วันนี้ (20 มกราคม) ที่อาคารรัฐสภา อังคณา นีละไพจิตร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา รับหนังสือจาก ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน สืบเนื่องจากกรณีของชาวอุยกูร์ 48 คน ที่ได้รับข้อมูลว่าจากโอกาสที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประเทศจีนเร็วๆ นี้ จึงเป็นกังวลว่าจะมีวาระการขอตัวชาวอุยกูร์ที่ตกค้างอยู่ในไทยกลับประเทศจีนด้วย จึงขอร้องเรียนดังนี้
1. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ เข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู รวมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และมีความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เป็นที่แน่ใจว่าจะไม่มีการผลักดันบุคคลเหล่านี้ไปเผชิญภัยอันตราย และไม่ทำการอันที่เป็นการขัดแย้งกับหลักการสากล และตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
2. ให้พิจารณาเสนอระเบียบ หรือนโยบายที่จำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการส่งบุคคลกลับไปเผชิญภัยอันตราย
3. เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณายุติการกักขังชาวอุยกูร์โดยไม่มีกำหนด และให้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนให้กับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลุ่มนี้
4. เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อประชาคมโลกในวาระที่ประเทศไทยได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้งหมดที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลไทย
ด้านอังคณากล่าวว่า ได้รับการประสานในเรื่องนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกรรมาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอเยี่ยมชาวอุยกูร์ และทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประสานว่าขอเลื่อนการเข้าเยี่ยมออกไป และ 1 สัปดาห์ถัดมากรรมาธิการได้ส่งหนังสือฉบับที่สอง แจ้งว่ากรรมาธิการรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม และจะขอเข้าเยี่ยมในวันที่ 22 มกราคม
“อย่างไรก็ดี สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งหนังสือตอบกลับกลับมา โดยเชิญกรรมาธิการไปพบที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ถนนแจ้งวัฒนะ ตรงนี้ผิดวัตถุประสงค์ของกรรมาธิการ เพราะต้องการไปเยี่ยมชาวอุยกูร์ และรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วันนี้จะส่งหนังสือถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีกครั้งหนึ่งเพื่อขอเข้าเยี่ยม” อังคณากล่าว
อังคณาระบุต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2558 มีชาวอุยกูร์ที่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ 300 คน เนื่องจากมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในประเทศต้นทาง จากนั้นมีการส่งผู้หญิงและเด็ก 170 คนไปประเทศตุรกี ต่อมามีการส่งชาวอุยกูร์ 109 คนกลับจีน คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 โดยในช่วงนั้นมีภาพข่าวปรากฏออกมาว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับถูกใส่กุญแจมือ ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อความไม่ปลอดภัย
สำหรับปัจจุบันยังเหลือชาวอุยกูร์ในประเทศไทยจำนวน 48 คน มี 43 คนอยู่ในห้องกัก และอีก 5 คนอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากมีความพยายามที่จะหลบหนี และที่ผ่านมากรรมาธิการได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีผู้ที่มีอาการป่วยหนัก รวมถึงมีผู้ที่อดอาหาร นอกจากนี้ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวอุยกูร์ที่กังวลต่อการถูกส่งตัวกลับด้วย
“เขาเชื่อมั่นว่าการถูกส่งกลับประเทศจีนจะทำให้เขาได้รับอันตราย จึงเป็นที่มาของการขอเข้าเยี่ยมของกรรมาธิการฯ ดิฉันเคยเข้าเยี่ยมชาวอุยกูร์หลายครั้งเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้รับโอกาสเข้าเยี่ยมมาตลอด แต่ในช่วงเดือนนี้ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าเยี่ยม อย่างไรก็ตามกรรมาธิการจะตรวจสอบเรื่องนี้โดยจะเชิญทุกภาคส่วนมาให้ข้อมูลในวันที่ 29 มกราคม จากนั้นจะมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” อังคณากล่าว
อังคณาย้ำด้วยว่า การผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทางอาจจะเป็นการละเมิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 รวมถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ ในบทที่ 16 ดังนั้นรัฐบาลจะต้องระมัดระวังในการกระทำที่อาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง