ไขคำตอบ กนง. ให้ความสำคัญกับปัจจัยใดมากที่สุดในการพิจารณาดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า หลัง กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.6% ลดลงจากค่ากลางในการประมาณการครั้งก่อนที่ 2.75%
ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุในแถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 10 เมษายน 2567 ว่าปัจจัยสำคัญในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือ ‘เศรษฐกิจภาพรวม’ พร้อมทั้งระบุว่า “ถ้าเศรษฐกิจภาพรวมเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะต้องปรับ”
อย่างไรก็ดี ปิติระบุว่า การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องมองไปถึงเศรษฐกิจปีหน้าด้วย เนื่องจากไทยอยู่ในเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก
พร้อมทั้งยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีทั้งความเสี่ยงด้านสูงและความเสี่ยงด้านต่ำ โดย ‘ความเสี่ยงด้านสูง’ ได้แก่ อุปสงค์ในประเทศขยายตัวสูงกว่าคาด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่าคาด
ขณะที่ ‘ความเสี่ยงด้านต่ำ’ ได้แก่ การเบิกจ่ายภาครัฐหลัง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีผลบังคับใช้อาจเร่งได้น้อยกว่าคาด และผลดีจากการฟื้นตัวของการค้าโลกต่อภาคการส่งออกอาจน้อยกว่าคาดจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
สำหรับการประเมิน Neutral Rate เพื่อพิจารณาจุดยืนทางนโยบายการเงิน ปัจจุบันคณะกรรมการฯ ใช้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีสูง
นอกจากนี้ “จากการประเมินศักยภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่า Potential GDP Growth ของไทยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด แต่ไม่ได้ลดในอัตราที่เยอะมาก ราว 0.1-0.2% ต่อปีเท่านั้น ทำให้กระทบกับ Neutral Rate ในระยะปานกลางไม่เยอะ” ปิติระบุ
เงินเฟ้อระยะปานกลางยังมีแนวโน้มเข้ากรอบ
สำหรับปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ ปิติยืนยันต่อว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบมาหลายเดือนส่วนใหญ่เป็นปัจจัยมาจากฝั่งอุปทานและมาตรการภาครัฐ ซึ่งไม่ได้สะท้อนมาจากอัตราดอกเบี้ยหรืออุปสงค์โดยรวม
โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาแนวโน้มเงินเฟ้อระยะปานกลางมากกว่า เนื่องจากเป้าหมายของนโยบายการเงินคือการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อระยะปานกลาง ซึ่งยังมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% อยู่
นอกจากนี้ปิติยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้สูงมากยังเป็นผลดีต่อประชาชนในด้านค่าครองชีพอีกด้วย
Fed ไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะทำให้ลดอัตราดอกเบี้ย
ปิติกล่าวอีกว่า แม้การเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีจุดแข็งคือความเปราะบางต่ออัตราแลกเปลี่ยนมีไม่เยอะ และยังมีกันชน (Buffer) อยู่ในระดับดี มีทุนสำรองต่างประเทศอยู่ในระดับสูง
ประเมินผลมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และดิจิทัลวอลเล็ต
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น อยู่ที่ 2.6% และ 3.0% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
อัตราดังกล่าวนับว่าต่ำกว่าการประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาอาจกระตุ้น GDP ได้ถึง 1.7-1.8% และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.2-1.6% จากประมาณการ GDP ล่าสุดของ สศค. (เมื่อไตรมาส 1) อยู่ที่ 2.8% (ค่ากลาง) ไม่รวม 2 โครงการด้านบน
โดยปิติระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวได้ลองนำมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลใส่เข้ามาแล้วคำนวณเป็นฉากทัศน์แล้ว
“ภาคอสังหาคาดว่าจะมีแรงกระตุ้นบ้างแต่ไม่ได้เยอะ ส่วนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปลายปี 2567 ผลต่อเศรษฐกิจจึงคาดว่าจะเกิดในปี 2568 มากกว่า นอกจากนี้ผลทางเศรษฐกิจจากการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็อาจถูกลดทอนจากการซื้อของต่างประเทศ ดังนั้นผลโดยรวมไม่ได้กระทบต่อการกำหนดนโยบาย และ ธปท. ยังต้องดูรายละเอียดที่เพิ่งแถลงอีกครั้ง” ปิติระบุ
ปิติยังระบุอีกว่า ในการพิจารณานโยบายการเงินได้คำนึงถึงแรงกระตุ้นและแรงฉุดจากภาครัฐเสมอ พร้อมเห็นด้วยว่านโยบายการเงินและการคลังควรสอดประสานกัน อย่างไรก็ดี กนง. มองว่าจุดยืนทางนโยบายปัจจุบันเอื้อต่อการฟื้นตัวระยะยาว ไม่ได้ฉุดรั้งกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปสู่ระดับศักยภาพ (Potential GDP)
“หากภาคการคลังจะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจก็ถือว่าสอดคล้องกับระดับดอกเบี้ยปัจจุบัน แต่ไม่คิดว่านโยบายการเงินและการคลังต้องมาเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกับช่วงที่เกิดโควิด” ปิติกล่าว
กรุงศรียังเชื่อ กนง. อาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้
รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จากท่าทีของ กนง. ในการประชุมรอบนี้มีแนวโน้มที่จะ ‘ตรึงดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้’
“คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเอื้อต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน และมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง แม้ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นทางการคลัง”
อย่างไรก็ตาม กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ยังคงมองว่ามีความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายราว 2 ครั้งภายในปีนี้ โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีอาจอยู่ที่ 2.00% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่กระทบแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ