×

นักวิเคราะห์เตือน ระวังลงทุนหุ้น BIG ชี้ราคาพุ่งร้อนแรงสวนทางผลดำเนินงานที่ขาดทุนมากขึ้น

28.12.2021
  • LOADING...
BIG

หุ้น บมจ.บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น (BIG) ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกอุปกรณ์ถ่ายภาพและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มบริการ/พาณิชย์ เป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในจอเรดาร์ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวที่หวือหวาจน ตลท. ต้องจับเข้ามาตรการกำกับการซื้อขายถึง 4 ครั้ง รวมเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 2 เดือน

 

โดยในรอบแรกความร้อนแรงของหุ้น BIG เกิดขึ้นช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ราคาเริ่มขยับจากบริเวณ 0.60-0.66 บาท ขึ้นมายืนเหนือ 0.85 บาท ท่ามกลางมูลค่า (วอลุ่ม) การซื้อขายที่หนาแน่นขึ้นมามากกว่า 700 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปกติที่มีการซื้อขายกันในหลักล้านบาทต่อวัน แม้ว่าบางวันมูลค่าการซื้อขายจะกระโดดขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในหลักสิบล้านบาทต่อวันเท่านั้น

 

ด้วยความหวือหวาของราคาหุ้น BIG ดังกล่าว ส่งผลให้ ตลท. ต้องตัดสินใจสกัดจับความร้อนแรง โดยการประกาศให้หุ้นตัวนี้เข้าสู่มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 คือ สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น เท่ากับว่าลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2564

 

ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดเวลากลับพบว่า ผลของมาตรการในรอบนี้ไม่สามารถหยุดความร้อนแรงของหุ้น BIG ได้ เพราะยังคงมีแรงซื้อดันราคาหุ้นให้ไต่ระดับขึ้นไปยืนเหนือ 0.85 บาท และยังสามารถทำสถิติสร้างจุดสูงสุดครั้งใหม่ทะลุ 1 บาทขึ้นไป ท่ามกลางวอลุ่มซื้อขายที่หนาแน่นล้นทะลักอยู่ในหลักหลายร้อยล้านบาท จึงเป็นสาเหตุให้ ตลท. ตัดสินใจขยายระยะเวลาใช้มาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นตัวนี้ในระดับที่ 1 ออกไปเป็นครั้งที่ 2 มีผลระหว่างวันที่ 3-23 พฤศจิกายน 2564

 

แม้หุ้น BIG จะถูกจับใส่กรงขังเป็นครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม แต่ราคาหุ้นก็ยังหวือหวา เดินหน้าพุ่งทะลุ 1 บาทขึ้นไป โดยมีวอลุ่มซื้อขายหนาแน่นขึ้นมามากกว่า 500 ล้านบาท

 

สะท้อนว่าผลของการขยายระยะเวลากำกับการซื้อขายในรอบนี้ก็ยังไม่สามารถดับความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ลงได้ เป็นเหตุให้ ตลท. ต้องตัดสินใจขยายระยะเวลาใช้มาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 1 ออกไปอีกเป็นครั้งที่ 3 มีผลระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 14 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงเดือนธันวาคม แม้ว่าราคาหุ้น BIG จะอ่อนตัวลงบ้างในบางวันทำการ แต่ยังคงยืนได้ในระดับ 0.90-1.11 บาท และมีวอลุ่มซื้อขายกระจายตั้งแต่หลักสิบล้านบาทขึ้นไปจนถึงเกือบ 200 ล้านบาท ซึ่งบ่งชี้ว่าการซื้อขายหุ้นตัวนี้ยังผิดปกติอยู่

 

ขณะที่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-17 ธันวาคม) หุ้นตัวนี้ก็ยังมีวอลุ่มการซื้อขายล้นทะลักเข้ามามากถึงเกือบ 800 ล้านบาท ดันราคาหุ้นขึ้นไปทำจุดสูงสุดของสัปดาห์ที่ 1.22 บาท นั่นเท่ากับว่าราคาหุ้น BIG ปรับตัวสูงขึ้นไปมากกว่า 100% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน ขณะที่บริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีนัยสำคัญเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวหวือหวาร้อนแรง

 

ทำให้ ตลท. ต้องงัดมาตรการกำกับการซื้อขายที่เข้มข้นขึ้นสู่ระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย หมายความว่าห้ามสมาชิกใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี และยังต้องซื้อหุ้นตัวนี้ด้วยบัญชีเงินสดเช่นเดิม มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 – 5 มกราคม 2565 เพื่อสกัดความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ไว้เป็นครั้งที่ 4

 

ขณะที่ราคาหุ้น BIG ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-24 ธันวาคม) ยังคงร้อนแรง โดยเคลื่อนไหวในระดับ 0.97-1.01 บาท แต่วอลุ่มการซื้อขายเริ่มเบาบางลง กระทั่งวันนี้ (28 ธันวาคม) หุ้น BIG เริ่มมีแรงขายทำกำไรออกมาบ้างในช่วงท้ายก่อนปิดตลาด ส่งผลให้ราคาหุ้นปิดที่ 0.95 บาท ลดลง 5% มูลค่าการซื้อขายเริ่มเบาบางเหลือเพียง 25 ล้านบาท

 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นและอยู่ระหว่างถูกกำกับการซื้อขายที่เข้มงวดนั้น บริษัทยืนยันว่า ไม่มีพัฒนาการสำคัญใดๆ ที่จะมีผลต่อราคาหุ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงขาดทุนมากขึ้น

 

“จากที่ดูข่าวก็ไม่มีอะไร หุ้นตัวนี้ไม่มีค่า P/E ถือว่าไม่มีปัจจัยพื้นฐาน นักวิเคราะห์ไม่วิเคราะห์กัน แต่ถ้าดูจากผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ บริษัทนี้ขาดทุนมากขึ้น ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หุ้นที่ไม่มีความชัดเจนลักษณะนี้ถือว่ามีความเสี่ยง ก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย”

 

สำหรับผลการดำเงินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ BIG ขาดทุนสุทธิ 108.75 ล้านบาท มีรายได้ 1,288.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 39.05 ล้านบาท มีรายได้ 1,711.25 ล้านบาท

 

ขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิในปี 2561 ที่ 686.62 ล้านบาท มีรายได้ 5,786.01 ล้านบาท

 

ส่วนปี 2562 มีกำไรสุทธิ 260.37 ล้านบาท มีรายได้ 4,560.11 และมีกำไร 27.36 ล้านบาท มีรายได้ 2,535.65 ล้านบาทในปี 2563

 

ด้าน ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์ เอช บี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นตัวนี้เริ่มถอยลงแล้ว จากที่เคยมีแรงเก็งกำไรไล่ราคาขึ้นไปสูงถึง 1.22 บาท โดยประเมินว่าราคาน่าจะกลับมายืนที่ 0.60-0.80 บาท ซึ่งเป็นฐานเดิมของหุ้นตัวนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising