จากกรณีที่ วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การจัดเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้า BTS สำหรับสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท เมื่อรวมกับเส้นทางหลักตามสัมปทานจะเก็บได้สูงสุดไม่เกิน 59 บาท ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าไม่ส่งผลกระทบกับ BTS มากนัก และเรื่องนี้อาจจะส่งผลดีต่อ BTS ด้วย
จารุชาติ บูชาชาติ นักกลยุทธ์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า โดยรวมแล้วการกำหนดอัตราค่าโดยสารสำหรับรถไฟฟ้า BTS ไว้ที่ 59 บาทตลอดสาย ไม่น่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เนื่องจากปัจจุบันค่าโดยสารที่ BTS เก็บอยู่จากสถานีคูคตมาจนถึงเส้นทางหลักอยู่ที่ 16-44 บาท ขณะที่เส้นทางในฝั่งสถานีเคหะฯ เป็นการให้บริการรับจ้างเดินรถอยู่แล้ว
“การกำหนดราคาดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อ BTS ในเชิง Valuation และในความเป็นจริงอาจเป็นเรื่องดีด้วย เพราะในส่วนต่อขยายนี้ BTS เป็นผู้รับจ้างเดินรถ ซึ่งค่าโดยสารที่เก็บเพิ่มนี้ก็จะเป็นรายได้ส่วนเพิ่มของ กทม. ซึ่งยังมีภาระหนี้สินกับ BTS ราว 1.8 หมื่นล้านบาท”
ปัจจุบันฝั่งเหนือ คูคตลงมาถึงเส้นหลัก เก็บ 16-44 บาท แต่ฝั่งที่ชัชชาติอยากแคปไว้ 59 บาท ไปรวมเคหะฯ ลงมา ซึ่ง BTS จะทำเป็น OEM อยู่แล้ว ไม่ได้กระทบเชิง Valuation ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะการให้บริการ OEM กทม. ยังมีหนี้สิน 1.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ แนวโน้มผลประกอบการของ BTS ในครึ่งปีหลังน่าจะเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากแรงหนุนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้จากการก่อสร้างอาจจะลดลง เพราะปัจจุบันอยู่ในช่วงท้ายของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู
“ภาพรวมจำนวนผู้โดยสารปีนี้จะเพิ่มขึ้นแน่นอน หนุนให้กำไรจากการดำเนินงานหลักดีขึ้นเช่นกัน โดย Consensus ประเมินไว้ที่ 3.5 พันล้านบาท ขณะที่กำไรหลักปีก่อนอยู่ที่ 2.78 พันล้านบาท โดยปีก่อน BTS มีกำไรพิเศษราว 1 พันล้านบาท”
ส่วนราคาหุ้นของ BTS ในวันนี้ ณ เวลา 11.41 น. ทรงตัวอยู่ที่ 8.55 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า ราคาหุ้น BTS ที่ปรับตัวลดลงก่อนหน้า คาดว่าเป็นเพราะกระแสข่าวที่บริษัทอาจไม่สามารถต่ออายุสัมปทานเส้นทางหลักไปอีก 30 ปี หลังจากสัมปทานปัจจุบันเหลืออายุอีกราว 7 ปี ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2572 และอาจถูกต่อรองค่าโดยสารลงจากนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
อย่างไรก็ตาม ประมาณการของนักวิเคราะห์ยังไม่ได้รวมเรื่องการต่ออายุสัมปทานแต่อย่างใด ขึ้นกับการเจรจากับ กทม. ในอนาคต ส่วนประเด็นการจะถูกต่อรองค่าโดยสาร แบ่งเป็น
- สำหรับในส่วนสัมปทานเดินรถเส้นหลักคือ สีลมและสุขุมวิท เราเห็นว่าอาจกดค่าโดยสารลงได้ยาก เพราะเอกชนเป็นผู้ลงทุน ไม่ใช่ภาครัฐ และจะครบอายุสัมปทานในปี 2572 หรือเหลือเวลาอีก 7 ปี
- BTS ได้ทำสัญญาบริหารเดินรถสายสีเขียว รวมทั้งส่วนขยายอย่างถูกต้องไปจนถึงปี 2585
- ส่วนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปคือ การที่ BTS จะร่วมทุนในส่วนขยายสายสีเขียว ซึ่งก่อนหน้าเงื่อนไขคือ ให้คิดค่าโดยสารครบตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท กทม. จะได้รับการยกหนี้ราว 4 หมื่นล้านบาท และจะต่ออายุสัมปทานให้ไปอีก 30 ปี เป็นการตอบแทน แต่ทางคณะรัฐมนตรียังไม่ได้นำเรื่องนี้ไปพิจารณา เราประเมินว่าการต่อรองเรื่องลดค่าโดยสารอาจจะเป็นในส่วนนี้มากกว่า
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP