×

มาดามเดียร์จี้ งบวัฒนธรรมได้ 6.7 พันล้าน แต่ใช้ดัน Soft Power เพียง 40 ล้านบาท ที่เหลือใช้อนุรักษ์วัฒนธรรม-ศิลปะเดิมของประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2022
  • LOADING...
มาดามเดียร์

วันนี้ (2 มิถุนายน) วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาทว่า ขณะที่เรากำลังพิจารณาร่างงบนี้ ท่ามกลางความผันผวนของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและความท้าทายปัญหาที่โลกกำลังเจอ คือจะใช้ยุทธศาสตร์อะไรในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิดทำให้ภูมิทัศน์และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคของ Gig Economy โดยหนึ่งในนโยบายช่วงหลังที่มีการพูดถึงบ่อยครั้งจนติดปากคือ Soft Power เข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญ เรามียุทธศาสตร์และเป้าหมาย แผนการทำงานที่เป็นรูปธรรมอย่างไรเพื่อให้เกิดการแข่งขันขึ้นจริง 

 

หลังจากที่ตนได้ศึกษางบปี 2566 ตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานเรื่อง Soft Power ของภาครัฐแบบต่างกระทรวง ต่างคนต่างทำ การใช้งบกระจัดกระจาย ส่วนใหญ่ใช้ไปในรูปแบบจัดกิจกรรมหรือ Event Base คือไม่มีแผนต่อเนื่องในระยะยาว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือไม่มีแผนการทำงานที่ชัดเจนว่าเรากำลังจะทำอะไร ทำอย่างไร และทำเพื่ออะไร ตนจึงขอนำเสนอภาครัฐให้พิจารณาทบทวนการใช้งบประมาณในการสร้างเศรษฐกิจด้วย Soft Power โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักคือ

 

  1. เราต้องทำความเข้าใจคำว่า Soft Power ให้ถูกต้องตรงกันก่อน เพราะหากเข้าใจผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน เราจะจัดแผนนโยบายและกำหนดวางยุทธศาสตร์เป้าหมายคลาดเคลื่อนไปด้วย ซึ่ง Soft Power แปลตรงตัวหมายถึง อำนาจละมุนละม่อม ในการที่จะส่งอิทธิพล หากจะสร้าง Soft Power ขึ้นมาใหม่ ก็อาจจะพูดได้ว่า ‘ตัวแทนของสื่อ หรือกระบวนการสื่อสารที่สามารถส่งอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติอื่น’ ซึ่งหนึ่งในอาวุธสำคัญที่จะผลักดัน Soft Power ของคนไทยเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยให้กลายเป็นสินค้านำส่งสายตาคนทั่วโลก หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ ศิลปะ และบันเทิง ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและหลากหลายที่สุด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสำคัญในการสร้างตลาดให้กับตนเอง

 

“เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรามีประเด็นโด่งดังคือกรณีนักร้องหญิง ‘มิลลิ’ กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที Coachella การกินครั้งเดียวได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ Soft Power ให้กับคนไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือคนที่ได้อานิสงส์คือกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง ชาวนาที่ปลูกข้าว หรือร้านขายข้าวเหนียวมะม่วง หากเรามีแบบนี้ 10 คน 50 คน ไปพูดถึงสินค้าต่างๆ อัตลักษณ์ของประเทศ เหมือนที่วันนี้เราซื้อเหล้าโซจูในร้านสะดวกซื้อ เพราะตัวละครในซีรีส์เกาหลีทุกเรื่องต้องดื่มโซจู หรือร้านอาหารเกาหลี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เมนูยอดฮิตของคนไทยก็ถูกตีตลาดด้วยรามยอน” วทันยากล่าว

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การจะผลักดัน Soft Power ไทยให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จุดเริ่มต้นสำคัญคือ รัฐต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับสื่อ ศิลปะ และบันเทิงให้มีความเข้มแข็งเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการสร้างสรรค์ผลงานที่ต้องใช้ความชำนาญ พรสวรรค์เฉพาะด้าน เช่น การสร้างนักร้องศิลปิน, การสร้างงานเพลง, ภาพยนตร์, ซีรีส์ หรือการออกแบบกราฟิกดีไซน์ จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะขาดต้นทุนทางด้านบุคลากร เงินทุนในการสร้างสรรค์ผลงาน และขาดตลาดที่จะแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพ

 

  1. การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนเพื่อโฟกัสการทำงาน และจัดทำแผนระยะยาวเพื่อไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ยกตัวอย่างการจัดตั้ง Korean Film Council หรือ KOFIC พร้อมการจัดตั้งกองทุนของเกาหลี ซึ่งเป็นการประกาศวิสัยทัศน์ให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐ พร้อมกับกำหนดบทบาทความรับผิดชอบที่ชัดเจนไม่ให้เกิดความสับสน คือให้ KOFIC ดูแลแผนงานและสนับสนุนเงินทุนให้เอกชนเพื่อนำไปสร้างผลงานคุณภาพ ให้อุตสาหกรรมนี้มีความเติบโตยิ่งขึ้น พร้อมกับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อป้อนคนมีความรู้ความสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมบันเทิงไทย ทุกวันนี้งบการเงินบริษัทเอกชนแค่ดูจากกราฟก็เห็นได้ว่ารายได้มีแนวโน้มลดต่ำลง และอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากเพราะต้องต่อสู้กับวิกฤตดิจิทัลดิสรัปชันที่เกิดขึ้น ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา ผลงานของไทยอยู่ในลักษณะมูฟออนเป็นวงกลม คือย่ำอยู่กับที่ และเมื่อเราประกาศเรื่อง Soft Power ก็ไม่มีหน่วยงานมารับผิดชอบที่ชัดเจน ที่ดูน่าจะเกี่ยวข้องที่สุดคือกระทรวงวัฒนธรรม แต่เท่าที่ดูงบประมาณก็เกิดคำถามว่า งานที่เกิดขึ้นในกระทรวงนี้จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้อย่างไร 

 

  1. การสนับสนุนเงินทุนที่จะสร้างเอกชนให้เข้มแข็งในการนำไปใช้พัฒนาคุณภาพงานและพัฒนาบุคลากร จากที่ดูงบกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 6,747 ล้านบาท หากจำแนกแยกย่อยออกมาเป็นหน่วยงานภายในสังกัด เช่น กรมการศาสนา กรมศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และรวมถึงกองทุนต่างๆ จะเห็นว่างบประมาณกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำไปใช้ในเชิงรักษาอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปะเดิมของประเทศ แต่งบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อต่อยอดในอนาคตกลับมีน้อยมาก โครงการทั้งหมดภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมมีเพียงโครงการเดียวที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power มากที่สุดคือโครงการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ มีจำนวน 40 ล้านบาท เท่านั้น คงไม่ต้องพูดว่าภารกิจอันใหญ่หลวง ความหวังของคนไทยในการปั้นเศรษฐกิจและการสร้างสรรค์นี้ คงไม่ต้องพูดถึงความเหมาะสมว่างบแค่นี้จะทำสำเร็จได้อย่างไร 

 

อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่าทุกวันนี้รัฐก็มีภาระใหญ่ในการดูแลประชาชนหลังจากวิกฤตโควิด การใช้งบต้องรอบคอบ แต่เรายังมีเงินกองทุนอยู่จำนวนมาก ที่นำมาพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมนี้ได้ คืองบกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ที่ทุกวันนี้มีงบบประมาณเฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของ กสทช. ที่เอกชนส่งรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย 2.5% ให้ กสทช. ทุกปี กองทุนนี้มีเงินทุน ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 64,376 ล้านบาท โดยเงินจำนวนมากเหล่านี้ถูกเก็บไว้ไม่ได้นำออกมาใช้ในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อน และงบที่ขอเข้าไปในกองทุนนี้ยังถูกนำไปใช้อย่างกระจัดกระจาย ไม่สามารถเห็นผลที่ชัดเจนได้เลย จึงเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หากเรานำเงินของกระทรวงวัฒนธรรมและกองทุนสื่อเหล่านี้ และงบจัดอีเวนต์ของกระทรวงต่างๆ มารวมกัน เราจะมีงบมากพอที่จะปักหลักยุทธศาสตร์เพื่อผลักดัน Soft Power ของไทยให้เสร็จได้

 

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์เรื่อง Soft Power ที่ตนยกมาเป็นเพียงตัวอย่างข้อเสนอให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาถึงการปรับแผนการทำงาน เพื่อรองรับกับความผันผวนและความท้าทายโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในอีกหลายๆ เรื่อง เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่สังคมชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันนวัตกรรม ปัญหาดิจิทัลดิสรัปชัน และการมาถึงโลก Metaverse ที่เกิดขึ้นแล้ว และจะมีอิทธิพลต่อชีวิตเราในอีกไม่ช้า แต่เรายังไม่มีแผนงานใดรับมือ 

 

“แม้วันนี้เราจะมีวิกฤตโควิดให้ต้องแก้ไข รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลประชาชน แต่เมื่อเราพบว่ามีเงินมากเพียงพอ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และการทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ระยะยาวและมีแผนปฏิบัติจริง เปลี่ยนรัฐจากที่เป็นผู้ลงมือทำเอง มาเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนมีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและส่งต่อโอกาสในสังคมได้ เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จเหมือนที่รัฐบาลตั้งใจไว้ได้อย่างแน่นอน” วทันยากล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X