×

นักวิเคราะห์เสียงแตก จับตาแบงก์ชาติจะลดหรือคงดอกเบี้ยนโยบาย 20 พ.ค. นี้

19.05.2020
  • LOADING...

แม้ว่าสถานการณ์โลกและไทยที่เจอผลกระทบจากโควิด-19 จะคลี่คลายลงบางส่วน แต่ด้านการเงินและเศรษฐกิจที่กำลังจะเห็นผลกระทบตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่าด้านนโยบายการเงิน อย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่จะมีการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคมนี้

 

CIMBT-EIC-กรุงศรีฯ-กสิกรไทย มอง กนง. ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.5% 

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ มีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.75% ลงเหลือ 0.5% สาเหตุมาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่

 

  1. เงินเฟ้อติดลบ โดยรอบนี้ไม่ได้มาจากราคาน้ำมันเท่านั้น แต่เงินเฟ้อติดลบจากราคาพลังงาน สะท้อนภาพอุปสงค์ในประเทศที่กำลังซื้อจะเริ่มอ่อนแอ และดอกเบี้ยจะเป็นตัวช่วยประคองได้
  2. GDP ไตรมาสแรกหดตัว รวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวหาย 99.99% โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเดือนละเกือบ 1 ล้านคน หายไปเหลือเพียงหลักพันคน จะส่งผลให้ GDP ไตรมาส 2 ติดลบสูงขึ้น ดังนั้นการลดดอกเบี้ยลงจะช่วยประคอง GDP ให้ดีขึ้น
  3. การลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย จะช่วยให้ผู้บริโภคและนักลงทุนเพื่อประคองกำลังซื้อ และพยุงเศรษฐกิจ เป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วน และเป็นไปได้มากกว่าที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจ หากดอกเบี้ยนโยบายลดลง จะส่งผลต่อเนื่องเป็นทอดๆ ให้คนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น
  4. การใช้นโยบายการเงินร่วมกับการคลังเพื่อสู้กับวิกกฤต ซึ่งนโยบายการคลังแม้เดินหน้าได้ แต่มีงบจำกัด ทำให้เงินที่ส่งออกไปช่วยเหลือคนนั้นค่อนข้างช้า และจำกัดบางกลุ่ม แต่ไม่ได้ครอบคลุมคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งหมด ดังนั้นสำนักวิจัยฯ จึงให้น้ำหนักกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้นโยบายการเงินเข้ามาช่วยร่วมกับนโยบายการคลัง ทั้งนี้ ยังมองว่าหากการประชุมครั้งนี้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่อาจจะปรับลดดอกเบี้ยลงในรอบหน้า โดยเหตุผลที่น่าจะคงดอกเบี้ย ได้แก่

 

  1. ธปท. ได้ช่วยลดดอกเบี้ยชดเชยกองทุนฟื้นฟู FIDF และธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว
  2. กนง. อยากรอให้นโยบายการคลังทำงานก่อน
  3. ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีภาระหนี้ให้สามารถพักการชำระหนี้ได้ 3 เดือนแล้ว
  4. ธปท. ได้ออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ QE เพื่อซื้อตราสารหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาล และกดให้อัตราผลตอบแทนต่ำช่วยลดต้นทุนการกู้

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคาดว่าอาจหดตัวราว 5% ในปีนี้ 

 

ดังนั้น จากสถานการณ์ปัจจุบัน กนง. น่าจะให้น้ำหนักการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินของธุรกิจให้ประคองตัวผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้แล้ว กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% ตลอดในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเรื่องการแพร่ระบาดของโรค ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันเริ่มมีทิศทางที่สามารถควบคุมได้ และหากไม่มีการระบาดซ้ำอีกระลอก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

 

ขณะที่กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า การประชุม กนง. ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ จะมีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 0.75% สู่ระดับ 0.5% ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน โดยนโยบายการเงินที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะถัดไป

 

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) มองว่า การประชุมครั้งนี้มีโอกาสสูงที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยเหลือ 0.5% เช่นกัน 

 

นอกจานี้ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด คาดว่า การประชุม กนง. พุธนี้ มีความเป็นไปได้ 50:50 ระหว่างการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.5% และการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม 0.75% โดยมีเหตุผลสนับสนุนให้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่า 

 

  1. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เตรียมผ่านพ้นจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่สองนี้ หลังมาตรการคุมเข้มล็อกดาวน์เริ่มส่งสัญญาณเชิงบวก 
  2. กนง. อาจเลือกเก็บ Policy Space ไว้ใช้ในยามจําเป็น เช่น ความเสี่ยงของการระบาดโควิด-19 รอบที่สอง 
  3. การออกมาตรการต่างๆ ที่แก้ไขปัญหาตรงจุดไปแล้ว เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการลดเงินนำส่ง FIDF ซึ่งช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปก่อนหน้านี้แล้ว 
  4. เสถียรภาพในตลาดตราสารหนี้ภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากเกิดขึ้นน่าจะมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงมากในช่วงหลัง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคที่อ่อนแอ รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่อาจจะหดตัวนานกว่าที่ ธปท. ประมาณการไว้เดิม

 

“การประชุม กนง. ครั้งนี้มีสัญญาณที่ค่อนข้างผสมผสาน กล่าวคือนักเศรษฐศาสตร์ในตลาดเกือบ 90% คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.50% แต่หากไปดูในตลาด Swap จะพบว่านักลงทุนมีการ  Price in การลดดอกเบี้ยไปเพียง 45% เท่านั้น” 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยจากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X