วันนี้ (20 มีนาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาทในวาระที่ 2 ในการพิจารณามาตรา 7 ว่าด้วยงบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากปรับลดงบประมาณเหลือ 24,124,617,500 บาท จากเดิมที่ได้งบ 24,834,743,400 บาท
ชยพล สท้อนดี สส. กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ ผู้สงวนความเห็น ได้อภิปรายว่า กอ.รมน. ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด โครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของ กอ.รมน. มีความน่าสงสัยว่า เนื้อหาของโครงการและเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ไม่ค่อยมีความสอดคล้องกัน
ชยพลยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาด้านการเมือง และการสร้างความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติ จำนวน 10.5 ล้านบาท และโครงการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 33 ล้านบาท ซึ่งมีการชี้แจงว่า เป็นการจัดเวทีเสวนาผู้นำชุมชนและการสร้างทำเนียบปราชญ์ แต่สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับการรักษาความสงบภายในประเทศ
นอกจากนี้แม้ตามความเข้าใจแล้ว กอ.รมน. ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ เพราะเป็นหน่วยงานในการประสานงาน แต่กลับมีงบซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ 120 ล้านบาท ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะยอมเผยข้อมูลให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วปรากฏว่าเป็นค่าซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น เป็นการซ่อมระบบสำรองไฟให้ค่ายทหาร ซ่อมกล้องตรวจการกลางคืน ซ่อมรถเกราะ ซื้อแบตเตอรี่โดรน ซื้อน้ำมันทำความสะอาดปืน
“แต่ละรายการส่งเลขมาถ้วนๆ เหมือนกับกลัวว่าเราจะไม่รู้ว่ามันมีปัญหาตุกติกอะไรซ่อนอยู่ เหมือนกับกลัวเราไม่รู้ว่าเป็นการเสกเลขขึ้นมาเฉยๆ แล้วก็เบิกกันไปมั่วๆ สรุปแล้ว กอ.รมน. นอกจากจะไปแย่งหน้าที่กรมการข้าว สอนเขาทำนากันแล้ว ยังไปแย่งหน้าที่ของกรมการช่างอีกหรือ มันเซียนมาจากไหน มันเรียนที่ไหนมา ผมก็อยากจะทราบเหมือนกัน”
ชยพลยังกล่าวถึงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบายวงเงิน 345.6 ล้านบาท โดยมีสิ่งน่าสงสัยคือ การจ้างเหมาลำเครื่องบินจากภาคเอกชน 12 เดือน มูลค่า 190 ล้านบาท จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า มีความจำเป็นต้องเหมาสายการบิน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายหรือต้องเดินทางไปไหนมากมาย
ชยพลกล่าวอีกว่า ในการประชุมกรรมาธิการฯ เมื่อพยายามจี้ถามขอเอกสารไปเรื่อยๆ ก็จะมีการพักประชุม กลับมาอีกทีก็จะมีข้อสรุปเรียบร้อยว่าจะตัดหรือไม่ตัดอะไรบ้าง จะถามย้ำก็มีการอ้างว่ามีมติแล้ว และสู่เรื่องอื่น แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่านี่เป็นการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพจริง การพิจารณางบประมาณครั้งนี้โปร่งใส รอบคอบ และคุ้มค่าภาษี
เช่ารถประจำตำแหน่งนายกฯ เข้ากระเป๋าใคร?
ปรีติ เจริญศิลป์ สส. นนทบุรี พรรคก้าวไกล อภิปรายปรับลดงบประมาณรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีมีทรัพย์สินกว่า 1,020 ล้านบาท แต่เดิมนายกฯ มีรถประจำตำแหน่งอยู่แล้ว แต่ยังขอให้รัฐจัดหารถประจำตำแหน่งเพิ่มอีก 1 คันที่เป็นรุ่นเดียวกัน แต่คนละสี มีค่าเช่าเดือนละ 136,500 บาท หรือ124 ล้านบาทต่อปี มากกว่าเงินเดือนประจำตำแหน่งที่ท่านได้รับ
“ท่านบอกว่าท่านบริจาคเงินเดือนให้มูลนิธิการกุศล แต่ท่านพูดไม่หมด แม้มีรถประจำตำแหน่งอยู่แล้ว รุ่นเดียวกันแต่คนละสี แต่ยังมาให้รัฐเสียเงินเช่ารถให้ท่านอีก ส่วนรถคันล่าสุดรถไฟฟ้ายี่ห้อ Fiat & Abarth รุ่น 500 Electric สีเขียว ราคา 2.38 ล้านบาท ที่ลูกสาวซื้อให้คันนี้ ท่านนำมาชาร์จไฟที่ทำเนียบ อันนี้ต้องระวัง ตนดูถึงความเหมาะสมว่าหลายรายการดูจะไม่เหมาะสมกับการใช้งบของรัฐ”
ปรีติกล่าวอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นตนเห็นรัฐจัดหารถให้แล้ว แต่ทำไมมีการตั้งงบค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งอีกปีละ 2.73 ล้านบาท ตนอยากรู้ว่างบส่วนนี้เข้ากระเป๋าใคร ซ้ำซ้อนหรือไม่
“ขอให้ยกเลิกรถประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ข้าราชการระดับสูง รวมถึงยกเลิกงบฟุ่มเฟือย อย่างเช่น พรมทอมือขนแกะ 9 ผืน มูลค่า 10,557,200 บาท เพื่อปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล ขอให้นึกถึง เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา อะไรที่อู้ฟู่หรูหรา ไม่จำเป็น ควรตัดออก ขอให้นึกถึงคนไม่มีจะกินบ้าง เพราะเงินเหล่านี้คือภาษีประชาชนที่พวกท่านเอามาใช้” ปรีติกล่าว
ภคมน หนุนอนันต์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอตัดโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ผลิตและเผยแพร่สื่อออนไลน์ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งตั้งงบประมาณซื้ออุปกรณ์เพื่อผลิตสื่อออนไลน์จำนวน 134 ชุด เป็นเงินทั้งสิ้น 50,000,000 บาท ซึ่งอนุกรรมาธิการอนุมัติตัดงบไปแล้ว 30 ล้านบาท พร้อมตั้งคำถามกลับถึงกรมประชาสัมพันธ์ ถึงความพร้อมที่จะขยายการสื่อสารไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์
ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายถึงงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีจำนวน 2,056,800 บาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาที่แตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คณะกรรมการชุดดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อมาพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ และสิ้นสุดการทำภารกิจวันที่ 25 ธันวาคม 2566 พร้อมกับได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการตั้งคำถามการทำประชามติ
แม้ตนเองยังไม่เห็นด้วยตามข้อเสนอของคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่การเบิกงบประมาณ 2,056,800 บาท ในส่วนนี้เพื่อไปโปะย้อนหลัง ซึ่งเป็นการกระทำในเชิงเทคนิคในการจัดสรรงบประมาณ โดยตนเองเห็นว่า รัฐสภาแห่งนี้ยังไม่ควรที่จะอนุมัติงบประมาณสักบาทให้กับคณะกรรมการชุดดังกล่าว ไม่ใช่เพราะตนเองไม่เห็นถึงความสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ แต่อยากตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน ขณะนี้ระยะเวลาผ่านมาแล้วเป็นเวลา 86 วัน หลังจากที่คณะกรรมการศึกษาชุดนี้ได้แถลงสิ้นสุดภารกิจ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ตนเองหรือแม้แต่ประชาชนสามารถอ่านรายงานชุดนี้ได้ที่ไหน อย่างไร
ทั้งนี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวชี้แจงว่า งบประมาณของ กอ.รมน. นั้นเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีกำลังทหารทั้งกองทัพภาคที่ 1 ถึงกองทัพภาคที่ 3 ช่วยปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องผลัดเปลี่ยนกำลังพล เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การดำเนินการนั้น กอ.รมน. เองก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อราชการเช่นกัน
จุลพันธ์ชี้แจงถึงงบประมาณในส่วนของการทำแนวทางการทำประชามติฯ ว่า งบประมาณส่วนนี้เป็นเบี้ยประชุมของคณะกรรมการ พร้อมทั้งยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีจริงจังในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาในการทำความเข้าใจให้ตรงกัน พร้อมดำเนินการด้วยงบประมาณที่จำกัดนี้ให้ประสบผลสำเร็จต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบ 292 เสียง ยึดตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก โดยมีเสียงไม่เห็นด้วย 169 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง