×

นายกฯ แจงงบบุคลากรสูงขึ้นเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน ยืนยันรัฐบาลแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า ขับเคลื่อนประเทศทุกมิติ

โดย THE STANDARD TEAM
01.06.2022
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันนี้ (1 มิถุนายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถึงเรื่องของงบกลาง ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีข้อกล่าวหาว่างบกลางมีเหลือเฟือมากมาย นายกรัฐมนตรีมีไว้ใช้เอง ไว้เอื้อประโยชน์นั้น ว่า การพูดอย่างนี้เป็นการพูดแบบไม่มีหลักการ หลักการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินมีกฎหมายอยู่ทุกข้อ ทุกระเบียบต้องใช้เงินส่วนใด ยืนยันไม่เคยสั่งการให้ทำโครงการนี้ โครงการนั้น เพราะนายกรัฐมนตรีต้องกำหนดนโยบาย ติดตาม กำกับดูแล หาสิ่งใหม่ๆ มาคิด นำวิสัยทัศน์มาพิจารณาว่าแบบนี้ทำได้หรือไม่ และมีการประชุมหารือกับคณะทำงานและหน่วยงานก่อนดำเนินการ เพื่อทำงานร่วมกันให้สำเร็จไปพร้อมกัน เกิดงบบูรณาการ งบจังหวัด กลุ่มจังหวัดเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส 

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวถึงการปรับลดบุคลากรภาครัฐว่า ได้มีการชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้ว ทั้งการพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือทดแทน การเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้ก็เดินหน้าไปได้มากแล้ว ทั้งนี้ ขออย่าได้นำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงกว่าไทย เพราะบริบทไทยกับของต่างประเทศที่สมาชิกได้กล่าวถึงนั้นแตกต่างกัน แต่ยืนยันว่าต่อไปเราก็ต้องทำไปให้ถึงจุดนั้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงงบประมาณบุคลากรที่มีสัดส่วนสูงขึ้นนั้น ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงจะพบว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน เช่น เงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีจำนวน 277,305 อัตรา งบประมาณ 117,800 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการบริการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยและบริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนงบประมาณบุคลากรด้านการศึกษา 519,272 อัตรา งบประมาณ 204,000 ล้านบาท ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ และช่วยให้ประเทศมีความพร้อมในการรับมือด้านต่างๆ 

 

ส่วนรายจ่ายประจำนอกเหนือจากรายจ่ายบุคลากรภาครัฐนั้น พล.อ. ประยุทธ์ย้ำว่าส่วนมากเป็นการใช้จ่ายส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกัน มีความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการดูแลกลุ่มเปราะบาง, ผู้ด้อยโอกาส, ผู้สูงวัย, ผู้พิการ และเด็ก ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรเทาปัญหาความยากจน พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้เวลาและแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันระหว่างนั้นก็มีการช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ ยืนยันงบประมาณเงินกู้ทั้งหมดเป็นการนำมาเพื่อดูแลและแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ของประเทศ ทั้งเรื่องของการรักษาพยาบาลประชาชน เรื่องโควิด เรื่องการที่จะทำให้ประชาชนอยู่รอด ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่ม SMEs ต่างๆ ด้วย เพื่อไม่ให้มีการลดการจ้างงานและแรงงานได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคม  

 

ขณะที่ส่วนงบกลางนั้น พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าเป็นการนำมาใช้ในหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาโควิด การดูแลบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมไปถึงการดูแลกลุ่มผู้ประกอบการและธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถดำเนินเปิดกิจการต่อไปได้และมีแรงงานที่เพียงพอ เช่น การดำเนินการ Factory Sandbox ซึ่งก็ได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศ ยืนยันว่าสิ่งต่างๆ ที่ไทยได้ดำเนินการขณะนี้ล้วนได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศในหลายเรื่อง ทั้งนี้ แต่ละประเทศก็มีบริบทและกฎหมายการปกครองที่แตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยก็มีของตนเอง และหากปลดล็อกทุกอย่างได้เชื่อว่าหลายประเทศก็จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

 

พล.อ. ประยุทธ์ยังชี้แจงกรณีที่ ส.ส. กล่าวถึงเกี่ยวกับงบประมาณร้อยละ 40 เป็นรายจ่ายบุคลากรภาครัฐและอื่นๆ รวมร้อยละ 70 ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำ เป็นค่าใช้จ่ายในอดีต แทนที่จะเป็นเรื่องของอนาคต ทำให้เหลืองบประมาณตามโครงสร้างเพียงร้อยละ 30 เพื่อใช้พัฒนาประเทศไม่เพียงพอ จึงต้องหาเงินเพิ่ม โดยการหากิจกรรมต่างๆ ในการที่จะหาเงินเพิ่มเข้ามา เช่น การวิจัยและพัฒนา การลงทุน ซึ่งการที่ ส.ส. บอกว่ารัฐบาลต้องดำเนินการทั้งการดูแลประชาชนในด้านต่างๆ และต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศด้วยโดยไม่ต้องมีการกู้เงินมากนักนั้น ขอถามว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้หรือไม่ มีความย้อนแย้งกันหรือเปล่า พร้อมกล่าวถึงการวิจัยพัฒนาว่า รัฐบาลได้มีการสนับสนุนนำผลงานวิจัยต่างๆ กว่าร้อยผลงานให้มาสู่การปฏิบัติได้เป็นจำนวนมาก พร้อมขอให้สมาชิกได้มีการรับฟังการชี้แจงข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising