×

วิเคราะห์ ‘ลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า’ นโยบายว้าวุ่นที่เกาไม่เคยถูกที่คัน?

12.09.2023
  • LOADING...
ลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • นโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการลดราคาพลังงาน เป็น 1 ใน 5 นโยบายเร่งด่วนที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาจะดำเนินการทำทันที 
  • เสียงสะท้อนจากนักวิชาการด้านพลังงานต่อนโยบายนี้ มองว่าการลดราคาพลังงานช่วยลดค่าครองชีพประชาชนได้ก็จริง แต่อาจนำไปสู่ ‘ความเสี่ยงก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น’ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรประมาทและต้องมีวินัยทางการคลัง โดยมีบทเรียนต้มยำกุ้ง หายนะวิกฤตทางการเงิน เป็นตัวอย่าง 
  • ขณะที่พรรคฝ่ายค้านโต้ว่า รัฐบาลขาดแนวทางชัดเจน และแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินอุดหนุนอย่างมหาศาลและการปรับลดภาษี เนื่องจากไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอและตรงจุด รัฐควรหยุดอนุมัติโรงไฟฟ้าใหม่ และทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เอื้อเอกชน

นโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการลดราคาพลังงาน น้ำมัน และไฟฟ้า 1 ใน 5 นโยบายเร่งด่วนที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน โดยจะเริ่มดำเนินการจาก 

 

  • ลดค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
  • สนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ 
  • ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน 
  • เร่งเจรจากับประเทศข้างเคียงที่อ้างสิทธิพื้นที่พลังงาน 

 

โดยมีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เจ้ากระทรวงนำทัพนโยบาย วางแผนดำเนินงานเบื้องต้น ดังนี้ 

 

  • นำเข้าน้ำมันเสรีแบบไม่มีค่าการกลั่น
  • ลดค่าไฟผู้มีรายได้น้อย
  • ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน 
  • น้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น น้ำมันเขียวสำหรับกลุ่มชาวประมงและเกษตรกร 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

รายการ WEALTH IN DEPTH ซึ่งจัดโดย THE STANDARD WEALTH มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ถึงมุมมองนโยบายลดราคาพลังงานของรัฐบาลเศรษฐา ทำได้จริงแค่ไหน ใครได้ ใครเสีย โดย ศ.ดร.พรายพล แสดงความคิดเห็นไว้ว่า 

 

“รัฐบาลต้องไม่ประมาท เพราะการเข้าไปแทรกแซงราคาพลังงานเป็นความเสี่ยงที่มาพร้อมกับวินัยทางการเงินและการคลัง เนื่องจาก ณ วันนี้หนี้สาธารณะไทยก็ยังน่าห่วง หากไม่วางแผนให้รอบคอบอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ได้ แม้ขณะนั้นเกิดจากการก่อหนี้ภาคเอกชน แต่ถ้าภาครัฐก่อหนี้ไปเรื่อยๆ ก็คล้ายกัน ที่สำคัญรัฐบาลเศรษฐาอย่ามองแค่ราคาน้ำมันที่ถูกเพียงอย่างเดียว ต้องสนใจพลังงานสะอาดด้วย” 

 

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

 

นโยบายพลังงาน โจทย์วัดใจรัฐบาล

 

เท่าที่ดูแนวทาง รัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการคล้ายๆ กับนโยบายในอดีต เพียงแต่ว่าอาจจะดำเนินการอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากพลังงานปัจจุบันต้องพิจารณาหลายมิติ รวมถึงโครงสร้างพลังงานที่มีหลายหน่วยงานดูแล ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะเป็นความท้าทายทีมเศรษฐกิจไม่น้อย 

 

โดยเฉพาะเรื่องภาระทางการคลัง ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธีอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลผ่านกลไกของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จนทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาทไปแล้ว และมีภาระจากการกู้เงินมาแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีหนี้อีกก้อนที่อยู่ในขั้นตอนการกู้เงินเพิ่ม เพื่อใช้หนี้คู่ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

 

หมายความว่า หากรัฐบาลมีการแทรกแซงมากเกินไป ก็เกิดเป็นความเสี่ยงต่อภาระทางการเงินและการคลัง รัฐเป็นหนี้มากขึ้น เกิดภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น จากเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดให้ไม่เกิน 60% ของ GDP เมื่อรัฐบาลที่ผ่านมาขาดดุลเยอะจากโควิด ก็ขยับเพดานไปที่ 70% และวันนี้ก็เกินเพดานเดิมไปเรียบร้อย และยังมีแนวโน้มทะยานวิ่งสู่เพดานใหม่ เพราะฉะนั้นความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ง่าย หากกระโดดไปเยอะกว่านี้ อนาคตรัฐบาลก็จะมีปัญหาเรื่องการกู้ ธนาคารขึ้นดอกเบี้ยสูง และเร่งรัดคืนหนี้  

 

กรณีเลวร้ายจะคล้ายวิกฤตต้มยำกุ้ง

 

“รัฐบาลอาจจะต้องรัดเข็มขัดมากขึ้นในเรื่องการใช้งบประมาณที่มาพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายการลงทุน หากไม่รอบคอบมีโอกาสที่จะไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้ ไม่ต่างจากกรณีวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมไม่อยากกล่าวแบบนี้ให้ตกอกตกใจ แต่ถ้าภาครัฐก่อหนี้มากขึ้นก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ ฉะนั้นอย่าประมาท”

 

ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมองไปข้างหน้าด้วยว่าเชื้อเพลิงที่ไม่สะอาดอย่างถ่านหิน น้ำมันทั้งหมด จะต้องกำหนดสัดส่วนให้คนใช้น้อยลงด้วย ไม่ใช่ทำให้ราคาถูกลงแล้วจะยิ่งกระตุ้นให้คนไปใช้มากขึ้น 

 

สิ่งที่ควรทำคือการสร้างสมดุล (Balance) และเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดด้วย หรืออาจจะใช้นโยบายอีกชุดเข้ามาดูแล

 

“ถามว่าเหตุใดรัฐจึงเลือกใช้วิธีนี้ จริงๆ แล้วรัฐบาลในอดีตก็พยายามทำแบบนี้ แต่เข้าใจว่าด้วยแรงกดดันด้านการเมือง หรืออย่างในช่วงวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งกดดันรัฐบาลในการเลือกใช้วิธีอุดหนุนราคาพลังงาน จนกระทั่งรัฐบาลเป็นหนี้แสนล้าน ตรงนี้เองก็ถือเป็นบทเรียนได้”

 

หากลดราคาพลังงาน ใครได้ ใครเสีย?

 

หากจำกัดหรือควบคุมราคาพลังงานย่อมมีผลลบแน่นอนต่อตลาดหุ้นพลังงาน เนื่องจากการแทรกแซงราคาพลังงานให้ถูกลงหรือมากเกินไปก็ผิดกลไกตลาดโลก หรือการไปจำกัดกำไรของบริษัทเหล่านี้ ไม่ว่าเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ 

 

“หากไปจำกัดราคาและค่าการกลั่นก็จะกระทบต่อโรงกลั่นในประเทศ หรือหากจำกัดค่าการตลาดก็จะมีผลกระทบต่อบริษัทน้ำมันในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปตท. บางจาก เชลล์ คาลเท็กซ์ และอื่นๆ เช่นเดียวกับกลุ่มโรงไฟฟ้า หากจำกัดมากๆ กับ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็จะมีปัญหา” 

 

ขณะเดียวกันหากมองในมุมผลเชิงบวกระยะสั้น ต้องยอมรับว่าค่าครองชีพในบ้านเราขึ้นอยู่กับราคาพลังงานเยอะมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งสินค้า ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ต้นทุนโลจิสติกส์ รวมทั้งการดำเนินการทางเศรษฐกิจมหภาคทั้งประเทศ ต่างพึ่งพาพลังงาน หากรัฐบาลสามารถควบคุมราคาพลังงานได้ก็เป็นเรื่องดีที่รัฐสามารถดูแลค่าครองชีพไม่ให้สูง มีผลต่อกำลังซื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน

 

“แน่นอนอยู่แล้ว ประชาชนปลื้ม สามารถลดค่าครองชีพได้ และถือเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักให้ดีถึงข้อดี ความเสี่ยง ผลกระทบที่จะตามมา” 

 

นำเข้าน้ำมันเสรีสำเร็จรูป ทำอยู่แล้ว

 

ต่อคำถามที่ว่า รัฐบาลมีนโยบายจะนำเข้าน้ำมันเสรีนั้น ศ.ดร.พรายพล กล่าวว่า “จริงๆ แล้วธุรกิจน้ำมันในไทยปัจจุบันเป็นระบบเสรีอยู่แล้ว โดยผู้ค้าตามมาตรา 7 หรือผู้ค้ามาตรา 10 ภายใต้กรมธุรกิจพลังงานที่อนุญาตนำเข้ามาจำหน่ายได้ตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากสิงคโปร์ หรือหากไม่นำเข้าก็ซื้อจากโรงกลั่นในประเทศได้” 

 

และวิธีการคำนวณราคาโรงกลั่นและราคาอ้างอิง ค่าขนส่ง บวกค่าประกันภัย ราคาเฉลี่ยใกล้เคียงกันอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่านโยบายเปิดเสรีจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงได้อย่างไร ยังเป็นที่สงสัย และมองว่าคงไม่มีอะไรที่จะลดไปได้มากกว่านี้ เพราะเรานำเข้าเสรีได้อยู่แล้ว หรืออาจเป็นไปได้ว่าภาครัฐอาจไปหาแหล่งอื่นที่มีราคาต่ำกว่าราคานำเข้าปัจจุบัน 

 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยับสูง

ภาพ: กระทรวงพลังงาน

 

ลดค่าไฟทำได้จริง? ทำไมรัฐบาลหยิบยกมาเป็นเรื่องเร่งด่วน

 

ปัญหาค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเกิดจากในช่วงปีที่ผ่านมา สงครามรัสเซีย-ยูเครนเองก็มีผลอย่างมาก ถามว่าจะถูกไปกว่านี้ได้หรือไม่ ต้องอธิบายให้เห็นภาพกว้างก่อนว่า ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยังแบกภาระหนี้ หากรัฐสามารถยืดชำระหนี้ได้ ต้นทุนก็ถูกลง ขึ้นอยู่กับแนวทางหารือของรัฐบาลทั้งสิ้น 

 

ขณะเดียวกันแนวโน้มราคาพลังงานช่วงปลายปี พบว่าราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง ตรงนี้จะช่วยให้ค่าไฟในช่วง 6 เดือนจากนี้ลดลงได้บ้าง แต่ต้องประเมินไปตามสถานการณ์โลกด้วย

 

“ถามว่าทำไมถึงเร่งด่วน ผมมองว่านโยบายนี้มาจากการแรงจูงใจการหาเสียง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลจะหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นแรก และราคาค่าไฟก็ยังแพงแตะ 5 บาทต่อหน่วยเมื่อเทียบกับหลายประเทศ รวมถึงน้ำมันที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ว่าจะไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตอนนี้ก็เกินมาแล้ว เบนซินยิ่งแพงหนักขึ้นไปถึง 40 บาทต่อลิตร รวมไปถึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ก็สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็ชี้ให้เห็นว่า เมื่อประชาชนคาดหวัง รัฐบาลก็พยายามทำ และลดกระแส ลดแรงกดดันอยู่แล้ว” 

 

แนะแนวทางที่น่าจะเหมาะสมกับทุกฝ่าย

 

ศ.ดร.พรายพล ให้ความเห็นว่า ทางที่ดีที่สุดคือการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทุกชนิด ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ราคาไม่ควรจะต่ำกว่าราคานำเข้า  

 

“เราก็ควรใช้กลไกราคาตลาดโลก ไม่อุดหนุนหรือเข้ามาแทรกแซงมากจนเกินไป เอาเงินมาจัดสรรในช่วงที่ราคาตลาดโลกถูก ตรงนี้ทำได้ แต่ถ้าจะอุดหนุนไปตลอด ไม่ว่าราคาตลาดโลกจะถูกหรือแพง ผลเสียจะอิมแพ็กต์มาก”

 

ที่สำคัญ เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทราบกันดีว่าทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด หากรัฐมองข้ามไป ประเทศไทยจะกลายเป็นเป้า 

 

“เรื่องเร่งด่วนสำคัญก็จริงแต่ต้องดูระยะยาวด้วย เพราะน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้ทั่วโลกก็พยายามลดการใช้กันแล้ว หรือแม้แต่ไทยเองก็หันไปใช้พลังงานสะอาด EV รัฐบาลเองก็พยายามส่งเสริม ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าก็ต้องหันมาใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น ทั้งจากพลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และทุ่มให้กับการลงทุนไฮโดรเจน โดยรักษาระยะระหว่างทางที่เราไม่ควรที่จะให้ราคาพลังงานแพงจนเกินไป” 

 

 

ไทยอยู่จุดไหนของโลกพลังงานสะอาด 

 

ศ.ดร.พรายพล กล่าวว่า “กติกาโลกก้าวไปสู่ Net Zero กันแล้ว ถ้าจะให้คะแนน ผมให้คะแนนต่ำมาก น่าจะได้ C น้อยลงมาอีกด้วยซ้ำเป็น C- ที่ผมต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะว่าเรื่องของพลังงานสะอาดเราก็พูดกันมาตลอด แต่มันไม่มากและเร็วเท่าที่ควร” 

 

แม้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ไปให้คำมั่นสัญญากลาสโกว์ในการลดการปล่อยคาร์บอน แต่อย่าลืมว่ากว่าจะไปถึงปี 2050 เหลือเวลาอีก 27 ปี แม้ดูเยอะ แต่ถ้ามองระยะกลางลงมาสักนิด ในช่วง 15 ปี หากไทยวางสัดส่วนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ไว้ระดับนี้ ต้องเรียนตามตรงว่า ภายในแผนที่บรรจุไว้ เกินครึ่งยังเป็นพลังงานฟอสซิลอยู่ ถ้าเป็นไปได้ควรอยู่ที่ 30% ถ้าทำได้ถือว่าสอบผ่าน ซึ่งโดยส่วนตัวก็ลุ้นและพยายามผลักดันในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน

 

ขณะเดียวกันการลงทุนด้านพลังงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจล้วนมาจากการพิจารณาและกำหนดสัดส่วนจากภาครัฐ ย่อมมีส่วนสำคัญต่อขีดความสามารถแข่งขัน 

 

“นี่คือโจทย์สำคัญของรัฐบาลเศรษฐา อย่ามองเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันที่ถูกอย่างเดียว จะต้องสนใจพลังงานที่สะอาดด้วย” 

 

ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

 

ก้าวไกลชี้นโยบายไม่ชัด แก้ไม่ตรงจุด

 

ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กล่าวต่อที่ประชุมสภาถึงนโยบายพลังงานของรัฐบาลว่า รัฐบาลไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน และการใช้เงินอุดหนุน การปรับลดภาษีไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด 

 

“ถ้ามองให้ถูกจุด ค่าไฟที่ไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีโครงสร้างก๊าซธรรมชาติที่เอื้อกลุ่มธุรกิจ มีโครงสร้างการออกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เอื้อให้มีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องกล้าเข้าไปแก้ปัญหาจากกลุ่มทุนที่หากินกับค่าไฟของประชาชน” 

 

ส่วนนโยบายการนำเข้าน้ำมันเสรี ปัจจุบันประเทศไทยเปิดการนำเข้าน้ำมันเสรีอยู่แล้ว แต่ด้วยการกำหนดเงื่อนไขที่มากจนกลายเป็นนโยบายที่ไม่เปิดโอกาสให้กับผู้เล่นรายใหม่ ทำให้สุดท้ายก็ผูกขาดกับรายใหญ่รายเดิมๆ

 

ชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

 

ประชาธิปัตย์จี้รัฐควรแก้ที่กระดุมเม็ดแรก

 

ชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า นโยบายเร่งด่วน แต่กลับไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร จะใช้งบจากแหล่งใดนำมาลดค่าน้ำมัน 

 

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือแก้กระดุมเม็ดแรก ดังนี้

 

  • ขอให้ตรึงค่า Ft กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคเกษตรกรรม
  • ขอให้หยุดการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ และนำเข้าจาก สปป.ลาว เพราะขณะนี้ไฟฟ้าล้นระบบ 
  • ทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เอื้อให้เอกชน ในลักษณะพร้อมจ่ายภายใต้เงื่อนไขใช้-ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย
  • เร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน
  • หยุดผูกขาดสัมปทานรัฐกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X