วันนี้ (20 ตุลาคม) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันทำบุญออกพรรษาในแต่ละปี ประชาชนยังคงนิยมไปวัดทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงต้องระมัดระวังตนเองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดได้ง่าย จึงอาจจะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นให้ลูกหลานใช้สื่อออนไลน์ในการเข้าร่วมกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุแทนการเข้าวัด เช่น การฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมทางศาสนาแบบออนไลน์ หรือการบริจาคปัจจัยผ่าน QR Code เพื่อลดการสัมผัสกับธนบัตร เหรียญ หรือสิ่งของบริจาคต่างๆ และลดจำนวนผู้เข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนา
สำหรับวัดและกลุ่มประชาชนทั่วไปยังคงขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัดทั้ง 3 ด้าน คือ
ด้านที่ 1: COVID Free Environment สิ่งแวดล้อมปลอดภัย โดยควบคุมการเข้า-ออก มีจุดคัดกรอง และจุดบริการล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล พร้อมจัดให้มีหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ใช้ระยะเวลาในการจัดงานให้สั้นที่สุด ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น เก้าอี้ ราวจับ ประตู ลิฟต์ หรือพื้นผิวสัมผัสอื่นๆ ทุก 30 นาที และทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนและหลังการจัดงาน จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีใช้ระบบปรับอากาศให้เปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศ ก่อนและหลังให้บริการอย่างน้อย 30 นาที และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 3 เดือน ทำความสะอาดห้องสุขา โดยเน้นจุดสัมผัสร่วม ทุก 1-2 ชั่วโมง และหลังจัดงาน จัดให้มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอยที่มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอ มีการคัดแยกประเภทขยะมูลฝอย และรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลทุกวัน
ด้านที่ 2: COVID Free Personnel ผู้จัดงานหรือเจ้าภาพ ผู้ประกอบพิธีหรือผู้นำพิธี และพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการจัดงาน ควรได้รับการฉีดวัคซีนครบอย่างน้อย 14 วัน หรือกรณีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ให้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี ATK ภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนการจัดงาน หากเคยติดเชื้อโควิดและรักษาหายแล้วในช่วง 1-3 เดือน ต้องมีใบรับรองแพทย์ โดยไม่ต้องตรวจ ATK หรือวิธี RT-PCR ซ้ำ ก่อนเข้าพื้นที่จัดงานให้ลงทะเบียน ตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย หากไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้ติดสัญลักษณ์แสดงการคัดกรอง ‘ผ่าน’ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และลงทะเบียนโดยใช้แอปพลิเคชันตามที่ราชการกำหนด สแกน QR Code สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน และแบบลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
ด้านที่ 3: COVID Free Customer ให้ผู้เข้าร่วมงานไม่เกินร้อยละ 50 ของพื้นที่จัดงานสำหรับสถานที่ปิด และร้อยละ 75 สำหรับสถานที่เปิด ผู้เข้าร่วมงานต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ ลงทะเบียนก่อนเข้าและออกสถานที่โดยการใช้แอปพลิเคชันตามที่ราชการกำหนด สแกน QR Code สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน และแบบลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน กำหนดจุดวัดอุณหภูมิคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน หากอุณหภูมิไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ผู้เข้าร่วมงานจะได้สัญลักษณ์ที่อนุญาตให้ผ่านเข้าไปในงานได้ ให้ประเมินตนเองโดยใช้แอปพลิเคชัน ‘ไทยเซฟไทย’ ก่อนเข้าบริเวณการจัดงาน
“สำหรับงานบุญออกพรรษา หากมีการโปรยทาน ขอให้มีคนควบคุมการเว้นระยะห่างระหว่างประชาชนที่มารอรับการโปรยทาน และที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมงานควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด เมื่อกลับถึงบ้านต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที” นพ.สุวรรณชัย กล่าว