- การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (31 พฤษภาคม) เป็นวันแรกที่จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ วงเงินงบประมาณไม่เกิน 3.1 ล้านล้านบาท ถือเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ และเป็นงบประมาณที่กำลังจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง
- การพิจารณาใช้เวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน
- วันนี้จะเริ่มประชุมประมาณเวลา 09.30 น. ถึงเวลา 01.00 น. ขณะที่ 1 มิถุนายน เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. ถึง 01.00 น. และ 2 มิถุนายน เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. ถึง 01.00 น.
- ส่วนการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ จะอยู่ในวันที่ 2 มิถุนายน เบื้องต้นคาดว่าจะลงมติได้ในช่วงเวลา 22.00 น.
- สำหรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการคือ ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,185,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท เหตุผลเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีวงเงินรวม 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.74%
- รายจ่ายส่วนต่างๆ ประกอบไปด้วยโครงสร้างงบประมาณ ดังนี้
- รายจ่ายประจำ จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 23,932.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.01%
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีรายการที่เสนอตั้งงบประมาณ
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ไม่มีรายการที่เสนอตั้งงบประมาณ
- รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,077.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 83,144 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.59%
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณก่อน
- สำหรับงบประมาณปี 2566 นี้ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มงบประมาณ ดังนี้
- งบประมาณรายจ่ายงบกลาง 590,470.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.54 ของวงเงินงบประมาณ
- งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,090,329.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.23 ของวงเงินงบประมาณ
- งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 218,477.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.86 ของวงเงินงบประมาณ
- งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 772,119.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.24 ของวงเงินงบประมาณ
- งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 206,985.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.50 ของวงเงินงบประมาณ
- งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.63 ของวงเงินงบประมาณ
- การจัดจัดสรรงบประมาณแยกเป็นยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ออกเป็น 6 ด้าน ดังต่อไปนี้
- ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 296,003.6 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประเทศมีความมั่นคงในทุกมิติ ทุกระดับ การบริหารจัดการความมั่นคงมีประสิทธิภาพ
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 396,125.5 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกด้านให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน
- ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 549,514.0 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้และทักษะ มีความรักและภูมิใจในความเป็นไทย ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 759,861.3 ล้านบาท เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 122,964.9 ล้านบาท เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ
- ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 658,012.7 ล้านบาท เพื่อให้ภาครัฐมีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน
- ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อการอภิปรายในครั้งนี้ ได้แก่
- รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญที่นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ชี้แจงถึงความจำเป็นและแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย แผนงานโครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งครอบคลุมด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
สำหรับการดำเนินการของปี 2566 รัฐบาลได้กำหนดแผนงาน โครงการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า งบประมาณรวม 2.7 แสนล้านบาท เกี่ยวข้อง 14 กระทรวง 265 โครงการ มีเป้าหมายคนจนในประเทศไทยลดลงอย่างยั่งยืน
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า น่าจะผ่านได้ เพราะรัฐบาลก็ยังมีเสียงข้างมาก ส่วนปัญหาของงบประมาณปี 2565 ที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะวางโครงสร้างที่อาจทำให้ต่อไปไม่สามารถกู้ฉุกเฉินได้นั้น มองว่าการจัดทำงบประมาณต้องจัดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วง สถานการณ์ของประเทศก็มีความแตกต่างกัน อีกทั้งการจัดงบประมาณปีนี้ ต้องมองถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ทั้งวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจในภาพรวม และสงครามการค้า มาจนกระทั่งถึงสงครามระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกระทบและเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาสู่การจัดงบประมาณที่จะทำเหมือนกับทุกปีไม่ได้
- สมคิด เชื้อคง ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วาระแรก โดยพรรคเพื่อไทยได้ รับเวลาอภิปราย 775 นาที ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่ออภิปรายแล้ว 48 คน ดังนั้นจะได้เวลาอภิปรายคนละ 8 นาที สำหรับเนื้อหาการอภิปรายในรอบนี้จะจัดกลุ่มงบประมาณเป็นรายกลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตรกร, กลุ่มความมั่นคง, กลุ่มกระจายอำนาจ, กลุ่มบูรณาการ แทนการอภิปรายแบบรายกระทรวงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของแนวทางการอภิปรายเพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจ และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยึดแนวทางดังกล่าวร่วมกัน
- ขณะที่ สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านประกาศว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะโหวตไม่รับร่าง เนื่องจากการจัดงบประมาณไม่ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์ของประเทศ