90 ปีที่เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยได้ถูกเพาะลงในประเทศไทย โดยคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เรื่องราวในอดีตถูกเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น จากปากต่อปาก จากหนังสือเรียน แต่หน้าประวัติศาสตร์ 2475 กลับเลือนรางไปกาลเวลา
THE STANDARD พูดคุย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ถึงเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามเมื่อปี 2475 ประวัติศาสตร์การเมือง และบาดแผลที่บางคนไม่อยากเล่า แต่เราเจ็บ จนไม่อาจลืม
การศึกษาสร้าง 2475 ให้เป็นตัวร้ายในหน้าประวัติศาสตร์
อานนท์เล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวในรั้วการศึกษาไทยว่า เนื้อหาในวิชาประวัติศาสตร์มักจะเห็นความพยายามของรัฐในการเขียนให้คณะราษฎรและ 2475 เป็นตัวร้ายด้วยวาทกรรม ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ หากไม่หาอ่านด้วยตัวเองก็จะไม่ทราบอะไรมากนัก จนกระทั่งตนศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย วิชาเอกประวัติศาสตร์ ก็พบว่าเนื้อหาของ 2475 นั้นถูกจัดให้เป็นวิชาเสรีที่ต้องเลือกเรียนเอง ในขณะที่หลักสูตรบังคับให้เขาต้องเรียนเรื่องราวเมื่อร้อยเมื่อพันปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวกว่า
เมื่อพิพิธภัณฑ์คือผู้รักษาประวัติศาสตร์ ครั้นมรดกคณะราษฎรสูญหาย พิพิธภัณฑ์ทำอะไรอยู่
แม้ทางกรมศิลปากรเคยออกมาชี้แจงแล้วว่า หมุดคณะราษฎรที่หายไปไม่ได้อยู่ในหน้าที่การดูแลของตน เพราะหมุดดังกล่าวไม่ใช่โบราณวัตถุ แต่อานนท์คัดค้านว่า แม้จะไม่ใช่โบราณวัตถุ แต่หมุดมีนัยสำคัญต่อประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรมีหน้าที่ทวงถามและติดตามของที่หายไป ไม่ใช่ผลักความรับผิดชอบให้พ้นตัว
“หมุดคณะราษฎรที่หายไป อย่างน้อยคุณ (กรมศิลปากร) ต้องเป็นคนทวงถามกับรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีอนุสาวรีย์ปราบกบฏ อันนั้นแม้จะยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่ถือเป็นโบราณสถานตามนิยามกฎหมายแล้ว อันนั้นคุณมีสิทธิตั้งคำถามเต็มที่เลย จะถามกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถามใครก็ได้ว่าใครย้าย อย่างน้อยมีแอ็กชันหน่อยเถอะ”
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นบริเวณวงเวียนหลักสี่ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช แต่ในปี 2553 กรมทางหลวงมีโครงการสร้างสะพานลอยบริเวณวงเวียน ซึ่งอาจต้องย้ายอนุสาวรีย์ออก แต่ถูกกลุ่มประชาชนและนักโบราณคดีคัดค้าน และทางกรมศิลปากรเองก็ไม่มีความคิดที่จะย้ายอนุสาวรีย์ดังกล่าว จนในปี 2561 อนุสาวรีย์ดังกล่าวได้หายไปโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าถูกนำไปไว้ที่ไหน
อานนท์เผยว่า ทางกรมศิลปากรให้สัมภาษณ์กับสถาบันปรีดี พนมยงค์ เองเลยว่า แม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่ถือว่าเป็นโบราณสถานตามกฎหมายแล้ว แต่กลับไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม หรือสามารถตอบคำถามกับสาธาณะได้ว่ากรมศิลปากรได้ติดตามหรือทำหน้าที่ในการรักษามรดกทางประวัติศาสตร์อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ยิ่งรัฐพยายามจะลบหน้าประวัติศาสตร์มากเท่าไร คนยิ่งผลิตซ้ำ ป่าวประกาศ และตีพิมพ์เรื่องราวที่ถูกลบมากเท่านั้น ในทีแรกหมุดคณะราษฎรมักถูกใช้ในกิจกรรมของวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี พอหลังจากที่หมุดหายไป กลายเป็นว่าสังคมไทยแทบจะพูดเรื่องหมุดคณะราษฎรทุกวัน พร้อมทั้งมีผลิตภัณฑ์อย่างเสื้อผ้า พวงกุญแจ กระเป๋า ฯลฯ แทนที่หมุดจะอยู่ตรงพระบรมรูปทรงม้าแค่ที่เดียว กลับปรากฏขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมไทย
“สิ่งที่เราจะเห็นได้ชัดคือการฝังหมุด ผมเชื่อว่ามันตอกหน้าคนที่ชอบปรามาสว่า เด็กยุคนี้แ-งไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่สนใจรากเหง้าความเป็นไทย…แม้ลวดลายบนหมุดมันอาจจะดูหน่อมแน้ม ดูเป็นตัวการ์ตูน เป็นสามนิ้ว มีก้อนเมฆ แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดเราจะพบว่า คำจารึก คือมันล้อมาจากประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เลย แปลว่ามันมีการส่งต่อ มีการหยิบยืมอุดมการณ์บางอย่างที่คณะราษฎรเคยสถาปนาไว้ ก็จะเห็นได้ว่าการที่มันยิ่งถูกอุ้ม คนยิ่งดึงกลับมาแล้วใช้มันได้อย่างมีพลังมากขึ้น”
แม้ 2475 จะถูกสังคมพูดถึงในวงกว้าง แต่พิพิธภัณฑ์ก็ยังคงจำเป็น
อานนท์กล่าวว่า ถึงแม้พิพิธภัณฑ์สามัญชนจะรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของ 2475 แล้ว ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์แห่งชาติก็จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองการปกครองของประเทศ
“พิพิธภัณฑ์ของรัฐจำเป็นจะต้องมีเรื่องของ 2475 เพราะมันคือเรื่องที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์โดยตรง ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ ไม่ว่าคุณจะเล่าด้วยมิติไหน วิธีการไหน แต่มันต้องมี มันเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่มี 2475 ก็จะไม่มีสิ่งที่เป็นเราอย่างทุกวันนี้”
พิพิธภัณฑ์ ‘แห่งชาติ’ แต่ไร้ซึ่งประชาชนในแง่มุมการเมือง
จากประสบการณ์การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่างจังหวัด อานนท์พบว่า เรื่องราวของประชาชนมักถูกเล่าซ้ำในมิติของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ท้องถิ่น เช่น เครื่องชามรามไห การละเล่น การแต่งกาย ฯลฯ แต่ในมิติการเมืองการปกครองกลับมองเห็นได้ยาก โดยเฉพาะในระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลับเห็นได้ยากในพิพิธภัณฑ์
“ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดือนตุลา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชน แทบจะไม่มีที่ทางเลย ส่วนใหญ่เป็นเอกชน เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สร้างกันเอง แต่ว่ารัฐไม่ได้เป็นหัวหอกในการบันทึก มันเหมือนกับว่ารัฐไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้คือเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่เดือนตุลามันเป็นประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อการเมืองในยุคสมัยนั้น เพราะฉะนั้นคุณจะเล่ามันอย่างไรก็แล้วแต่ คุณควรจะต้องมีบันทึกไว้ในพิพิธภัณฑ์ของรัฐ ในฐานะเหตุการณ์ที่มีผลต่อประเทศชาติ”
อานนท์กล่าวเสริมว่า อย่างน้อยก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ของเอกชนอย่างพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่บันทึกเรื่องราว 2475 มีการทำหมุดคณะราษฎรจำลอง รวมถึงบันทึกของขบวนการกรรมกรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในสมัยก่อน อัตชีวประวัติของเทียนวรรณ เป็นต้น แต่เรื่องราวของประวัติศาสตร์คนในชาติกลับถูกเล่าในมุมของเอกชนเพียงลำพัง จึงกลายมาเป็นข้อกังขาในใจอานนท์ว่า ‘แล้วรัฐทำอะไรอยู่?’
พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชน เพื่อประชาชน
บทบาทสำคัญของพิพิธภัณฑ์สามัญชนคือ การเก็บประวัติศาสตร์จากมุมของประชาชน แม้ว่ารัฐจะไม่นิยามป้ายประท้วงหรือเสื้อที่ถูกสีสาดของผู้ชุมนุมว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ก็ตาม โดยอานนท์ได้ยกตัวอย่างหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ตนชอบมากอย่างป้ายประท้วง ‘ถ้าการเมืองดีแม่กูมีเครื่องล้างจานไปนานแล้ว’ ว่าเป็นหลักฐานที่สะท้อนวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว การเมืองคือชีวิตของพวกเขา ถ้าการเมืองไม่ดี ต่อให้พวกเขาเรียนเก่งแค่ไหนก็จบมาเป็นพนักงานกินเงินเดือนใช้ชีวิตไปวัน ๆ แล้วชีวิตจะดีได้อย่างไร
“ป้ายอันนี้ที่ดูเหมือนไม่มีค่าอะไรเลย แต่สำหรับผมมันคือหลักฐานที่บอกว่า จิตสำนึกแห่งยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ใช่ยุคที่คนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว การเมืองคือเรื่องของผู้ใหญ่ การเมืองเป็นเรื่องคนในสภา แต่การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และในฐานะพลเมืองของประเทศนี้ คุณไม่ได้มีอำนาจแค่ 0.2 วินาทีในคูหาเลือกตั้ง แต่คุณมีอำนาจที่จะลุกขึ้นมาทวงถามได้ทุกเมื่อ”
กำไรของพิพิธภัณฑ์ คือการกล่อมเกลาจิตใจประชาชน
งานของพิพิธภัณฑ์เป็นงานที่มีการกำหนดประเด็น (Agenda) บางอย่างที่ต้องการสื่อสารต่อประชาชน และผู้ออกแบบการสื่อสารประเด็นคือภัณฑารักษ์ (Curator) ที่จะต้องคิดว่าจะจัดวางของอย่างไรให้เรื่องราวนั้นร้อยเรียงกัน และผู้ชมได้รับการกล่อมเกลา อย่างพิพิธภัณฑ์สามัญชนก็มีประเด็นที่อยากจะสื่อสารว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแค่มุมที่ผู้มีอำนาจเป็นคนสร้าง แต่หลายต่อหลายครั้งกลับเริ่มจากเสียงเรียกร้องของคนข้างล่างที่ต้องการเห็นสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลง
“รัฐหรือพิพิธภัณฑ์ของรัฐจะบันทึก นำเสนอในแบบของคุณอย่างไรก็ได้ แต่ประวัติศาสตร์เรา เราก็จะบันทึกในแบบของเรา” อานนท์ย้ำ
เขากล่าวอีกว่า พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่งานที่มีกำไร ด้วยงบประมาณที่ต้องลงทุนไปกับอุปกรณ์เก็บรักษาโบราณวัตถุ แทบทดแทนไม่ได้เลยจากการเก็บค่าเข้าชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ของรัฐที่ต้องจัดเก็บค่าเข้าชมในราคาถูก การหวังถึงกำไรจึงเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งนี้ เนื้อแท้ของพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่การลงทุนที่สร้างมูลค่าด้านการเงิน แต่สร้างมูลค่าทางปัญญาและจิตใจ
“ในขณะที่เด็กเดินดูในพิพิธภัณฑ์มันมี Agenda Setting เพราะฉะนั้นงานที่เรียกว่าภัณฑารักษ์มันจึงสำคัญว่าคุณจะหาวิธีการเล่าเรื่องอย่างไร ดึงอารมณ์ร่วมของคนที่เข้าชมอย่างไร แล้วอารมณ์ร่วมตรงนั้นมันไม่ได้จบแค่การเดิน 20-30 นาทีในพิพิธภัณฑ์ มันฝังในซีรีเบลลัมของคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว เอากลับบ้านไปด้วย ตรงนี้แหละ มันก็จะเป็นการกล่อมเกลาให้พลเมืองที่เข้าชมได้ซึมซับคุณค่าบางอย่าง ซึ่งนั่นคือกำไรของพิพิธภัณฑ์”
ก่อนพิพิธภัณฑ์จะกลายเป็นพื้นที่ถกเถียง รัฐจำเป็นต้องยอมรับประวัติศาสตร์บาดแผลเสียก่อน
บทบาทของพิพิธภัณฑ์นั้นไม่เพียงเล่าเรื่อง แต่ควรสร้างพื้นที่ถกเถียง อานนท์กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ของรัฐควรมีพื้นที่ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์บาดแผล หรือเรื่องการเมืองการปกครองที่ถกเถียงกันได้ คำถามสำคัญคือ รัฐพร้อมที่จะจริงใจต่อประชาชนหรือไม่ รัฐพร้อมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียงหรือเปล่า หากรัฐทำได้ จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องยอมรับการลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชนให้ได้เสียก่อน แม้ปัจจุบันภาคเอกชนจะเริ่มนำเรื่องราวเหล่านี้มาพูดถึงหรือจัดแสดงแล้ว แต่พิพิธภัณฑ์ในกำกับรัฐหรือพิพิธภัณฑ์ที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณเอง ก็ควรเริ่มทำหน้าที่ในตรงจุดนี้เช่นกัน
“รัฐควรจะยอมรับประวัติศาสตร์บาดแผล ในฐานะประวัติศาสตร์แห่งชาติมากกว่านี้หรือเปล่า”
เราต่างเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์
อานนท์ระบุว่า ทุกวันนี้การมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์นั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่อ่านมัน แม้เนื้อหาจะซับซ้อน คลุมเครือ ก็ถูกย่อยให้ง่ายขึ้นโดยนักเล่าเรื่องมือฉมังบนสังคมออนไลน์ แถมยังมีสื่อหลายสำนักพร้อมที่จะเผยแพร่เกร็ดทางประวัติศาสตร์ทุกครั้งในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีมาถึง แต่เขายังเชื้อเชิญให้ทุกคนเป็นมากกว่าผู้สังเกตการณ์ โดยการเริ่มลงมือ ‘เขียน’ ประวัติศาสตร์นี้ด้วยตนเอง
“ในบ้านของทุกคนมีสิ่งของที่วันข้างหน้าจะเปลี่ยนเป็นประวัติศาสตร์ สมมติคุณซื้อเสื้อมาตัวหนึ่งแล้วใส่ไปทุกการชุมนุม หลังจากนั้นอีกสิบปีให้หลังมันก็คือประวัติศาสตร์ เหมือนผมที่เคยได้รับเสื้อจากคนเสื้อแดง
“ทุกคนมีประวัติศาสตร์ส่วนตัวอยู่ในตู้เสื้อผ้า เพียงแต่คุณไม่ได้มองมันในฐานะประวัติศาสตร์ เพียงแค่พลิกวิธีการมอง คุณก็จะเห็นว่าของบางอย่างมันมีค่ามากเกินกว่าที่จะทิ้ง เพราะฉะนั้นถ้าใครมีของที่คิดว่าไม่อยากจะเก็บไว้แล้วมีคุณค่า สามารถส่งมาที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้นะครับ (หัวเราะ)”
อาจไม่ใช่ของเก่าทุกชิ้นที่กลายเป็นของมีค่าในทางประวัติศาสตร์ แต่เมื่อถูกสร้างขึ้นมา มันย่อมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ส่วนตัวของทุกคน เราทุกคนเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองทุกวัน เพียงแต่ว่าประวัติศาสตร์เหล่านั้น เมื่อนำมาลากต่อติดกับคนอื่น มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ชาติหรือเปล่า ก็เป็นสิ่งที่จะต้องดูกันต่อไป
สนับสนุนการทำงานของพิพิธภัณฑ์
- บริจาคของสะสมหรือวัตถุจัดแสดง ติดต่อได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 08 5233 5316, อีเมล [email protected], กล่องข้อความเพจเฟซบุ๊กพิพิธภัณฑ์สามัญชน (@commommuze), กล่องข้อความทวิตเตอร์พิพิธภัณฑ์สามัญชน @commonners และกล่องข้อความอินสตาแกรม Museum of Popular History