×

พิธา เปรียบรัฐจัดสรรงบ 100% แบบ ‘ช้างป่วย’ ทุ่มเงินลงบำเหน็จบำนาญกว่า 40% เหลืองบใช้ในอนาคตแค่ 30%

โดย THE STANDARD TEAM
31.05.2022
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

วันนี้ (31 พฤษภาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เป็นคนแรกในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลว่า ปีนี้เป็นปีที่ 4 สำหรับการอภิปรายของตน ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นปีที่สำคัญที่ไม่ใช่เพียงปีสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ เป็นปีแห่งความหวังของพี่น้องประชาชนที่จะลืมตาอ้าปาก ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ 

   

เราเพิ่งผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) มา โดยจะเห็นได้ชัดว่าเป็นช่วงที่ประชาชนมีความหวังมากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และปีหน้ากำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ การที่มีผู้นำมาจาก ‘ระบอบ คสช.’ เมื่อปี 2557 แม้เดือนสิงหาคมนี้จะมีการตัดสินว่าจะครบ 8 ปีหรือไม่ แต่เชื่อว่าอำนาจและความชอบธรรมได้หมดจากใจของประชาชนแล้ว

 

ดังนั้นในช่วงที่ประชาชนมีความหวังในช่วงที่น้ำกำลังขึ้นให้รีบตัก งบประมาณปี 2566 จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุด หากน้ำขึ้นแต่กระบวยตักน้ำเล็กก็ไม่สามารถที่จะตักน้ำได้เยอะ จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะลงทุนให้ประเทศใช้กระบวยตักน้ำที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ประชาชนกลับมาอยู่ดีกินดี ซึ่งหากจัดงบประมาณปี 2566 ดี เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถทะยานก้าวไปอีก 10 ปีข้างหน้า

 

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา งบ 9,000 กว่าหน้าที่ ส.ส. ทุกคนต้องอ่านภายในเวลา 12 วัน เปรียบเสมือน ส.ส. ตาบอดคลำช้าง ไม่มีเวลาที่จะอ่านให้เพียงพอ มีความจำเป็นที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้การวิเคราะห์งบประมาณไม่เปรียบเสมือนตาบอดคลำช้างอีกต่อไป” พิธากล่าว

 

พิธายังได้อภิปรายงบประมาณปี 2566 ในส่วนโครงสร้างงบประมาณประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วมองว่าเป็นการจัดงบแบบ ‘ช้างป่วย’ ที่ปรับตัวไม่ได้ งบประมาณมีรายได้ที่ผันผวนและรายจ่ายแข็งตัว รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ไม่พอต่อรายจ่าย จำเป็นต้องกู้เพิ่ม 6.9 แสนล้านบาท ไทยยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจเดิมโดยการเน้นที่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

 

ตัวเลขที่สูงที่สุดใน พ.ร.บ.งบประมาณ นี้คือตัวเลขจากเงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท สูงเท่ากับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลเด็กนักเรียนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของช้างป่วย โดยคิดเป็น 40% ของวงเงินทั้งหมด หรืองบอุ้ยอ้าย เป็นงบที่ใช้กับอดีตไม่ใช่อนาคต โดยเงินบำนาญข้าราชการถือว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เมื่อทวงถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่าในอนาคตเงินบำนาญจะเพิ่มขึ้นจะทำอย่างไร ซึ่งถือเป็นยาขมที่เราจะต้องกลืน เราต้องมาช่วยกันคิดในการรับราชการที่อุ้ยอ้ายนี้ จะมาแก้ไขอย่างไร

 

ขณะที่งบประมาณอีก 10% เป็นงบใช้จ่ายหนี้ภาครัฐ ซึ่งงบส่วนนี้รัฐบาลควรระวังดอกเบี้ยที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และอีก 10% เป็นเงินอุดหนุนท้องถิ่น ที่เราจะต้องเลิกคิดว่าท้องถิ่นเป็นท่อส่งงบ รัฐจะต้องเปลี่ยนเงินอุดหนุน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถหาเงินใช้เองได้ งบอีก 7% ไปตกที่งบสวัสดิการ ซึ่งเมื่อมองภาพรวมแล้วรัฐบาลใช้งบประมาณไปกับอดีตกว่า 70% เหลือเงินใช้จริงเพียง 30% ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกมีความหวังอยู่ได้ 

   

ขณะเดียวกันงบประมาณในภาคเกษตรของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นงบของอดีตไม่ใช่งบของอนาคต และงบของกระทรวงวัฒนธรรมที่จัดสรรไว้สร้าง Soft Power มีอยู่เพียง 60 ล้านบาท 

 

นอกจากนั้น พิธายังอภิปรายทิ้งท้ายสำหรับการจัดทำงบประมาณแห่งความหวังว่า จะต้องเป็นการจัดสรรงบประมาณที่กระจายโดยไม่กระจุก เป็นงบที่มาจากข้างล่างขึ้นบน เป็นงบจากข้างนอกเข้าหาตัวเรา เช่น ปัจจุบันการแบ่งรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ที่ 70 ต่อ 30 ซึ่งจะมีรายได้สุทธิ 7 แสนล้านบาท เฉลี่ย 7,850 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตกท้องถิ่นละ 89 ล้านบาท

 

หากเปลี่ยนเป็น 50 ต่อ 50 ก็จะมีรายได้สุทธิ 1.2 ล้านล้านบาท เฉลี่ยรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 153 ล้านบาททันที ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะนำไปแก้ไขปัญหาหรือเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นได้ตรงจุด ทั้งการทำน้ำประปา การกำจัดขยะ หรือชลประทานย่อย ถือเป็นการระเบิดระบบเศรษฐกิจ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X