×

นักวิเคราะห์คาดกองทุนปรับพอร์ตรับเกณฑ์ ‘Free Float’ ช่วงเดือน พ.ค. กดดันกลุ่ม ‘พลังงาน-ขนส่ง-อิเล็กทรอนิกส์’ ช่วงเปลี่ยนผ่าน

04.05.2021
  • LOADING...
นักวิเคราะห์คาดกองทุนปรับพอร์ตรับเกณฑ์ ‘Free Float’ ช่วงเดือน พ.ค. กดดันกลุ่ม ‘พลังงาน-ขนส่ง-อิเล็กทรอนิกส์’ ช่วงเปลี่ยนผ่าน

ปัญหาเกี่ยวกับหุ้นที่มี Free Float ต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมของดัชนีตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมปรับปรุงเกณฑ์การจัดทำดัชนีใหม่ จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณ (Full Market Capitalization) มาเป็นการใช้ Market Cap. ที่ปรับด้วย Free Float (Free Float Adjusted Market Capitalization) โดยการปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคม แต่สำหรับผู้ลงทุนสถาบันแล้ว เชื่อว่าการปรับพอร์ตคงเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เลย 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว น่าจะกระทบต่อราคาหุ้นทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

 

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ผลกระทบจากการปรับเกณฑ์ในครั้งนี้อาจจะไม่มากนัก เนื่องจากจะใช้การปรับน้ำหนักเพียง 50% สำหรับการปรับดัชนีครั้งแรก เพื่อลดผลกระทบจากการปรับพอร์ตของกองทุน Passive Fund 

 

อย่างไรก็ดี โครงสร้างของหุ้นที่ขับเคลื่อนดัชนี SET50 มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลง โดยหุ้นกลุ่มพลังงาน (ENERG) แม้จะมีสัดส่วนสูงที่สุดเช่นเดิม แต่จะถูกลดความน่าสนใจลงจากน้ำหนักต่อดัชนีที่ถูกปรับลดลงราว -2.1% ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของดัชนี จะมีความน่าสนใจมากขึ้น จากการถูกปรับน้ำหนักขึ้น +3.13% ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง (CONMAT) +0.7%, การแพทย์ (HEALTH) +0.58% ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มถูกลดความสนใจ ได้แก่ ขนส่ง (TRANS) -1.18% และอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) -0.86%

 

สำหรับผลกระทบต่อหุ้นเป็นรายตัว ในช่วงที่นักลงทุนปรับพอร์ต คาดว่าหุ้นอย่าง INTUCH, BDMS, SCC, BBL และ SCB จะได้รับผลบวกมากที่สุด เนื่องจากมีอัตราส่วนระหว่างจำนวนหุ้นที่จะถูกซื้อเข้าต่ออัตราหมุนเวียน (Turnover) ของหุ้นเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด ได้แก่ TOA, AOT, GULF, DELTA และ DTAC 

 

หุ้น 5 อันดับแรกที่มีแนวโน้มถูก ‘เพิ่ม-ลด’ น้ำหนัก

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การปรับพอร์ตของกองทุนต่างๆ น่าจะเริ่มเห็นหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศยืนยันเกณฑ์ใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งประเมินว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม ก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะมีผลอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 

 

สำหรับการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่มีการปรับเกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี SET50 หรือ SET100 จะเป็นการปรับเพียงน้ำหนักของหุ้นที่ผลต่อดัชนี ซึ่งเป็นการปัญหาได้ตรงจุดแล้ว 

 

“ผลกระทบหลักๆ ที่เกิดขึ้น สำหรับหุ้น 10 ตัวแรกที่เคยมีน้ำหนักสูงสุด จะมีน้ำหนักต่อดัชนีลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อดัชนีในช่วงของการปรับพอร์ต แต่หลังจากนั้นตลาดก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้ประเด็นนี้อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันตลาดช่วงเดือนพฤษภาคม” 

 

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงของการปรับพอร์ต นักลงทุนอาจต้องระมัดระวังหุ้นที่เข้าข่ายจะถูกลดน้ำหนักลง และต้องระมัดระวังความผันผวนของหุ้นในระยะสั้น และภายหลังจากการใช้เกณฑ์ใหม่แล้ว หุ้นที่มี Market Cap. ใหญ่ แต่สภาพคล่องน้อย ก็มีจะมีอิทธิพลต่อตลาดน้อยลง ขณะเดียวกันภาพของดัชนี SET50 ก็จะล้อไปกับภาพของดัชนี MSCI Thailand มากขึ้น หลังจากปรับมาใช้วิธีการคำนวณที่คล้ายคลึงกัน 

 

ในความเป็นจริงแล้วปัญหาเกี่ยวกับหุ้นบางตัวที่มีอิทธิพลต่อตลาดสูงก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างกรณีของ BAY ที่ราคาพุ่งขึ้นแรงเมื่อปี 2558 ส่งผลให้ตลาดต้องเพิ่มเกณฑ์การใช้ ‘ปริมาณหุ้นหมุนเวียน (% of Turnover)’ เข้ามาร่วมเป็นเกณฑ์คัดเลือกหุ้นด้วย ซึ่งก็ส่งผลให้หุ้น BAY หลุดออกจากดัชนี SET50 ไป และทำให้หุ้น BAY ถูกแรงขายจนกดให้ราคาหุ้นลดลงจากระดับ 100 บาท มาอยู่ที่บริเวณเดิมประมาณ 30-40 บาท 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X