จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เมื่อวานนี้ (13 กันยายน) มีการอนุมัติมาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ได้แก่
- ฟรีวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567
- ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
- พักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กเป็นเวลา 3 ปี
- ปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ เป็น 2 รอบ คาดมีผลวันที่ 1 มกราคม 2567
- ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จากอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลืออัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย
- ลดราคาน้ำมันดีเซลสำหรับภาคขนส่งให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เริ่มวันที่ 20 กันยายน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนราคาน้ำมันเบนซินจะเป็นการมุ่งเป้าให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนเปราะบาง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ ในระหว่างนี้ให้มีการกำกับดูแลราคาขายปลีกให้มีค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 2 บาทต่อลิตร
- ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2566 ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า แม้ว่านโยบายส่วนใหญ่ข้างต้นจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในรายละเอียดของบางนโยบายค่อนข้างจะ Aggressive กว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เช่น ปรับลดค่าไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล ส่วนเรื่องของฟรีวีซ่าและการพักหนี้เป็นสิ่งที่พอจะรับรู้มาสักระยะหนึ่งแล้ว
“ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเทหน้าตักเต็มที่ ทำให้มีความคาดหวังต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นมาตรการชั่วคราว เพราะฐานะการคลังยังไม่เข้มแข็ง”
ทั้งนี้ ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรงคือภาคธุรกิจที่ค่าใช้จ่ายลดลง รวมทั้งกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นหลังจากครัวเรือนมีค่าครองชีพลดลง ทำให้กำไรของบริษัทในกลุ่มที่อิงกับการบริโภค เช่น ค้าปลีก น่าจะปรับตัวดีขึ้น สวนทางกับกลุ่มพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้าและพลังงาน
“หากดัชนี SET ย่อตัวลงมาบริเวณ 1,520 จุด หรือต่ำกว่านั้น มองว่าเป็นโซนเข้าสะสมหุ้นที่อิงกับการบริโภคและอิงกับการใช้จ่ายของกลุ่มคนรากหญ้า โดยเฉพาะธุรกิจที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงจะได้ประโยชน์”
โดยปกติแล้วกลุ่มโรงแรมและค้าปลีกมีสัดส่วนต้นทุนจากค่าไฟฟ้าราว 10-20% ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้นักลงทุนอาจจะโฟกัสในกลุ่มส่งออกและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เพราะในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่น่ากังวลว่าจะทำให้เกิด Global Recession และได้ประโยชน์จากมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลลงมาต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ถือเป็นการลดลงที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญ
“ส่วนระยะยาวภาครัฐต้องพยายามหากระสุนมาเพิ่มเติม คือรายรับในด้านต่างๆ เพราะตอนนี้ภาระการคลังยังคงสูง โดยเฉพาะเมื่อดูเทียบกับ GDP ภาครัฐควรเร่งลงทุนสาธารณะซึ่งเป็นโครงสร้างในระยะยาว และจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติ”
ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมานี้แม้จะไม่น่าตื่นเต้นมากนัก แต่มีข้อดีอยู่หลายส่วน อย่างการลดค่าไฟฟ้าลงมากกว่าที่คาด ช่วยให้ภาคครัวเรือนมีกำลังซื้อดีขึ้น และภาคการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก เช่น ซีเมนต์ กระเบื้อง รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ มีต้นทุนพลังงานลดลง
ในมุมกลับกัน กลุ่มโรงไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมารับข่าวพอสมควร และหุ้นบางตัว เช่น GPSC ราคาลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงที่ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่งสูง ทำให้ความเสี่ยงที่ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าจะลงไปมากกว่านี้อาจจะไม่มากแล้ว
“ตอนนี้นักลงทุนคงให้ความสนใจหุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย เช่น หุ้นอิงการบริโภคอย่างแบงก์และค้าปลีก มากกว่าหุ้นอย่างโรงไฟฟ้า แม้ว่าจะมี Downside จำกัด”
โดยสรุปแล้ว ภาดลมองว่า 4 กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจหลังจากนี้ ได้แก่
- ธนาคาร หนุนจากกำลังซื้อฟื้นตัว สินเชื่อขยายตัว และหนี้เสีย (NPL) น่าจะลดลง
- ค้าปลีก หนุนจากต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง และเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ประกัน หนุนจากบอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะ 3% หลังจากรัฐบาลไทยใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น
- สื่อสาร ไม่เกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นโดยตรง แต่ได้แรงหนุนจากต้นทุนค่าการตลาดที่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากการทำแคมเปญการตลาดในช่วงเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ที่น้อยลง ซึ่งโดยปกติบริษัทในกลุ่มนี้จะใช้เงินค่าการตลาดราว 2-3 พันล้านบาท