×

Annihilation (2018) มิติพิศวง

26.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • หนังเรื่อง Annihilation ซึ่งดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ เจฟฟ์ แวนเดอร์เมียร์ เป็นหนังนิยายวิทยาศาสตร์ผสมกับหนังตื่นเต้นเขย่าขวัญ ในแง่ของวงศ์วานว่านเครือแล้ว หนังของการ์แลนด์สามารถจัดให้อยู่ในสายพันธุ์เดียวกับหนังตระกูล Alien และหนังเรื่อง Invasion of the Body Snatchers

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าถ้าหากจะมีคนดูกลุ่มไหนที่ชื่นชอบหนังเรื่อง Annihilation (2018) ของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ (Ex Machina) เป็นพิเศษ บางทีก็น่าจะได้แก่กลุ่มคนที่เป็นเนิร์ดทางด้านชีววิทยา เพราะนี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังที่ตัวเอกของเรื่องสวมเสื้อกาวน์เดินไปเดินมาแล้วบอกว่าตัวเองเป็นผู้สันทัดกรณีด้านพันธุกรรม แต่หนังชักชวนคนดูไปทำความรู้จักกับเรื่องของเซลล์ การแบ่งเซลล์ โครงสร้างด้านพันธุกรรม การกลายพันธุ์ของบรรดาสิ่งมีชีวิต การผสมข้ามสปีชีส์ และอื่นๆ น่าเชื่อว่าคนที่ร่ำเรียนมาทางนี้น่าจะสนุกกับสิ่งที่หนังบอกเล่ามากกว่าคนดูหนังตาดำๆ อย่างพวกเรา

 

แต่ขณะที่เนื้อหาบางส่วนของหนังอาจจะดูเหมือนย่อยยาก หรือแม้กระทั่งย่อยไม่ได้เลย มันก็ไม่ได้ถึงกับทอดทิ้งผู้ชมวงกว้างเสียทีเดียว ตรงกันข้าม ไม่น้อยกว่าครึ่งค่อนของหนังขับเคลื่อนด้วยฉากแอ็กชันหรือสถานการณ์ที่ชวนให้ตื่นเต้นระทึกขวัญ และเมื่อถึงห้วงเวลาที่ต้องอธิบายอะไรที่ดูเหมือนเป็นเรื่องซับซ้อนในทางวิชาการ คนทำหนังก็ฉลาดพอที่จะเชื่อมโยงให้สอดประสานไปกับแง่มุมทางด้านดราม่า หรือทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม

 

 

ยกตัวอย่างฉากที่ตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นนักชีววิทยาอธิบายถึงความจำเป็นที่เซลล์หนึ่งๆ ต้องแบ่งตัว-ให้คนรักของเธอฟังบนเตียงนอน ทำนองว่ามันไม่ใช่ลักษณะทางธรรมชาติเพื่อการอยู่รอดเพียงอย่างเดียว หากจริงๆ แล้วเป็นความบกพร่องของสิ่งที่เรียกว่ายีน ทีละน้อย วิธีการที่คนทำหนังเลือกนำเสนอก็แปรเปลี่ยนเรื่องที่น่าเบื่อกลายเป็นเลกเชอร์วิชาชีววิทยาเบื้องต้นที่เย้ายวนและเซ็กซี่ที่สุด และพร้อมๆ กันนั้นก็อธิบายหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับตัวละคร ตั้งแต่ ‘ความเชื่อ-ความไม่เชื่อ’ เรื่องพระเจ้า ไปจนถึงโมเมนต์สุดแสนส่วนตัวที่ตัวละครร่วมแบ่งปัน  

 

หรืออีกฉากหนึ่งที่ตัวเอกของเรื่องสอบถามหัวหน้าทีมสำรวจของเธอซึ่งเป็นนักจิตวิทยาและรู้จักกับคนรักของเธอ ถึงเหตุผลที่นำพาให้ชายหนุ่มขันอาสาเข้าร่วมปฏิบัติการที่ระดับความเสี่ยงใกล้เคียงกับการฆ่าตัวตาย หรือพูดง่ายๆ มีแต่คนที่สิ้นหวังหรือคนจำพวกที่ไม่มีใครหลงเหลือให้หวนกลับไปหาเท่านั้นที่จะยอมเข้าร่วมกิจกรรมพลีชีพแบบนี้

 

แทนที่คำตอบของนักจิตวิทยาจะให้ความกระจ่างอย่างตรงไปตรงมา กลับมีส่วนไม่มากก็น้อยกระตุ้นให้ผู้ชมสำรวจตรวจสอบตัวเอง นั่นก็คือบางทีการตัดสินใจทำอะไรห่ามๆ อาจไม่ใช่เรื่องของความอยากตาย แต่เป็นเรื่องของการทำร้ายตัวเอง (self destruction) ในลักษณะต่างๆ นานา และไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม (การดื่ม การเสพ หรือการมีความสุขกับอะไรบางอย่างมากเกินไปล้วนแล้วแต่เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำร้ายตัวเองทั้งสิ้น) ข้อสำคัญ การทำร้ายตัวเองเป็นรหัสทางพันธุกรรมที่ฝังอยู่ในเซลล์ของพวกเราทุกคน

 

 

ว่าไปแล้ว ความน่าสนุกและชวนติดตามของหนังที่เหมือนกับจะดูยากเรื่อง Annihilation อยู่ตรงนี้ แทนที่มันจะชักนำคนดูเตลิดเปิดเปิงไปไกลหลุดโลก กลับหันแสงสปอตไลต์มาช่วยสอดส่องให้พวกเรามองเห็นตัวเองในแง่มุมที่หลายคนอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน และพูดอย่างคนวิสัยทัศน์คับแคบ ข้อมูลของนักจิตวิทยาข้างต้นน่าจะช่วยให้การกินดื่มหรือการทำร้ายตัวเองในรูปแบบต่างๆ ครั้งต่อไปของพวกเรามีข้ออ้างและความชอบธรรมมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ความน่าเสียดายประการหนึ่งของหนังเรื่อง Annihilation ก็ตรงที่มันได้ฉายในโรงหนังเพียงแค่ในอเมริกา แคนาดา และจีนเท่านั้น และช่องทางการเผยแพร่ของหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่ รวมถึงในบ้านเราจะต้องดูผ่าน ‘บริการสตรีมมิง’ ทางช่องเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งก็เป็นดังที่หลายๆ คนพูดกันมาคนละหลายๆ รอบแล้วว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียของมัน

 

ข้อดีก็คือหนังสามารถเดินทางไปหากลุ่มผู้บริโภคได้ทั่วถึง ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยรอบฉาย และทั้งหมดขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของคนดู แต่ข้อขัดข้องโดยเฉพาะกรณีของ Annihilation ได้แก่ ตัวหนังถูกออกแบบให้ฉายในโรงภาพยนตร์โดยตรง หรืออีกนัยหนึ่ง สุนทรียะของหนังหลายๆ ช่วงเกี่ยวเนื่องอย่างยิ่งกับขนาดความใหญ่โตของจอภาพ หนึ่งในนั้นได้แก่ห้วงเวลาที่หนังพาผู้ชมไปสัมผัสกับ ‘ดินแดนแห่งความระยิบระยับ’ ซึ่งตกอยู่ภายใต้การยึดครองของมนุษย์ต่างดาว การดูหนังเรื่องนี้ผ่านจอโทรทัศน์หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ นานา ล้วนแล้วกระทบต่อความอลังงานสร้างและภาพอันน่าตื่นตาอย่างที่ไม่อาจจะหาอะไรมาชดเชย และลดทอนความน่าอัศจรรย์พันลึกของหนังอย่างน่าเสียดาย

 

 

หนังเรื่อง Annihilation ซึ่งดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ เจฟฟ์ แวนเดอร์เมียร์ เป็นหนังนิยายวิทยาศาสตร์ผสมกับหนังตื่นเต้นเขย่าขวัญ ในแง่ของวงศ์วานว่านเครือแล้ว หนังของการ์แลนด์สามารถจัดให้อยู่ในสายพันธุ์เดียวกับหนังตระกูล Alien ที่ว่าด้วยสิ่งแปลกปลอมจากนอกโลก และหนังเรื่อง Invasion of the Body Snatchers ซึ่งบอกเล่าเรื่องของมนุษย์ต่างดาวที่แอบแฝงเข้ามาอยู่ท่ามกลางมนุษยชาติอย่างซุกซ่อนและเงียบเชียบ

 

กระนั้นก็ตาม ส่วนประกอบที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครเหมือนและไม่เหมือนใครได้แก่การที่ตัวละครหลักประกอบไปด้วยผู้หญิงล้วน 5 คนในชุดคล้ายทหาร และพวกเธอสะพายปืนกลบุกตะลุยเข้าไปในรังของเอเลี่ยน หลังจากพวกผู้ชายล้มเหลวในปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่า โดยอ้อม นี่เป็นหนังที่พกพาอุดมการณ์เฟมินิสต์ติดตัวมาด้วยตามสมควร แม้ว่าประเด็นการกดขี่หรือความเหลื่อมล้ำจะไม่ได้ถูกเอ่ยถึงแต่อย่างใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาส่วนหนึ่งของหนังปะทุมาจากตัวละครที่เป็นผู้ชาย (ชายหนุ่มหายสาบสูญ อาจารย์หนุ่มผิวดำลักลอบมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับนางเอก)

 

ส่วนที่แยบยลมากๆ ก็ตรงที่หนังไม่ได้นำเสนอตัวเองในฐานะหนังแอ็กชันที่ตัวละครเป็นผู้หญิง พวกเราแทบไม่ได้เห็นด้านที่แข็งแกร่งหรือผาดโผนอย่างที่มักจะเป็นคุณสมบัติของหนังแนวนี้ เอาเข้าจริงๆ แล้ว ตัวละครหนึ่งในห้าถึงกับจำกัดความแทนทุกคนทำนองว่าพวกเขาล้วนแล้วเป็นเหมือนกับ ‘สินค้าที่ได้รับความเสียหาย’ และนั่นคือตอนที่คนดูได้รับการแนะนำอย่างย่นย่อว่าปมปัญหาของแต่ละคนคืออะไร (คนหนึ่งมีประวัติติดยา อีกคนสูญเสียความต้องการจะมีชีวิต หรืออีกคนเพิ่งจะพานพบความสูญเสียครั้งใหญ่หลวง) และไม่ว่า ‘บาดแผลเหล่านั้น’ จะเกี่ยวข้องกับเพศสภาพของตัวละครหรือไม่อย่างไร สิ่งที่ผู้ชมซึมซับได้ก็คือความเจ็บปวด ขื่นขม และเศร้าสร้อยที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่องราวของแต่ละคน และนี่เป็นอะไรที่ผู้ชมน่าจะไม่ได้พานพบหากหนังปรับเปลี่ยนตัวละครเป็นผู้ชาย

 

ไม่ว่าจะอย่างไร เป้าประสงค์หลักของทีมสำรวจ (ซึ่งนอกจากจะเป็นหญิงล้วน แต่ละคนยังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น นักชีววิทยา, นักจิตวิทยา, นักฟิสิกส์ ฯลฯ) ได้แก่ การไขปริศนาเกี่ยวกับประภาคารริมชายฝั่งซึ่งมีอุกกาบาตตกเมื่อ 3 ปีก่อน ผลพวงต่อเนื่องคือการที่มันก่อเกิดเป็นสนามแม่เหล็กที่อาณาบริเวณค่อยๆ ขยับขยายกว้างไกล ข้อสำคัญ ไม่เคยมีใครคนไหนที่เข้าไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุแล้วกลับออกมาได้สักคน ยกเว้นทหารหนุ่มที่ชื่อ เคน (ออสการ์ ไอแซก) คนรักของ ลีน่า (นาตาลี พอร์ตแมน) นักชีววิทยา ผู้ซึ่งภายหลังขาดการติดต่อไปนาน 1 ปีเต็ม จู่ๆ เขาก็ปรากฏตัวที่บ้านในสภาพที่จดจำอะไรไม่ได้ หรือในอีกคำอธิบาย เหมือนกับเป็นคนละคน

 

 

หนังเดินเรื่องผ่านมุมมองและการรับรู้ของลีน่า ผู้ซึ่งเข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้ในลักษณะตกกระไดพลอยโจน หมายความว่าความเชี่ยวชาญของเธอน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการค้นหาความจริง แต่ว่าไปแล้ว สถานการณ์เบื้องหน้า (ซึ่งผู้ชมต้องไปค้นหาเอาเอง) ก็ไม่อนุญาตให้เธอมีทางเลือกมากนัก กระนั้นก็ตาม อีกเหตุผลของการพาตัวเองมาเกี่ยวข้องคือการที่เธอเองก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามีของเธอ หรืออีกนัยหนึ่ง อะไรที่ทำให้เขาลงเอยในสภาพ ‘เช่นนี้’

 

และในขณะที่คำตอบนั้นยังเดินทางมาไม่ถึง ลีน่าและคนอื่นๆ ก็ต้องพบเจอกับเหตุอาเพศนานัปการในระหว่างบุกป่าฝ่าดง เช่น สัตว์ร้ายขนาดมหึมาที่คนดูเรียกไม่ถูกว่ามันคือตัวอะไร หรือต้นไม้ที่กิ่งก้านสาขางอกเงยคล้ายรูปร่างคน และนั่นยังไม่เอ่ยถึงเงื่อนงำอันน่าเคลือบแคลงสงสัยที่ทีมสำรวจก่อนหน้าทิ้งไว้ให้ทั้งหมดได้แกะรอย

 

สันนิษฐานได้ว่า ‘ความเหวอแ-ก’ เหล่านี้น่าจะสร้างความยุ่งยากในการติดตามให้กับผู้ชม เพราะมันดูหลุดโลก หรือแม้กระทั่งยากลำบากเกินกว่าที่จะกล้ำกลืน นั่นรวมถึงตอนจบที่เปิดกว้างสำหรับการอภิปราย แต่ในความน่าฉงนสนเท่ห์ของสิ่งที่หนังบอกเล่า เลกเชอร์เรื่องการแบ่งตัวของเซลล์ในตอนต้นก็หวนกลับมาเป็นสาระสำคัญ และนั่นรวมถึงการกลายพันธุ์เพื่อความเป็นหนึ่งและอยู่รอด หรือกล่าวอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าพวกเราจะเข้าใจสิ่งที่คนทำหนังถ่ายทอดแค่ไหนและอย่างไร ความน่าพิศวงจริงๆ ตามที่ปรากฏในหนังก็ไม่ใช่เอเลี่ยนหรือสิ่งแปลกปลอมจากนอกโลก เพราะนั่นเป็นเรื่องแฟนตาซีที่ยังคงพิสูจน์ไม่ได้ ทว่าได้แก่การชี้ชวนให้พวกเราได้ตระหนักถึงความลี้ลับของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเซลล์ ซึ่งนอกจากไม่หยุดนิ่งแล้วยังขยับเขยื้อน อีกทั้งยังแบ่งภาคและควบคุมไม่ได้ เหนืออื่นใด มันประกอบขึ้นเป็นตัวเรา

 

ไม่รู้ใครจะว่าอย่างไร ส่วนตัวคิดว่านี่เป็นหนังที่เปิดประสบการณ์และโลกทัศน์ของการเรียนรู้จริงๆ

 

 

Annihilation (2018)

กำกับ: อเล็กซ์ การ์แลนด์

นักแสดง: นาตาลี พอร์ตแมน, ออสการ์ ไอแซก, เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์, จีน่า ร็อดริเกซ, ฯลฯ

 

ตัวอย่างภาพยนตร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X