×

ศิริกัญญา อัด ประยุทธ์ อย่าอ้าง กม.วินัยคลัง หั่นงบช่วยประชาชน ถ้าไม่กล้าตัดสินใจ นายกฯ ไม่ต้องมีก็ได้

โดย THE STANDARD TEAM
01.06.2021
  • LOADING...
ศิริกัญญา ตันสกุล

เมื่อวานนี้ (31 พฤษภาคม) ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎรในวาระเเรก โดยระบุว่า งบประมาณ 2565 กำลังจะเริ่มในอีก 3 เดือนต่อจากนี้ แต่อนาคตของประเทศยังเหมือนเหรียญที่ลอยอยู่กลางอากาศ ออกหัวหรือออกก้อยได้สองทาง ถ้าเคราะห์ดี ภายในครึ่งปีแรกจะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย สามารถเปิดประเทศและเปิดเมืองได้อีกครั้ง ช่วงครึ่งปีหลังก็จะเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูประเทศจากความบอบช้ำทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญมากว่า 2 ปี

 

“ถ้าเคราะห์ร้าย ตลอดปีหน้าทั้งปี เราจะยังคงวนเวียนอยู่กับวังวนของการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์ การกระจายวัคซีนที่สับสนอลหม่านอาจจะทำให้เรายังไม่สามารถเปิดประเทศและเปิดเมืองได้ ปี 2565 จะเป็นปีแห่งวังวนของวิกฤตหรือเป็นปีแห่งการฟื้นฟูอยู่ที่การพิจารณางบประมาณของพวกเราในวันนี้ เมื่อประเทศอยู่ในช่วงรอยต่อของการจบลงของโรคระบาด เราคาดหวังว่ารัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณเพื่อปั๊มหัวใจ กระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ ฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้กลับมา แต่งบประมาณของปี 2565 แทนที่จะเพิ่มขึ้นกลับลดลง รัฐบาลอาจจะอ้างว่าวางกรอบงบประมาณสมเหตุสมผลแล้ว ในเมื่อจัดเก็บรายได้ได้ลดลงก็ต้องปรับลดงบประมาณลงเป็นเรื่องปกติ กฎหมาย พ.ร.บ. หนี้สาธารณะก็เขียนล็อกไว้ให้ขาดดุลได้เท่านี้ แล้วก็กู้ชดเชยจนเต็มเพดานแล้วจะเอาอะไรอีก แต่รัฐบาลที่อ้างว่าตัวเองทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เอาหลังพิงกฎหมาย แล้วผลักภาระไปให้ประชาชน ปล่อยให้งบเป็นไปตามยถากรรม แล้วประชาชนต้องรับกรรมแบบนี้ ถ้ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจในช่วงเวลาวิกฤตโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมแก้กฎหมายที่ไม่ยืดหยุ่นในยามวิกฤต ถ้าอย่างนั้นเอาข้าราชการมาบริหารประเทศก็ได้ เราจะมีนายกรัฐมนตรีกันไปทำไม ต้องมีรัฐมนตรีที่เหลือไว้ทำอะไร ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐบาลมองไม่เห็นปัญหาว่าเงินไม่พอใช้ ไม่อย่างนั้นจะยอมกลืนน้ำลายตัวเองออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทไปทำไม” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไปว่า แต่แทนที่รัฐบาลจะออกเป็นงบกลางปีที่มีรายละเอียดโครงการชัดเจนกลับเลือกทางที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและความรับผิดทั้งปวง แล้วขอให้สภาและประชาชนเซ็นเช็คเปล่าให้รัฐบาลอีกรอบ ทั้งที่การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ถ้าจะให้งบปี 2565 เป็นงบสำหรับฟื้นฟูประเทศได้ต้องเริ่มแก้ไขโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของงบประมาณนี้ก่อน ซึ่งโครงสร้างที่บิดเบี้ยวมีที่มาจากกฎหมาย กฎระเบียบ และแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่รัฐบาลเขียนขึ้นมาเองแทบทั้งสิ้น

 

ในปี 2565 จากงบประมาณที่ถูกตัดลดลงไป 1.85 แสนล้านบาท แต่เงินที่จะลงไปถึงประชาชนจริงๆ น้อยลงไปยิ่งกว่านั้นเสียอีก เพราะต้องเอาเงินงบประมาณไปใช้หนี้ที่ไม่ได้มีแค่หนี้สาธารณะ ต้องไปชดเชยภาระผูกพันต่างๆ มากมายที่ได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้ เปรียบเหมือนคนที่กำลังป่วยไข้ด้วยโรคในปัจจุบัน แต่รุมเร้าด้วยโรคประจำตัวที่เรื้อรังมานาน ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ต้องใช้ให้เงินทุนสำรองจ่าย 2.4 หมื่นล้านบาท ช่วงก่อนออก พ.ร.ก. เงินกู้และมีงบกลางไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่ได้ตั้งงบไปใช้คืนในปี 2564 จึงต้องมาใช้คืนในปีนี้ อีกโรคคือเงินสำหรับชำระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น 4 พันล้านบาท ภาระเงินชดเชยเงินคงคลังเพิ่มขึ้น 5 ร้อยล้านบาท ซึ่งเกิดจากการหมุนเงินไม่ทันในปี 2563 และมีภาระค่าใช้จ่ายมาประจวบเหมาะในเวลานี้พอดี เช่น ค่าใช้จ่ายคดีข้อพิพาทระหว่างเชฟรอนและรัฐบาลไทย ที่ยื่นฟ้องไปที่อนุญาโตตุลาการ

 

“ก้อนถัดมาเป็นโรคเรื้อรัง คือเงินใช้หนี้ที่รัฐบาลติดค้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ อย่าง ธ.ก.ส., บสย. และออมสิน ยอดหนี้รวมตอนนี้คิดเป็น 9.7 แสนล้านบาท ยังดีมีการตั้งเพดานเอาไว้ว่าห้ามเกิน 30% ของงบ แต่ปีหน้างบลด กรอบก็จะลดลงตาม เรียกว่าถ้ายังเหนียวหนี้ต่อ ปีหน้าก็จะทะลุกรอบวินัยการเงินการคลังทันที จึงต้องตั้งงบจ่ายหนี้คืนแบงก์รัฐไว้อีกเกือบ 9 หมื่นล้าน เรื่องนี้ไม่ต้องมาแก้ตัวว่าใช้มาตั้งแต่รัฐบาลก่อน เพราะเห็นชื่อโครงการก็ใช้กันมาทุกรัฐบาล ตั้งแต่ประกันรายได้ปี 2551/2552 จำนำข้าว 2554/2555/2556 ไปจนถึงโครงการจำนำยุ้งฉาง ในสมัยรัฐบาล คสช. เรียกว่าเหนียวหนี้กันมาทุกยุคทุกสมัยจนพอกพูนเป็นดินพอกหางหมู รายจ่ายเหล่านี้ไม่เคยมาปรากฏในงบประมาณ สภาไม่เคยได้พิจารณา เพราะสามารถหยิบยืมจากแบงก์รัฐได้โดยใช้มติ ครม. เท่านั้น” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญายังชี้ว่า โรคเรื้อรังอีกโรคคือรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ ทำให้งบเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการที่เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เบ็ดเสร็จรวมแล้วค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนสวัสดิการข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างรัฐ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของงบประมาณ ถ้ายังไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้งบประมาณจะยิ่งพอกพูนจนไปกินพื้นที่งบประมาณส่วนอื่น ทุกวันนี้งบสวัสดิการข้าราชการและครอบครัว 5 ล้านคนก็แซงงบสวัสดิการสำหรับคนทั้งประเทศไปแล้ว และหากมองในภาพรวม งบประมาณที่หายไปจะมีไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้าน เพราะภาระในอดีตกับโครงสร้างที่บิดเบี้ยว

 

“เมื่อต้องเลือกตัดงบรายจ่ายลง แต่รัฐบาลไม่กล้าเผชิญหน้ากับรัฐราชการ ไม่กล้าตัดงบที่ลงตรงๆ ไปยังกระทรวง กรมต่างๆ เพราะงบพวกนี้มีเจ้าที่คอยคุ้มครองแทบทั้งสิ้น งบที่รัฐบาลเลือกตัด ก้อนแรกคืองบสวัสดิการของประชาชน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองถูกตัดไป 2 พันล้านบาท ประกันสังคมถูกตัดไป 1.9 หมื่นล้านบาท กองทุนสวัสดิการประชารัฐที่รัฐบาลเคยโฆษณาเอาไว้ว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศถูกตัดงบไป 2 หมื่นล้านบาท การเคหะแห่งชาติและกองทุนการออมแห่งชาติถูกตัดงบไปครึ่งหนึ่ง ก้อนถัดมาที่รัฐบาลเลือกตัดก็คือเงินสำหรับฟื้นฟูประเทศหลังจากวิกฤติโควิด เลือกที่จะตัดงบประมาณด้านการศึกษาในปีนี้ไป 2.4 หมื่นล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 5 พันล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริม SMEs 40% ตัดงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50% ตัดงบแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 20% ยังไม่ต้องพูดถึงว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งงบชดเชยความเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิด ที่ปิดมา 3 รอบยังไม่เคยได้เงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว อย่ามาอ้างว่าให้ไปใช้งบฟื้นฟูจากเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพราะไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะทำได้จริง บทเรียนที่ผ่านมาของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ตั้งงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท พออนุมัติจริงกลับทำได้แค่ 1.3 แสนล้านบาท หรือเบิกจ่ายจริงไม่ถึงครึ่ง รอบนี้ตั้งงบฟื้นฟูไว้แค่ 1.7 แสนล้านบาท จะเอาไปฟื้นฟูอะไรก็ยังไม่รู้ จะใช้จริงแค่ไหนก็ไม่รู้ บอกตรงๆ ว่าถ้าไม่ออกเป็นงบกลางปีแบบมีรายละเอียดอย่างไรก็ไม่ให้ผ่าน ให้ถอนออกจากสภาไปได้เลย” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า สำหรับงบประมาณที่ไม่ถูกตัดหรือถูกตัดเล็กน้อยเพียง 4% เท่านั้นในงบปี 2565 ก็คือรายจ่ายลงทุน สาเหตุมาจากปัญหากฎหมายวินัยการเงินการคลังที่รัฐบาลเขียนขึ้นมามัดมือตัวเอง ว่ารายจ่ายลงทุนจะต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และไม่น้อยกว่าวงเงินขาดดุลของงบประมาณในปีนั้น

 

“ฟังเผินๆ เหมือนจะดี เพราะกฎหมายนี้บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะกู้ต้องกู้มาลงทุนเท่านั้น แต่เรื่องนี้ดีเฉพาะเวลาปกติ พอมาเจอวิกฤตยิ่งทำให้งบประมาณไม่ยืดหยุ่น ไม่ตอบโจทย์ ไม่ตอบสนองต่อความต้องการประชาชน ในทางปฏิบัติแล้วกฎหมายนี้มีปัญหา ปัญหาแรกคือ การลงทุนกับคนผ่านการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ไม่ถูกนับว่าเป็นรายจ่ายลงทุน จึงกลายเป็นเป้าที่ถูกตัดง่าย แต่ที่นับว่าเป็นรายจ่ายลงทุนก็คือ การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ก่อสร้างตึก อาคารสำนักงาน ซื้อโต๊ะ ซื้อตู้ ตัดถนน ปัญหาที่ตามมาก็คือ ในยามวิกฤตที่จัดเก็บภาษีได้น้อย ต้องจัดงบประมาณขาดดุลมากขึ้น คือต้องกู้มากขึ้น แต่พอมีข้อกำหนดว่ากู้มาเท่าไรต้องใช้รายจ่ายลงทุนมากเท่านั้น แปลว่าพอยิ่งวิกฤตมากรัฐบาลก็ต้องซื้ออาวุธเพิ่ม ต้องยิ่งก่อสร้างอาคารสำนักงานมากขึ้น รถ โต๊ะ ตู้ เตียง ตัดถนนมากขึ้น แบบนี้ขอให้ยอมรับว่าว่าไม่ใช่ทุกรายการจะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตจริงๆ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฉบับนี้จึงมีปัญหา ควรต้องมีการแก้ไขให้ยืดหยุ่นในยามประเทศเผชิญวิกฤต รัฐบาลอย่าหลับหูหลับตากอดกฎหมายไว้กับตัว ไม่อย่างนั้นวิกฤตครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่ๆ” ศิริกัญญากล่าว

 

ในประเด็นสุดท้าย ศิริกัญญา ชี้ว่า นอกจาก พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ที่มัดตัวเองแล้ว เวลาหน่วยงานราชการจะเขียนโครงการยังต้องเขียนให้ร้อยรัดเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนแม่บท 23 แผน, แผนแม่บทระดับย่อย, แผนปฏิรูปประเทศอีก 11 ด้าน ทำให้ถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานจึงไม่สามารถขยับปรับเปลี่ยนงบประมาณได้เลย ซึ่งรัฐบาลก็รู้ดีว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีปัญหา เพราะพูดถึงโรคระบาดอยู่ 2 คำ แถมยังไปอยู่ในยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม หลังจากใช้แผนได้เพียง 3 ปีก็มีการสั่งให้รื้อใหม่ สุดท้ายไม่ได้แก้อะไร แต่กลับคลอดมาเป็นแผนแม่บทเฉพาะกิจสำหรับวิกฤตโควิด-19 ขึ้นมาอีกเป็นแผนที่ 24 เหมือนมีเชือกมารัดคอเพิ่มขึ้นอีกเส้น ตัวแผนแม่บทเฉพาะกิจก็ฟังดูสวยหรู ดูดี พูดถึงเรื่อง ‘ล้มแล้วลุกไว’ มีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ต่ำๆ แบบไม่มีวันพลาดเป้า แต่พลาดเป้าก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไร ที่ตลกร้ายคือ ตามแผนแล้วจะมี 250 โครงการที่สภาพัฒน์ชี้เป้าเอาไว้ว่าสอดคล้องกับแผนแม่บทใหม่ แต่พอไปตามหา 250 โครงการนี้ ในงบปี 2565 จำนวนมากกลับหาไม่เจอ แสดงว่าถูกสำนักงบตัดไป ตกลงสองหน่วยงานไม่ได้คุยกันใช่หรือไม่ และถ้าจะทำแบบนี้จะมีแผนแม่บทเฉพาะกิจนี้ไปทำไม เสียทั้งเวลาและงบประมาณในการร่างแผน

 

“แน่นอนว่าปัญหาโครงสร้างต่างๆ ต้องถูกแก้ไขผ่านการแก้กฎหมายงบประมาณที่ไม่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อวิกฤต ผ่านการปฏิรูปภาครัฐให้เล็กลง คล่องตัว ไม่เป็นภาระงบประมาณ ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำจัดอุปสรรคอย่างยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนแม่บทระดับย่อย แผนปฏิรูปประเทศ ที่ร้อยรัดเกลียวแน่นอยู่ที่คอหอยประชาชนจนแทบจะหายใจไม่ออก ถ้ารัฐบาลยังเอาหลังพิงกฎหมาย มัดมือมัดเท้าประชาชน มัดตราสังข์ประเทศ โยนความรับผิดของตัวเองออกจากตัว และเลือกโยนภาระมาให้ประชาชน ดิฉันก็ยังยืนยันว่าเอาข้าราชการมาบริหารประเทศแทนรัฐบาลได้เลย ไม่ต้องมีรัฐบาลก็ได้ ตราบใดที่ท่านไม่มีภาวะผู้นำในยามวิกฤต ไม่กล้าตัดสินใจทำเรื่องยากๆ ที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ประเทศไทยไม่มีวันที่จะพ้นจากวังวนของวิกฤตไปได้ ไม่มีวันที่จะฟื้นตัว ต่อให้วิกฤตโควิด-19 หมดไปแล้ว ประเทศก็คงมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจมากมาย ประเทศของเราจะยังคงติดอยู่ในเหวลึกไปอีกนานเท่านาน” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญายังอภิปรายทิ้งท้ายว่า คำว่า ‘งบประมาณ’ คำว่า ‘ตัวชี้วัด’ ต่างๆ สำหรับรัฐบาล ข้าราชการและเทคโนแครตคงเป็นเพียงคำพูดบนกระดาษ เป็นตารางให้กรอกตัวเลข เป็นข้อมูลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่สำหรับประชาชน สวัสดิการที่ถูกตัดไป 3.5 หมื่นล้าน อาจจะหมายถึงเงินค่านมลูกที่จะหายไป หมายถึงค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องใช้ทำมาหากินแต่กำลังจะโดนยึด หมายถึงหลักประกันของคนที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิตจะมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ งบ SMEs ที่ถูกตัดไป อาจจะหมายถึงลูกจ้างอีกเป็นสิบที่ต้องถูกให้ออกจากงาน อาจจะหมายถึงเจ้าของธุรกิจที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยความผิดที่พวกเค้าไม่ได้ก่อ งบการศึกษาที่ถูกตัด 2 หมื่นล้านบาท อาจหมายถึงเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัย เด็กประถมนับแสนคนที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามวัยเพราะเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง หมายถึงเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพียงเพราะพ่อแม่ตกงาน เพียงแค่แก้กฎหมาย ออก พ.ร.บ. งบกลางปีอีกฉบับจากเงินกู้เพื่อจะจัดสรรงบให้ตามที่ควรจะเป็น ชีวิตของผู้คนอีกนับล้านคนจะเปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล แทบทั้งสิ้นแต่กลับเลือกที่จะไม่ทำ จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และไม่สามารถรับร่าง พ.ร.บ. งบประมาณพิกลพิการฉบับนี้ได้ และเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ที่กำลังจะเข้าสู่สภาออกไปด้วย รวมถึงนายกฯ ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และให้รัฐบาลใหม่ออก พ.ร.บ. กู้เงิน และจัดทำงบกลางปีเพื่อชดเชยสวัสดิการ การศึกษา และงบประมาณฟื้นฟูประเทศ

 


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X