×

เลือกตั้งอินโดนีเซีย: เปิดประวัติ อานีส บาสวีดัน อดีตผู้ว่าฯ จาการ์ตา ชูจุดยืนไม่สานต่อนโยบายโจโกวี

โดย THE STANDARD TEAM
09.02.2024
  • LOADING...

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วัน อินโดนีเซียก็จะได้ผู้นำคนใหม่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ (หากไม่ยืดเยื้อ) เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องศึกเลือกตั้งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ THE STANDARD จะพาไปรู้จักผู้สมัครที่ได้รับการวางตัวเป็นเต็ง 2 อย่าง อานีส บาสวีดัน ผู้ประกาศจุดยืนไม่เอานโยบายโจโกวี

 

ในขณะที่ผู้สมัครอีกสองคนมีแนวโน้มสานต่อนโยบายส่วนใหญ่ของประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โจโก ‘โจโกวี’ วิโดโด หากพวกเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แต่ อานีส บาสวีดัน อดีตผู้ว่าฯ กรุงจาการ์ตา ประกาศตัวขอเป็นทางเลือกให้กับชาวอินโดนีเซียที่เบื่อหน่ายกับนโยบายของโจโกวีที่บริหารประเทศมาครบ 2 สมัยยาวนานถึง 10 ปี 

 

ผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำโดย Indikator Politik Indonesia เมื่อช่วงเดือนมกราคม เผยให้เห็นว่า อานีสได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ในบรรดาผู้สมัคร 3 คน ด้วยคะแนนสนับสนุนที่ 24.17% ตามหลัง ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหม แต่เหนือกว่า กันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าฯ จังหวัดชวากลาง ซึ่งมีคะแนนที่ 48.55% และ 21.6% ตามลำดับ 

 

การเลือกตั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเสียงข้างมากในการลงคะแนนเสียง ผู้สมัครที่ทำคะแนนสูงสุด 2 คนแรกก็จะต้องมาตัดเชือกชิงชัยกันในการเลือกตั้งรอบสอง (Runoff) ในวันที่ 26 มิถุนายน

 

“อินโดนีเซียกำลังอยู่บนทางแยก…ในการธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตย” อานีสกล่าวในโอกาสเดินทางลงพื้นที่หาเสียงที่เมืองบันดุง เมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก โดยเขาได้วิพากษ์วิจารณ์ความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพในการพูดภายใต้การปกครองของโจโกวี นอกจากนี้เขายังให้คำมั่นที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากระบบศักดินาและการเล่นพรรคเล่นพวก 

 

จากแวดวงวิชาการสู่สังเวียนการเมือง

 

อานีสวัย 54 ปี เกิดในครอบครัวนักวิชาการที่จังหวัดชวาตะวันตก ราไซอิด บาสเวดัน บิดาของเขา เป็นอาจารย์อยู่ที่ Indonesian Islamic University ส่วน อับดุลเราะห์มาน บาสเวดัน ปู่ของอานีส เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สนับสนุนอินโดนีเซียให้เป็นอิสระจากการปกครองอาณานิคมของดัตช์ อานีสเดินตามรอยบิดาด้วยการเข้าศึกษาต่อที่ University of Maryland และ Northern Illinois University ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในบ้านเกิด จนกระทั่งปี 2007 ขณะเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคที่ Paramadina University ในกรุงจาการ์ตา อานีสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีที่อายุน้อยที่สุดของมหาวิทยาลัยด้วยวัยเพียง 37 ปี

 

อานีสเริ่มสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการเปิดตัวมูลนิธิ Indonesia Teaching Foundation ในปี 2009 เพื่อมุ่งแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม โดยทางมูลนิธิจะส่งบัณฑิตระดับหัวกะทิของประเทศไปเป็นครูประจำโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ห่างไกลเป็นเวลาหนึ่งปี 

 

หลังจากชัยชนะสมัยแรกของโจโกวีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014 อานีสถูกชักชวนให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม แต่เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี เขาหันไปเข้าร่วมกับฝ่ายค้าน และชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงจาการ์ตาในปี 2017 ด้วยแรงสนับสนุนจากกลุ่มมุสลิมหัวอนุรักษ์ 

 

ครองใจปัญญาชน 

 

อานีสได้รับความนิยมในกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยครองคะแนนนิยม 36.9% เทียบกับปราโบโวซึ่งได้คะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้ 35.1% จากการสำรวจของ Indikator ที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม – 6 มกราคม 

 

“ในฐานะครู ดิฉันนับถือบุคคลที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา” สุลิสต์โยวาตี ผู้สนับสนุนวัย 66 ปี กล่าวกับ Nikkei Asia “อานีสพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขาประสบความสำเร็จในตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการ” เธอกล่าวเสริม

 

นพ.แบร์เลียน ไอดริส ผู้สนับสนุนอานีสอีกราย กล่าวว่า “วิธีที่เขาบริหารจัดการและยกย่องบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนั้นน่าประทับใจมาก” เขากล่าว ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ ในภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศจะเกิดขึ้นหากอานีสชนะเลือกตั้ง ‘เสรีภาพในการพูดจะได้รับการคุ้มครองและฝ่ายค้านจะไม่ถูกกีดกัน’

 

‘เปลี่ยน’

 

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของโจโกวีได้เปิดตัวนโยบายพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงแผนการย้ายเมืองหลวง ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายหลังมองว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับสวัสดิการสังคมหรือการกระจายรายได้ของประชาชนมากกว่า ซึ่งสิ่งนี้คือการ ‘เปลี่ยน’ ที่อานีสรณรงค์ผลักดันมาโดยตลอด

 

อานีสมีจุดยืนที่แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการย้ายเมืองหลวงของประเทศ ฝ่ายบริหารของโจโกวีวางแผนที่จะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปยังนูซันตารา ซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว โดยการย้ายเมืองหลวงจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้ ก่อนที่ฝ่ายบริหารชุดใหม่จะได้รับการแต่งตั้งเข้ารับหน้าที่ในเดือนตุลาคม 

 

อานีสวิพากษ์วิจารณ์โครงการย้ายเมืองหลวงในระหว่างการดีเบตครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม โดยเรียกโครงการนี้ว่า ‘ผลิตภัณฑ์ทางกฎหมายที่ไม่ผ่านการเสวนาสาธารณะอย่างครอบคลุม’ พร้อมกับเสริมว่า “เราเห็นความต้องการที่เร่งด่วนกว่าต่อหน้าต่อตาเรา อาคารเรียนหลายหลังที่เสียหายจำเป็นต้องได้รับการบูรณะ และการสร้างทางรถไฟหรือทางยกระดับที่เชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ในกาลิมันตันถือเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า แทนที่จะพัฒนาเฉพาะเมืองนูซันตารา”

 

นอกจากนี้ในระหว่างการร่วมงานประชุมงานหนึ่งซึ่งจัดโดย Center for Strategic and International Studies อานีสยังได้ตั้งคำถามถึงบทบาทของอินโดนีเซียบนเวทีโลกภายใต้รัฐบาลโจโกวี เขาวิจารณ์การทูตของอินโดนีเซียในปัจจุบันว่า “นิ่งเฉยเกินไปในการประชุมใหญ่ระดับนานาชาติ” พร้อมให้คำมั่นว่า หากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศ เขาจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอินโดนีเซียในการประชุมผู้นำโลกด้วยบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น 

 

“เราจะกอบกู้สถานะของอินโดนีเซียในฐานะนักแสดงนำบนเวทีระดับโลก” อานีสกล่าวย้ำในระหว่างการดีเบตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา

 

ภาพ: Dasril Roszandi / Anadolu via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X