ภาพของหุ้นกลุ่มที่พึ่งพิงการท่องเที่ยว อย่างธุรกิจโรงแรมและสายการบิน ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2564 ราคาหุ้นในกลุ่มเหล่านี้ถือว่าฟื้นตัวขึ้นได้ค่อนข้างโดดเด่นเทียบกับภาพรวมของตลาด หลังจากที่ช่วงปีก่อนหน้านี้ถูกกดดันอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
จะเห็นได้จากดัชนีของกลุ่มท่องเที่ยว (TOURISM) ซึ่งประกอบไปด้วยโรงแรมต่างๆ ฟื้นตัว +23% นำโดย 3 หุ้นหลัก ได้แก่ CENTEL +44%, SHR +35% และ ERW +22% ขณะที่อีกหนึ่งหุ้นที่ทำธุรกิจโรงแรมอย่าง MINT ฟื้นตัว +20%
ตัดภาพมาที่หุ้นสายการบิน BA ฟื้นตัว +32%, THAI +29%, AAV +18% ส่วน AOT ที่ฟื้นตัวน้อยสุด +8% ก็ยังสามารถทำได้ดีกว่า SET ที่ +7.9%
การฟื้นตัวของหุ้นสองกลุ่มนี้ได้แรงหนุนจากความคาดหวังต่อการอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการกระจายวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่
ขณะที่ในไทยเริ่มเห็นมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเปิดประเทศในปีนี้ อย่างการเปิดให้ต่างชาติที่มีใบรับรองฉีดวัคซีนลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน ส่วนผู้ที่ไม่มีใบรับรองให้ลดเวลากักตัวเหลือ 10 วัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ นอกจากนี้ คาดว่าในบางพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต จะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะถัดไป
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของผลประกอบการของแต่ละบริษัทอาจจะยังไม่เร็วนัก ศุภชัย วัฒนวิเทศกุล บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า หากจำกันได้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองในประเทศ ทำให้ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มโรงแรม รวมถึงสนามบินอย่าง AOT น่าจะแย่ลงอีกในไตรมาส 1 ปีนี้ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากปกติ 40 ล้านคน ปัจจุบันอาจจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์
แต่เมื่อมองไปยังราคาหุ้นในกลุ่มนี้จะเห็นว่าปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 เพียง 20-30% ก็ต้องยอมรับว่าราคาหุ้นปรับขึ้นมาค่อนข้างเร็ว
“ถามว่าราคาหุ้นจะไปต่อได้อีกหรือไม่ เชื่อว่าได้แน่นอน แต่อาจจะต้องเห็นการเริ่มกลับมาเปิดประเทศได้บ้างในช่วงครึ่งปีแรก และสุดท้ายหากกลับมาได้จริง หุ้นเหล่านี้อาจจะทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาแต่ละบริษัทลดขนาดองค์กรลงไปเยอะมาก ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กก็ลดลงไปมาก”
การวิ่งขึ้นของราคาหุ้นในระยะถัดไปอาจจะไม่ได้เร็วเท่ากับช่วงฟื้นตัวก่อนหน้านี้ และหากไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศได้เลยภายในครึ่งปีแรก ก็อาจจะเห็นการพักฐานของราคาหุ้นได้
“เมื่อลองดูหุ้นโรงแรมต่างประเทศจะเห็นว่าราคาพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่กัน อย่างเช่น Booking.com หรือ Marriott หลังจากที่ฝั่งยุโรปเริ่มกระจายวัคซีนกันได้ราว 50% ในขณะที่ของไทยยังต้องรอการเปิดประเทศและกระจายวัคซีนที่มากขึ้น”
ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน ก่อนหน้านี้มองว่าหุ้น CENTEL โดดเด่นที่สุด แต่ราคาปัจจุบันขึ้นมาสูงเกินระดับก่อนโควิด-19 แล้ว เพราะฉะนั้นอาจจะเลือกมองไปยังหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เช่นกัน
สำหรับ MINT และ SHR มองว่าจะฟื้นตัวได้ดีในระยะถัดไป เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากโรงแรมในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปที่น่าจะเริ่มเปิดประเทศได้ก่อน ขณะที่ ERW จะได้ประโยชน์มากสุดจากการเปิดประเทศของไทย แต่จะมีเรื่องของการเพิ่มทุนที่ต้องคำนึงด้วยเช่นกัน ด้าน AOT เป็นหุ้นที่แข็งแรงที่สุดด้วยเงินสด 3 หมื่นล้านบาท แต่อาจจะฟื้นตัวได้ช้าสุดเช่นกัน ส่วนหุ้นอย่าง SPA ซึ่งโดยปกติมีรายได้ 60% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีเมื่อมีการเปิดประเทศ
“โดยภาพรวม หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวปรับขึ้นมาเยอะจริง แต่ยังไปต่อได้หากเริ่มเปิดประเทศช่วงครึ่งปีแรก แต่ถ้าเปิดไม่ทันก็อาจเห็นราคาปรับลงก่อน นักลงทุนที่จะลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ต้องมองข้ามผลประกอบการระยะสั้นได้ เพราะกว่าจะเห็นแต่ละบริษัทกลับมาทำกำไรคงเป็นช่วงไตรมาส 4 แต่ในระยะยาวแล้วบริษัทเหล่านี้จะรอดแน่นอน และการจะเข้าลงทุนหากรอจนกว่าจะเปิดเมือง ราคาหุ้นจะสะท้อนไปหมดแล้ว”
ผลกระทบของโควิด-19 ดูเหมือนจะยังไม่หมดไป แม้ทั่วโลกจะเริ่มกระจายวัคซีนและทยอยเปิดประเทศได้บ้างแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยการเริ่มเปิดประเทศอย่างจริงจัง อาจต้องรอถึงช่วงปลายปีนี้ ทำให้หุ้นกลุ่มโรงแรมและสายการบินของไทยในปี 2564 ยังมีแนวโน้มจะขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อน
ในมุมของ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ยังคงน้ำหนัก Bullish ต่อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว โดยมองข้ามผลประกอบการที่อ่อนแอในปีนี้ และคาดหวังต่อการฟื้นตัวในปี 2565 สำหรับหุ้นเด่นในกลุ่มคือ CENTEL และ MINT โดย CENTEL น่าสนใจในระยะสั้นจากผลประกอบการไตรมาส 1 ที่น่าจะออกมาดี เพราะประเด็นการตั้งด้อยค่าถูกปลดล็อกแล้ว และมีฐานะการเงินแกร่งสุดในกลุ่ม รวมถึงการเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของมัลดีฟส์
ขณะที่ MINT เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยคาดว่าการท่องเที่ยวในยุโรปเริ่มทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 นี้ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่ไฮซีซัน และฟื้นตัวได้เร็วกว่าการท่องเที่ยวไทย หลังจากที่กลุ่มประเทศยุโรปได้สั่งซื้อวัคซีนเป็นจำนวนมาก และกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของ 3 บริษัทโรงแรมในไทย อย่าง CENTEL มีรายได้จากกรุงเทพฯ 35%, ภูเก็ต 15%, พัทยา 13%, หัวหิน 7%, สมุย 4%, กระบี่ 6% และอื่นๆ 3% ขณะที่อีก 17% มาจากมัลดีฟส์ ด้าน ERW มีรายได้จากกรุงเทพฯ 60% จังหวัดอื่นๆ 36% และฟิลิปปินส์ 4% ส่วน MINT มีรายได้จากในไทย 14% ยุโรป 64% ทวีปอเมริกา 6% ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 6% มัลดีฟส์และตะวันออกกลาง 3% อื่นๆ 7%
ด้านแนวโน้มของหุ้นกลุ่มสายการบินซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ไม่น้อย ส่วนนี้ บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า ธุรกิจการบินเริ่มเห็น ‘แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์’ จากการทยอยฉีดวัคซีนให้ประชากรทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2563 ทำให้อัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี ถึงจะเกิด Herd Immunity ทั่วโลก หรือสถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมีจำนวนมากพอจนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายได้ โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ช่วงเวลาของการเกิด Herd Immunity ในภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
- สหรัฐฯ ช่วงไตรมาส 2 ปี 2564
- สหราชอาณาจักร ช่วงไตรมาส 3 ปี 2564
- ยุโรป ช่วงไตรมาส 3 ปี 2564
- ญี่ปุ่น ช่วงไตรมาส 2 ปี 2565
- จีน ช่วงไตรมาส 4 ปี 2565
- อินเดีย ช่วงไตรมาส 1 ปี 2566
ทั้งนี้ จึงคาดว่ากลุ่มสายการบินจะยังคงรายงานผลขาดทุนหนักต่อเนื่องอีก -16,375 ล้านบาท (ไม่รวม THAI) แต่คาดว่าผลขาดทุนของ AAV และ BA จะลดลงจากปีก่อน ตามปริมาณผู้โดยสารที่ฟื้นตัวดีขึ้น (คาดผู้โดยสารในประเทศฟื้นตัว +29% ส่วนระหว่างประเทศคาดฟื้นตัว +3%)
ขณะที่ AOT คาดว่าจะพลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 9,617 ล้านบาท เป็นผลจากการปิดงบการเงินไม่ตรงกับปีปฏิทิน โดย AOT ปิดงบปีในเดือนกันยายน ทำให้ผลประกอบการปี 2564 จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าปี 2563
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์