×

สมาคมวิศวกรฯ วิเคราะห์เหตุทางยกระดับถล่มรูปแบบคล้ายโดมิโน เรียกร้องหน่วยงานรัฐสุ่มตรวจ-ตั้งมาตรการปลอดภัยให้ดี

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2023
  • LOADING...
สะพานข้ามแยกลาดกระบัง

วันนี้ (11 กรกฎาคม) อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเหตุการณ์พังถล่มของเครนระหว่างก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ในพื้นที่เขตลาดกระบังวานนี้ (10 กรกฎาคม) ว่า

 

จากเหตุการณ์ที่เครนก่อสร้าง (Launching Truss) พังถล่มระหว่างทำการก่อสร้างสะพาน ขณะนี้กำลังประมวลข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อสันนิษฐานของการพังถล่ม และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด จะต้องรอการตรวจสอบเชิงลึกเสียก่อน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลจากเหตุการณ์แล้วจุดตั้งต้นของการวิเคราะห์จะต้องระบุลำดับของการพังถล่มว่าเริ่มขึ้นจากจุดใดก่อน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

 

  1. เครนก่อสร้างร่วงลงมาแล้วทำให้สะพานถล่มตามมา
  2. สะพานถล่มแล้วทำให้เครนก่อสร้างร่วงลงมา

 

อมรกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นแบบไหน เนื่องจากการวิบัติของสะพานลักษณะนี้มักจะมีจุดเริ่มที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วลุกลามไปสู่จุดอื่นคล้ายๆ การล้มตามกันของแท่งโดมิโน

 

หากการวิเคราะห์ระบุว่าเครนล้มลงมาก่อนก็จะไปนำสู่การประเมินสาเหตุของการใช้งานเครน การติดตั้ง การยึดรั้งเครนกับโครงสร้าง ตลอดจนการเคลื่อนที่ของเครน เพราะเครนก่อสร้างเป็นโครงสร้างเหล็กที่มีความสูงและบาง ก็อาจเสียสมดุลและล้มได้ง่ายหากยึดรั้งไม่ดีพอ

 

แต่หากผลการวิเคราะห์ระบุว่าโครงสร้างสะพานเริ่มพังก่อน จากนั้นทำให้เครนสูญเสียการรองรับ ก็อาจทำให้เครนล้มลงได้เช่นกัน หากเป็นกรณีหลังก็ต้องไปดูว่าสาเหตุที่ทำสะพานพังก่อนเกิดขึ้นจากขั้นตอนใด เช่นขั้นตอนของการดึงลวดอัดแรงหรือจากสาเหตุอื่น

 

อมรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้การวิเคราะห์สาเหตุในเชิงลึกจะต้องตรวจสอบแบบก่อสร้าง รายละเอียดการออกแบบ การคำนวณระหว่างการก่อสร้าง ขั้นตอนการทำงาน (Method Statement) ตลอดจนคุณภาพวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง จึงจะระบุสาเหตุที่แท้จริงได้

 

การก่อสร้างโครงสร้างสะพานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในเขตชุมชน เป็นงานที่อันตรายและมีความเสี่ยงมาก แต่ก็มีหลักปฏิบัติทางวิศวกรรมที่ครอบคลุมอยู่แล้ว แม้กระนั้นก็ยังเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงมาตรฐานการทำงาน การกำกับดูแล และการควบคุมการก่อสร้าง ว่ามีการบังคับใช้อย่างจริงจังแค่ไหน

 

ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ วิศวกร ที่ปรึกษา ตลอดจนถึงหน่วยงานเจ้าของโครงการ จะต้องดำเนินการต่างๆให้เป็นไปตามหลักและขั้นตอนทางวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรกสุด

 

การดำเนินโครงการต่อไปจะต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของการพังถล่มให้ได้เสียก่อน และผู้รับจ้างจะต้องนำเสนอวิธีการและมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกจึงจะให้ก่อสร้างต่อได้ และควรกำหนดให้มีการสุ่มตรวจสอบการก่อสร้างอิสระ ซึ่งอาจจะมาจากสมาคมวิชาชีพที่เป็นกลางหรือทางภาครัฐเข้าร่วมสุ่มตรวจสอบงานก่อสร้าง

 

อมรกล่าวว่า ควรกำหนดมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการก่อสร้างที่เสี่ยงอันตรายในช่วงเวลาที่ประชาชนใช้ถนนอย่างหนาแน่น หรือให้ปิดการจราจรชั่วคราว และการกำหนดแผงกั้นพื้นที่ก่อสร้าง มิให้เศษวัสดุหรือสิ่งของต่างๆ หลุดร่วงไปที่ผิวจราจร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising