วันนี้ (15 ตุลาคม) ที่อาคารรัฐสภา อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึง พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะจำเลยคดีตากใบของศาลจังหวัดนราธิวาส ที่ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย และพ้นสภาพ สส. โดยระบุว่า การลาออกเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาที่จะลาออกเพื่อหนีความผิดหรือหนีการขึ้นศาล
อย่างไรก็ตาม อังคณาย้ำว่า การลาออกดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้พรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต หรือรัฐบาลใดก็ตาม หมดภาระผูกพันในการให้ความยุติธรรมต่อประชาชนในคดีตากใบ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อนำตัวจำเลยทั้งหมดมาปรากฏต่อหน้าศาลก่อนคดีจะหมดอายุความ
อังคณากล่าวต่อไปว่า การลาออกของ พล.อ. พิศาล จะทำเมื่อไรก็ได้ แต่ว่าหน้าที่ของรัฐบาลยังอยู่ ขอความกรุณาให้รัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ทั้งหมด โดยยกตัวอย่างกรณีหลักการการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่วันนี้ประเทศไทยส่งไปให้หลายประเทศ หรือการออกหมายแดงโดยองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ INTERPOL
“วันนี้ศาลยังไม่ได้บอกว่าใครผิด ใครถูก แต่เป็นการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลจะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายก็เคารพ แต่ในวันนี้เรายังไม่เห็นความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการตามหลักสากลของการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน” อังคณากล่าว
อังคณาระบุว่า อย่างในกรณีของ พล.อ. พิศาล ซึ่งอ้างว่าป่วย รัฐบาลก็ต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วย แต่การนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลสามารถทำได้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่ว่าจะทำหรือไม่ทำเท่านั้น ส่วนตัวจึงอยากให้กำลังใจรัฐบาลไทยด้วย และมองว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจไทยมีความสามารถมากในการติดตามบุคคลต่างๆ รวมถึงสามารถดักฟังโทรศัพท์ได้ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความจริงใจ หรือมีเจตจำนงทางการเมืองในการนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทย
“หากรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย แต่พูดคำเดียวว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็ถือว่าน่าละอายมาก เท่ากับว่ารัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบ และปล่อยให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด” อังคณากล่าว
อังคณายังกล่าวถึงกรณีที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์บางครั้ง ส่วนตัวมองว่าบางเรื่องไม่ต้องพูดออกมาก็น่าจะดีกว่า เพราะพูดแล้วจะเป็นเหมือนการผลักภาระหรือปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งที่ความจริงรัฐบาลสามารถทำได้อยู่แล้ว และหากในนโยบายของรัฐบาลพูดถึงหลักนิติธรรม เรื่องนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องหลักนิติธรรมเพียงใด