 2354 1275

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X