×

เปิดรายงานสังเกตการณ์การเลือกตั้งจาก ANFREL ชี้โปร่งใสกว่าปี 2019 มองไทยควรมีรัฐบาลที่สะท้อน ‘เจตจำนงของประชาชน’

18.05.2023
  • LOADING...

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network for Free Elections: ANFREL) เผยแพร่รายงานภายหลังส่งผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าสังเกตการณ์การลงคะแนนและการนับคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสมากกว่าในปี 2019 และชื่นชมการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำหรับการเผยแพร่ผลการนับคะแนนที่มีการพัฒนาขึ้นมาก

 

รายงานของ ANFREL ระบุว่า ความโปร่งใสที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการประกาศผลนับคะแนนที่น่าเชื่อถือ และการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นทั้งของภาคประชาสังคมและสื่อ ตลอดจนระบบการรายงานผลการเลือกตั้งใหม่ ที่เรียกว่า ECT Report ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ตรงเวลา แม่นยำ และเข้าถึงได้ง่าย แม้ว่าจะมีการรายงานข้อบกพร่องบางอย่างก็ตาม 

 

ทั้งนี้ ANFREL ได้ส่งผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจำนวน 41 คน ลงพื้นที่ 51 จังหวัดของไทย เพื่อสังเกตการณ์ตั้งแต่การหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการจัดเลือกตั้งล่วงหน้า โดยในวันเลือกตั้งมีการสังเกตการณ์ทั้งกระบวนการลงคะแนนและการนับคะแนนครอบคลุม 460 หน่วยเลือกตั้ง และพบว่ากระบวนการนับคะแนนเป็นไปอย่างเปิดเผย ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถเป็นพยานได้

 

การเลือกตั้งล่วงหน้า

 

สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า ANFREL ระบุว่ามีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิน้อยลงกว่าปี 2019 ราว 10% ซึ่งอาจเป็นเพราะระยะเวลาการลงทะเบียนที่สั้นลง แต่มองว่ากระบวนการลงคะแนนเป็นไปในเชิงบวก 

 

อย่างไรก็ตาม ทีมเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ระบุถึงข้อกังวลบางประการ เช่น

 

  • กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครที่ติดบนกระดานแจ้งข้อมูลผู้สมัคร

 

  • บัตรลงคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดเป็นแบบเดียวกันโดยไม่ระบุชื่อเขตเลือกตั้ง จึงเป็นความท้าทายในการตรวจสอบเขตเลือกตั้งของบัตรลงคะแนน และหน่วยเลือกตั้งบางแห่ง พบว่ามีการเขียนข้อมูลไปรษณีย์บนซองปิดผนึกไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งบัตรลงคะแนนล่วงหน้าผิดที่

 

  • มีการปรากฏตัวของตัวแทนพรรคและผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางแห่งเท่านั้น แม้จะจัดเตรียมที่นั่งไว้ให้ก็ตาม

 

  • ในหลายกรณี จำนวนบัตรลงคะแนนที่ใช้แล้วและไม่ได้ใช้ถูกเขียนและแก้ไขบนกระดาษตรวจสอบยอดรวมขั้นสุดท้าย โดยความไม่สอดคล้องบางประการที่สังเกตได้อาจเป็นผลมาจากคุณภาพและระยะเวลาของการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง

 

การมีส่วนร่วมขององค์กรสื่อและภาคประชาสังคม

 

สำหรับการมีส่วนร่วมขององค์กรสื่อและภาคประชาสังคม ANFREL ชื่นชม กกต. ที่พยายามจะแก้ไขปัญหาการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือการบิดเบือนข้อมูล ด้วยการตั้งคณะกรรมการต่อต้านข่าวปลอมขึ้นมา 

 

พร้อมกันนี้ยังได้เสนอแนะแนวทางเพื่อเพิ่มกลไกความโปร่งใสให้มากขึ้น เช่น การจัดเวิร์กช็อปสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งและภาคประชาสังคม เพื่อให้เข้าใจความหมายของข้อมูลที่ผิดและข้อมูลที่บิดเบือน และให้ความรู้ในการแยกแยะข้อมูลการเลือกตั้งที่เป็นข้อเท็จจริงกับข้อมูลปลอม

 

การจัดการเลือกตั้งและความโปร่งใส

 

รายงานของ ANFREL ยังชี้ถึงข้อกังวลอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งและความโปร่งใส เช่น 

 

  • ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศพบข้อกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับการแยกแยะและทำความเข้าใจข้อมูลการเลือกตั้ง

 

  • การฝึกอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) กระบวนการจัดการของ กปน. ในวันเลือกตั้งขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น การรักษาระยะห่างจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งขณะที่ลงคะแนน (หลักการรักษาความลับของบัตรเลือกตั้ง) การขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งถอดหน้ากากอนามัยออกเพื่อยืนยันตัวตน หรือการกรอกใบ ส.ส. 5/5 (ใบประกาศรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งก่อนการลงคะแนน) และ ส.ส. 5/18 (ใบรายงานผลการนับคะแนน)ซึ่ง ANFREL เชื่อว่าเป็นผลจากคุณภาพและระยะเวลาของการฝึกอบรม กปน.

 

ชื่นชม กกต. จัดการดีหลายด้าน

 

ทั้งนี้ ANFREL ยังได้แสดงความชื่นชมการจัดการการเลือกตั้งของ กกต. ในด้านอื่นๆ เช่น 

 

  • การส่งเสริมการเข้าถึงการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ครอบคลุมสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยการผลิตวิดีโอภาษามือสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน เอกสารการเลือกตั้งอักษรเบรลล์ และคู่มือบัตรลงคะแนนอักษรเบรลล์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น

 

  • การปรับปรุงกลไกในการให้ข้อมูลการเลือกตั้ง เช่น โปรแกรมการศึกษาของพลเมือง และการสร้างแอปพลิเคชัน SMART VOTE ซึ่งช่วยให้เข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง และข่าวการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น

 

  • การรายงานการซื้อเสียง ซึ่ง กกต. มีกลไกป้องกันควบคุมติดตามการทุจริตการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเงินอยู่แล้ว มีการตั้งรางวัลตอบแทนผู้แจ้งข้อมูลและมาตรการปกป้องตัวตน และเปิดตัวแอปตาสับปะรด เพื่อให้ประชาชนรายงานการทุจริตการเลือกตั้งทุกรูปแบบแก่ กกต. โดยส่งหลักฐานต่างๆ เช่น ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ

 

แต่ประเด็นการรายงานการซื้อเสียงยังมีข้อกังวลที่ทำให้ประชาชนไม่รายงานกรณีการซื้อเสียง ทั้งการขาดหลักฐานที่ชัดเจนและกังวลความปลอดภัย ซึ่ง ANFREL คาดหวังให้ กกต. สามารถใช้มาตรการคุ้มครองพยานที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ เช่น การรับข้อร้องเรียนโดยไม่เปิดเผยชื่อ และแจ้งให้สาธารณชนทราบเกี่ยวกับกลไกนี้ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการรายงานกรณีซื้อเสียงโดยปราศจากความกลัว รวดเร็ว มีการตอบสนอง และมีส่วนร่วมมากขึ้น

 

ไทยควรมีรัฐบาลที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน

 

ทั้งนี้ ANFREL ไม่ได้ให้ความเห็นต่อกรณีที่กำลังเป็นประเด็นภายหลังการเลือกตั้ง คือการที่พรรคชนะการเลือกตั้งต้องรวมเสียงทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง 

 

อย่างไรก็ตาม ANFREL ระบุในรายงาน โดยแสดงความคาดหวังว่าการเลือกตั้งทั่วไปของไทยครั้งนี้อาจส่งผลให้ไทยได้มีรัฐบาลที่สะท้อน ‘เจตจำนงของประชาชน’

 

นอกจากนี้ ANFREL ยังชี้ว่ากรอบกฎหมายของไทยต้องได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักสิทธิเลือกตั้งสากลอย่างเต็มที่

 

โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่ก็ปฏิเสธสิทธิในการลงคะแนนเสียงของผู้ต้องขัง โดยไม่คำนึงถึงสถานะการพิพากษาโทษ ซึ่ง ANFREL คาดหวังให้ไทยดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิทางการเมืองของประชากรทุกกลุ่ม

 

ภาพ: ANFREL

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising