×

Anatomy of a Scandal ตีแผ่แนวคิดอภิสิทธิ์ชนผ่านคดีนักการเมืองล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาว

21.04.2022
  • LOADING...
Anatomy of a Scandal

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • ผู้เขียนชอบบทสนทนาที่ดูเรียบง่ายแต่สะท้อนความคิดอภิสิทธิ์ชนและค่านิยมชายเป็นใหญ่ เช่น “ผู้ชายก็เป็นผู้ชายอยู่วันยังค่ำ” “ครั้งแรกไม่เป็นไร ครั้งที่สองไสหัวไป” หรือแม้แต่ที่สั่งสอนลูกๆ อย่าง “พวกเราคือไวต์เฮาส์ เราเป็นที่หนึ่งเสมอ” ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มันค่อยๆ สอดแทรกเข้าไปในระบบความคิดของเด็กๆ ว่าพวกเขาอยู่เหนือคนอื่นๆ
  • นอกจากนี้ Anatomy of a Scandal ยังทำให้เราเข้าใจว่าการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ ผู้กระทำอาจเป็นคนใกล้ตัวในคราบ ‘เทพบุตร’ และเกิดในความสัมพันธ์หลายรูปแบบ จึงทำให้คดีประเภทนี้มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน นำมาโต้ตอบกันในชั้นศาลที่ยากจะตัดสินใจว่าใครถูกหรือผิด
  • Anatomy of a Scandal ยังเล่าเรื่องผ่านเกมการเมืองและกลไกการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นสูงที่ยากจะทลายลงได้ รวมทั้งโครงสร้างของสังคมที่หล่อหลอมให้เราพร้อมยอมรับการกดขี่ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกับผู้หญิง และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น บางครั้งผู้หญิงเองนี่แหละที่ถ่ายทอดแนวความคิดนั้นๆ ต่อไปสู่คนอีกรุ่นโดยไม่รู้ตัว

 

​มาถูกที่ถูกเวลาราวกับนัดกันไว้ สำหรับซีรีส์แนว Courtroom Drama สัญชาติอังกฤษ จาก Netflix เรื่อง Anatomy of a Scandal เพราะเป็นช่วงเดียวกับข่าวอดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อดังถูกหญิงสาว 15 ราย แจ้งข้อหาล่วงละเมิดทางเพศพอดี ซึ่งนอกจากจะว่าด้วยความอื้อฉาวของคดีดังแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังพาเราเข้าไปล้วงลึกถึงแนวความคิดของอภิสิทธิ์ชน การปลูกฝังค่านิยมชายเป็นใหญ่ และแค่ไหนถึงจะเรียกว่าการล่วงละเมิดทางเพศ

 

​Anatomy of a Scandal ว่าด้วยเรื่องของ เจมส์ ไวต์เฮาส์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็น ส.ส. ที่ทรงเสน่ห์ที่สุดของอังกฤษ ด้วยความพรั่งพร้อมทั้งชาติตระกูล รูปร่างหน้าตา การศึกษา และสถานะทางสังคม เรียกได้ว่าเป็น ‘ลูกรักของพระเจ้า’ เลยก็ว่าได้ เขาแต่งงานและมีครอบครัวที่อบอุ่นกับ โซฟี หญิงสาวที่สมบูรณ์แบบไม่แพ้กัน แต่แล้ววันหนึ่งเจมส์ก็ถูกดำเนินคดีข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเพื่อนร่วมงาน แล้วยกระดับเป็นคดีข่มขืน เมื่อคู่กรณีคิดว่าการกระทำที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ นำไปสู่การไขความลับในอดีตและกะเทาะแนวคิดของชนชั้นอีลีทที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

 

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์

 

​ในช่วงแรกซีรีส์พาเราเข้าไปสัมผัสชีวิตนางฟ้าตกสวรรค์ของโซฟี ที่คิดเสมอว่าตนแต่งงานกับผู้ชายที่แสนดี แม้จะถูกหักหลังแต่ก็ยังต้องอดทนรับสภาพเพื่อรักษาสถานะของทั้งตนเองและสามีเอาไว้ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้โซฟีเริ่มมองลึกไปในรายละเอียดของสังคมที่เธออยู่ รวมทั้งตัวตนที่แท้จริงของสามีด้วย 

 

 

ผู้เขียนชอบบทสนทนาที่ดูเรียบง่ายแต่สะท้อนความคิดอภิสิทธิ์ชนและค่านิยมชายเป็นใหญ่ เช่น “ผู้ชายก็เป็นผู้ชายอยู่วันยังค่ำ” “ครั้งแรกไม่เป็นไร ครั้งที่สองไสหัวไป” หรือแม้แต่ที่สั่งสอนลูกๆ อย่าง “พวกเราคือไวต์เฮาส์ เราเป็นที่หนึ่งเสมอ” ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มันค่อยๆ สอดแทรกเข้าไปในระบบความคิดของเด็กๆ ว่าพวกเขาอยู่เหนือคนอื่นๆ

 

ขณะที่ตอนกลางของเรื่องถ่ายทอดความเข้มข้นของคดีการล่วงละเมิดทางเพศ และตั้งคำถามกับคนดูถึงนิยามที่แท้จริงของการล่วงละเมิดว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน และจำเป็นไหมที่จะต้องเกิดขึ้น ‘ก่อน’ แล้วถ้าหากเราอยากปฏิเสธ ‘ระหว่าง’ นั้นล่ะ จะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดหรือเปล่า? ในเรื่องยังแสดงให้เห็นถึงความกระอักกระอ่วนใจของเหยื่อที่ต้องตอบคำถามแทงใจแบบเดิมๆ ซ้ำๆ จนเข้าใจได้ว่าเพราะอะไรเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศมักต้องใช้เวลาตัดสินใจกว่าที่จะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

 

นอกจากนี้ Anatomy of a Scandal ยังทำให้เราเข้าใจว่าการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ ผู้กระทำอาจเป็นคนใกล้ตัวในคราบ ‘เทพบุตร’ และเกิดในความสัมพันธ์หลายรูปแบบ จึงทำให้คดีประเภทนี้มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน นำมาซึ่งการโต้ตอบกันในชั้นศาลที่ยากจะตัดสินใจว่าใครถูกหรือผิด

 

 

ส่วนในพาร์ตสุดท้ายคือการตีแผ่ให้เห็นแนวคิดที่บิดเบี้ยวของชนชั้นอภิสิทธิ์ แม้จะไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่สะท้อนออกมาด้วยคำพูดและวิธีคิดต่างๆ ของ เจมส์ ไวต์เฮาส์ ที่มักคิดเข้าข้างตัวเองว่ารูปร่าง หน้าตา ฐานะ และเสน่ห์ของเขายากที่ผู้หญิงคนไหนจะปฏิเสธ จนใช้สิ่งเหล่านี้บังคับขืนใจผู้หญิงเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้ตัวเองโดยไม่รู้สึกผิดบาปกับการกระทำของตนเองเลยสักนิด

 

นอกจากสามประเด็นหลักในเรื่องแล้ว Anatomy of a Scandal ยังเล่าเรื่องผ่านเกมการเมืองและกลไกการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นสูงที่ยากจะทลายลงได้ รวมทั้งโครงสร้างของสังคมที่หล่อหลอมให้เราพร้อมยอมรับการกดขี่ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกับผู้หญิง และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น บางครั้งผู้หญิงเองนี่แหละที่ถ่ายทอดแนวความคิดนั้นๆ ต่อไปสู่คนอีกรุ่นโดยไม่รู้ตัว ส่วนอีกความโดดเด่นที่ช่วยเสริมการเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดีก็คือการตัดต่อและงานด้านภาพที่เหมือนแทนสายตาคนดูเข้าไปสู่จินตนาการและความรู้สึกของตัวละคร อย่างฉากที่โซฟีเข้าไปเห็นภาพสามีมีอะไรกับผู้หญิงอื่น ซึ่งหากใครเคยถูกนอกใจย่อมรู้ดีว่าภาพเหล่านี้จะผุดเข้ามาในความคิดของเราเสมอ รวมทั้งการตัดสลับภาพปัจจุบันกับภาพในอดีตแบบกระชับ ฉับไว ลงลึกไปถึงความนึกคิดของตัวละครในช่วงเวลานั้นๆ แบบกึ่งฝันกึ่งจริง รวมทั้งใช้เทคนิคละครเวทีเข้ามาเพิ่มอรรถรสในการเล่าเรื่องได้อย่างลงตัว

 

 

แม้เนื้อหาจะเข้มข้นและดูซีเรียส แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับเล่าผ่านมุมมองเพื่อนหญิงพลังหญิงที่ยังมีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน แม้คนคนนั้นจะเป็นชู้รักของสามีตัวเอง และความเข้าใจความรู้สึกของคนที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ ดูไปก็คล้ายกับซีรีส์เรื่อง Doctor Foster (หรือ A World of Married Couple เวอร์ชันอังกฤษ) ภาคเมียนักการเมือง ชวนค้นหา น่าติดตาม และมีความดราม่าแบบถึงเครื่องทีเดียว

ไม่ว่าจะอินกับคดีดังในเมืองไทยหรืออยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับคดีการล่วงละเมิดทางเพศ ก็ขอแนะนำให้ชม Anatomy of a Scandal แม้จุดจบของคดีอาจไม่โดนใจ แต่มันสะท้อนมุมมองความเป็นจริงของสังคมที่เราเป็นอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้

 

ภาพ: NETFLIX

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising