เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) มี ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการค่าจ้าง เป็นผู้ลงนาม ความว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566 และมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน
ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (3) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
- ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 370 บาท ในท้องที่จังหวัดภูเก็ต
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 363 บาท ในท้องที่กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 361 บาท ในท้องที่จังหวัดชลบุรี และระยอง
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 352 บาท ในท้องที่จังหวัด นครราชสีมา
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 351 บาท ในท้องที่จังหวัด สมุทรสงคราม
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 350 บาท ในท้องที่จังหวัดขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, เชียงใหม่, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 349 บาท ในท้องที่จังหวัดลพบุรี
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 348 บาท ในท้องที่จังหวัดนครนายก สุพรรณบุรี และหนองคาย
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 347 บาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ และตราด
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 345 บาท ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี, จันทบุรี, เชียงราย, ตาก, นครพนม, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, พิษณุโลก, มุกดาหาร, สกลนคร, สงขลา, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 344 บาท ในท้องที่จังหวัดชุมพร เพชรบุรี และสุรินทร์
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 343 บาท ในท้องที่จังหวัด นครสวรรค์ ยโสธร และลำพูน
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 342 บาท ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์, นครศรีธรรมราช, บึงกาฬ, เพชรบูรณ์ และร้อยเอ็ด
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 341 บาท ในท้องที่จังหวัดชัยนาท, ชัยภูมิ, พัทลุง, สิงห์บุรี และอ่างทอง
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 340 บาท ในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร, พิจิตร, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, ราชบุรี, ลำปาง, เลย, ศรีสะเกษ, สตูล, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 338 บาท ในท้องที่จังหวัดตรัง, น่าน, พะเยา และแพร่
- ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 330 บาท ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา
- เพื่อประโยชน์ตามข้อ 2 ถึงข้อ 18 คำว่า ‘วัน’ หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้าง ซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม
- 7 ชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
- 8 ชั่วโมง สำหรับงานอื่นซึ่งไม่ใช่งานตาม (1)
- ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ทั้งนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีใหม่ 2567 ได้ปรับขึ้นวันละ 2-16 บาท และทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 330 บาท ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ไล่ขึ้นไปจนถึงมากที่สุดเป็นวันละ 370 บาท ที่จังหวัดภูเก็ต และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
นายกฯ หนักใจขึ้นค่าแรงน้อย ไม่แฮปปี้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งถึงค่าแรงขั้นต่ำ ขณะพบสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลว่า ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องที่บั่นทอนจิตใจมากที่สุด
“เอาตรงๆ เลยนะ…เรื่องที่สะเทือนใจที่สุดคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เป็นเรื่องของไตรภาคี ผมไม่ได้เสียใจที่มีคนกล่าวหาว่านายกฯ ทำอะไรไม่ได้ พวกคุณจบมาย้อนหลังไป 10 ปี ถ้าเงินเดือนคุณ 15,000 บาท นั่นหมายความว่าเงินเดือนคุณจะขึ้นเป็น 17,000 บาท ตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี เพราะขึ้นแค่ 12% ทุกคนแฮปปี้หรือไม่”
ส่วนเหตุใดที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงปรับขึ้นค่าแรงได้นั้น นายกฯ กล่าวว่า สมัยก่อนกับสมัยนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป ซึ่งไม่แน่ใจว่า 9 ปีที่แล้วไตรภาคีมีอำนาจกับการปรับขึ้นค่าแรงหรือไม่ แม้ว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ก็จะผลักดันต่อไป
เศรษฐากล่าวอีกว่า เราอาจคุยในแต่ละสาขาอาชีพและให้แก้ไขกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องแก้ไขกฎหมายเป็นวิธีคิดซึ่งสามารถคิดได้ พร้อมย้ำว่าการขึ้นค่าแรงอยากให้นึกถึงใจเขาใจเรา เช่น เรียนจบมา 9 ปี ได้เงินเดือนมา 30,000 บาท มาถึงตอนนี้ได้เงินเดือนแค่ 33,700 บาท พอใจหรือไม่
กระทรวงแรงงานเตรียมตั้งอนุกรรมการไตรภาคี ศึกษาเชิงลึกเกณฑ์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ขณะที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ภายหลังถึงการนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งว่า ตนได้มีการหารือและขออนุญาตนายกรัฐมนตรีว่า ในวันที่ 17 มกราคม 2567 คณะกรรมการไตรภาคีจะมีการประชุมอีกครั้ง พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการไตรภาคีขึ้นมา เพื่อศึกษาลงไปในรายละเอียดถึงรายวิชาชีพ ระดับอำเภอ เทศบาล เนื่องจากหากมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายจังหวัด จะเป็นการสะท้อนภาพความจริงส่วนหนึ่ง และไม่เป็นจริงอีกหลายส่วน
เช่น กรณีทั้งจังหวัด เขตเทศบาล บางอำเภอ มีสภาวะเศรษฐกิจที่ดี แต่เมื่อออกนอกพื้นที่อำเภอหรือเทศบาลเมืองจะเข้าสู่สังคมชนบท ซึ่งเศรษฐกิจอาจไม่ได้ดีเหมือนที่เราเห็นในตัวจังหวัด ฉะนั้น จะมีการตั้งอนุกรรมการลงศึกษาในรายละเอียด ซึ่งจะสามารถสะท้อนพื้นที่และสาขาวิชาชีพได้สูงกว่าปัจจุบันนี้เป็นรายจังหวัด
ทั้งยังขอนายกรัฐมนตรีว่าจะมีการขอข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาพัฒน์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหลังจากที่คณะอนุกรรมการมีการประชุมพิจารณาแล้วเสร็จ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ภายในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อประกาศเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทย ซึ่งก็คือในช่วงเทศกาลสงกรานต์