×

วิเคราะห์เลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อ ‘บลูเวฟ’ มา ส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร หุ้นกลุ่มอะไรโดดเด่น

07.01.2021
  • LOADING...
วิเคราะห์เลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อ ‘บลูเวฟ’ มา ส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร หุ้นกลุ่มอะไรโดดเด่น

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • ผลเลือกตั้ง ส.ว. สหรัฐฯ ล่าสุด ส่งผลให้เกิดกรณี Blue Wave คือ พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่างของสหรัฐฯ 
  • หุ้นที่ตอบรับเชิงบวกต่อผลเลือกตั้งดังกล่าว คือ กลุ่มหุ้นวัฏจักร หรือกลุ่ม Value เช่น ธนาคาร และพลังงาน สวนทางกับหุ้น Growth อย่างกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลง 
  • ในระยะสั้นเม็ดเงินลงทุนมีโอกาสไหลเข้าเอเชีย แต่ระยะยาวมีความเสี่ยงจะไหลกลับไปยังสหรัฐฯ หากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับขึ้นต่อเนื่อง และกดดันให้ Earning Yield Gap แคบลง 
  • หุ้นไทยบางส่วน เช่น IVL และ BANPU มีความเสี่ยงต่อกำไรในอนาคต หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีธุรกิจจาก 21% เป็น 28% 
  • จากสถิตินับแต่ปี 2494-2553 เกิดกรณี Blue Wave ทั้งหมด 18 ครั้ง ตลาดหุ้นตอบรับในเชิงบวกถึง 14 ครั้ง และให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.1% ต่อปี 

หลังจากผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ว. ในรัฐจอร์เจียได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าพรรคเดโมแครตเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะทั้ง 2 ที่นั่ง ทำให้ที่นั่งรวมของพรรคเดโมแครตในสภาสูงเมื่อรวมกับสมาชิกพรรคอิสระที่มักโหวตเอนเอียงไปกับเดโมแครตอีก 2 ท่าน จะได้เท่ากับ 50 ที่นั่ง เท่ากับทางฝั่งของพรรครีพับลิกัน

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากผลดังกล่าวหมายความว่า คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี จะเป็นผู้ชี้ขาดการลงคะแนนเสียงของสภาสูง หากมีการโหวตร่างกฎหมายใดแล้วผลลงเอยที่ 50 ต่อ 50 ซึ่งนั่นเปรียบเสมือนกับกรณี Blue Wave ได้เกิดขึ้นกลายๆ แล้วนั่นเอง

 

สำหรับผลกระทบต่อการลงทุน ทางฝั่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ที่เราเห็นการปรับตัว Outperform ของกลุ่มหุ้นวัฏจักร (Cyclical) อย่างชัดเจน เช่น ธนาคาร พลังงาน จากความคาดหวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

สวนทางกับทางด้านกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีที่เผชิญแรงเทขายอย่างมีนัยสำคัญ จากความกังวลการปรับเพิ่มภาษีธุรกิจ (Corporate Income Tax) ด้วยส่วนหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลทำให้ดัชนี NASDAQ ปรับตัวลงสวนทางกับดัชนีสำคัญอื่นๆ โดยล่าสุดดัชนี Dow Jones +1.44%, ดัชนี S&P500 +0.57% ส่วนดัชนี NASDAQ -0.61%

 

สำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสินทรัพย์อื่นเป็นไปตามที่เราประเมินไว้ก่อนหน้านี้ คือ การปรับตัวขึ้นอย่างสำคัญของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวทะลุระดับ 1% ส่งผลให้ความชัน Yield Curve สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น (Reflation Trade) ภายหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

ส่วนผลกระทบต่อค่าเงิน ในส่วนของเงินดอลลาร์ปรับตัว ‘อ่อนค่า’ ทำจุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาทน่าจะยังทรงตัว ‘แข็งค่า’ ต่อไป และเป็นการเปิดความเสี่ยง (Downside Risk) ให้กับภาคการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป 

 

สำหรับกลุ่มหุ้นที่ได้ผลกระทบเชิงบวก ยังคงมองกลุ่มโรงไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกเป็นกลุ่มเด่น จากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากได้ประโยชน์จากทิศทางเงินบาทที่อาจทรงตัวแข็งค่าต่อไป และยังอาจได้ Sentiment เชิงบวกจากธีมการลงทุน Green Energy ที่เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเดโมแครตชุดนี้ 

 

แต่จากการที่หุ้นขนาดใหญ่หลายตัวในกลุ่มปรับขึ้นร้อนแรงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เราจึงแนะนำมองหาหุ้นในกลุ่มที่ยังคงปรับตัว Laggard เพื่อป้องกันความเสี่ยงการเผชิญแรงขายทำกำไรที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) และ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง (TPCH) เป็นต้น

 

วิเคราะห์เลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อ ‘บลูเวฟ’ มา ส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร หุ้นกลุ่มอะไรโดดเด่น

 

> Fund Flow ไหลเข้าไทยช่วงแรก แต่อาจไหลกลับสหรัฐฯ ในระยะถัดไป

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า ในระยะแรก คาดเป็นปัจจัยบวกต่อ Fund Flow ของตลาดทุนเกิดใหม่ทั้งในส่วนของตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น โดยในตลาดตราสารหนี้ คาดเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินบางส่วนออกจากตราสารหนี้สหรัฐฯ จากความคาดหวังบอนด์ยีลด์ที่ปรับสูงขึ้น เข้าสู่ตราสารหนี้เกิดใหม่บางส่วน

 

สำหรับตลาดหุ้น คาดว่าจะเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินบางส่วนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนอาจกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจปรับเพิ่มภาษีบางรายการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงถัดไปอาจต้องจับตาว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะเร่งตัวขึ้นมากหรือไม่ ซึ่งถ้าหากดีดตัวสูงขึ้นอย่างสำคัญ อาจส่งผลให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยเมื่อเทียบสหรัฐฯ จะปรับลดลงได้ ลดทอนความน่าสนใจของการทำ USD Carry Trade เข้ามาสู่ตราสารหนี้ไทย

 

ส่วนทางฝั่งของตลาดหุ้นนั้น มองการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลง ผ่านมิติของ Earning Yield Gap ที่ปรับลงด้วยเช่นกัน

 

> สถิติชี้กรณี Blue Wave ช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ เฉลี่ย +9.1% ต่อปี 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากสถิตินับแต่ปี 2494-2553 กรณีของ Blue Wave เคยเกิดขึ้นแล้วทั้งหมด 18 ครั้ง ซึ่งจาก 18 ครั้งที่ผ่านมา มีเพียง 4 ครั้งที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) ให้ผลตอบแทนเป็นลบ ส่วนค่าเฉลี่ยผลตอบแทนหลังจากเกิด Blue Wave ดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.1% ต่อปี 

 

“จากสถิติที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเกิด Blue Wave ไม่ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง แต่จะทำให้เกิดการหมุน (Rotation) เงินลงทุนจากกลุ่มหุ้น Growth อย่างกลุ่มเทคโนโลยี ไปสู่หุ้นกลุ่ม Value เช่น พลังงาน ธนาคาร และค้าปลีก ส่วนสถิติต่อตลาดหุ้นไทยนั้นไม่ได้มีตัวเลขแน่ชัด แต่ที่ผ่านมาหากปีใดตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้นแรง ก็มีแนวโน้มที่จะตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นด้วยไม่มากก็น้อย”

 

โดยรวมเชื่อว่ากรณี Blue Wave ครั้งนี้ จะส่งผลบวกต่อหุ้นเอเชียรวมถึงตลาดหุ้นไทย จากการที่พรรคเดโมแครตมีนโยบายสนับสนุนการค้าทั่วโลก และโอกาสที่ภาษีในสหรัฐฯ จะถูกปรับขึ้นในปีหน้า ขณะเดียวกันการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีโอกาสทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นในเอเชีย 

 

> หุ้นไทยที่มีฐานผลิตในสหรัฐฯ อาจถูกกระทบจากการขึ้นภาษี

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า กรณีของ Blue Wave ทำให้สหรัฐฯ อาจจะปรับภาษีขึ้นในปี 2565 ทำให้ S&P 500 อาจจะมี Downside ราว 9-11% โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีสัดส่วนกำไรก่อนภาษี (EBIT) สูงสุดในกลุ่ม

 

อย่างไรก็ดี เรามีมุมมองเชิงบวกต่อฝั่งสหรัฐฯ มากกว่า โดยจะเห็นว่าหุ้นในกลุ่มแบงก์และกลุ่มอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ปรับขึ้น เป็นผลจากประเด็นสำคัญคือ นักลงทุนคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างมีนัยสำคัญราว 4-5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงที่ โจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเกิดความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้เม็ดเงินลงทุนมีโอกาสจะสลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มหุ้น Value และก็อาจจะทำให้หุ้น Value ในเอเชียรวมถึงในไทยอาจจะได้รับผลบวกทางอ้อมไปด้วย

 

ในมุมกลับกัน หุ้นอย่าง บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) และ บมจ.บ้านปู (BANPU) มีความเสี่ยงจากเรื่องของการขึ้นภาษีในสหรัฐฯ หากมีการปรับภาษีขึ้นจาก 21% เป็น 28% ในปี 2565 เป็นต้นไป จะกระทบต่อกำไรของ IVL ราว 5% หรือประมาณ 520 ล้านบาท ขณะที่ BANPU ซึ่งมีธุรกิจ Shale Gas จะได้รับผลกระทบกำไรราว 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรของ BANPU ราว 10% 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising