จากกรณีที่รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการทบทวนให้ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดิน 99 ปี รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือครองคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติจาก 49% เป็น 75% ของจำนวนยูนิตทั้งหมดในแต่ละโครงการ
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า หากการปรับเกณฑ์ดังกล่าวถูกนำมาใช้จริง น่าจะส่งผลบวกต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่บ้าง โดยเฉพาะการเพิ่มอุปสงค์จากต่างชาติ ช่วยดูดซับสต็อกที่อยู่ในตลาด
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ยังเผชิญกับภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) แม้ว่าผู้ประกอบการจะลดการเปิดโครงการใหม่ไปพอสมควร
“หุ้นอสังหาจะฟื้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่น่าจะกลับไปเป็นขาขึ้น ตราบใดที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ และธนาคารยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ เราอาจเห็นราคาหุ้นฟื้นตัวได้ 15-20% แต่ไม่น่าจะเห็นหุ้นอสังหากลับไปซื้อขายที่ P/E ระดับ 9-10 เท่า ในเวลานี้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับเกณฑ์จะเป็นกลุ่มที่มีคอนโดมิเนียมในระดับกลางขึ้นไป และเป็นคอนโดมิเนียมที่อยู่ในทำเลทอง ซึ่งราคาขายเฉลี่ยมากกว่า 1.2 แสนบาทต่อตารางเมตรขึ้นไป
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี ระบุว่า ประโยชน์ต่อผู้พัฒนาอสังหาจะเกิดขึ้นกับแค่บางบริษัทที่มีสัดส่วนการขายคอนโดมิเนียมให้กับต่างชาติมากกว่าบริษัทอื่น เช่น เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP, แสนสิริ หรือ SIRI, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN เป็นกลุ่มหลัก แต่ผลบวกอาจไม่ได้มากนัก
สำหรับปี 2023 ยอดขายคอนโดมิเนียมมาจากต่างชาติ 20% ซึ่งยังห่างจากระดับ 49% ตามกฎหมาย ดังนั้นการขยับสัดส่วนการถือครองต่างชาติเป็น 75% จะช่วยเพิ่มสัดส่วนในบางทำเล บางจังหวัด และบางโครงการ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับบางบริษัทเท่านั้น
ทั้งนี้ ตลาดอสังหาในไตรมาส 2 ยังคงอ่อนแอ โดยไม่เห็นสัญญาณดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยยอดขายและยอดโอนน่าจะลดลง
สำหรับหุ้นกลุ่มอสังหาเพื่ออยู่อาศัยนับแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากปลายปีก่อน อย่างหุ้นแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH ที่มีมาร์เก็ตแคปมากที่สุดราว 72,000 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 25% ส่วนหุ้นอย่างศุภาลัย หรือ SPALI ทรงตัว ขณะที่ SIRI และ AP ลดลง 5% และ 25% ตามลำดับ
ด้านศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ระบุว่า ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2567 มีหน่วยที่เสนอขาย 91,565 หน่วย เพิ่มขึ้น 14,9% คิดเป็นมูลค่า 397,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ยอดขายได้ใหม่ของคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีจำนวน 5,940 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 27,207 ล้านบาท ลดลง 39% และ 24.5% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ทำเลที่มีหน่วยเหลือขายของคอนโดมิเนียมมาก ที่ควรจะต้องระมัดระวังเนื่องจากยังคงมีหน่วยเหลือขายที่มากติดอันดับต้นๆ แม้ว่าบางพื้นที่จะมียอดขายและอัตราการดูดซับที่ดี ได้แก่
อันดับ 1 โซนห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 10,588 หน่วย มูลค่า 43,059 ล้านบาท
อันดับ 2 โซนธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน 9,469 หน่วย มูลค่า 31,397 ล้านบาท
อันดับ 3 โซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ จำนวน 8,251 หน่วย มูลค่า 27,299 ล้านบาท
อันดับ 4 โซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 6,293 หน่วย มูลค่า 16,121 ล้านบาท
อันดับ 5 โซนลาดพร้าว-วังทองหลาง-บางกะปิ จำนวน 5,382 หน่วย มูลค่า 17,607 ล้านบาท
ส่วน 5 ทำเลที่มีหน่วยโครงการคอนโดมิเนียมที่ขายได้ใหม่สูงสุด ประกอบด้วย
อันดับ 1 โซนคลองหลวง จำนวน 1,057 หน่วย มูลค่า 1,794 ล้านบาท
อันดับ 2 โซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ จำนวน 487 หน่วย มูลค่า 1,472 ล้านบาท
อันดับ 3 โซนธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน 441 หน่วย มูลค่า 1,861 ล้านบาท
อันดับ 4 โซนห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 439 หน่วย มูลค่า 1,692 ล้านบาท
อันดับ 5 โซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 421 หน่วย มูลค่า 987 ล้านบาท