ในระหว่างที่เศรษฐกิจของโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 แต่ละประเทศพยายามออกนโยบายเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจของตัวเองฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง ‘สหรัฐฯ’ และ ‘จีน’ กลับมีแนวทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นนี้อาจมีผลต่อกระแสการโยกย้ายเม็ดเงินการลงทุนในตลาดโลก
ความแตกต่างที่ว่านี้เป็นเรื่องของนโยบายการเงิน ซึ่งในฝั่งของสหรัฐฯ เลือกที่จะดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
ในขณะที่จีนใช้นโยบายการเงินที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะค่อยๆ ลดวงเงินอัดฉีดลงมา
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ มองว่า ที่ผ่านมาจีนติดตามดูในส่วนของการบริหารสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร หรือ REPO ซึ่งจีนจะใช้การบริหารแบบปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หากวันไหนที่สภาพคล่องตึงตัวเกินไปก็อาจจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยเช่นกัน
“แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนคือ จะไม่มีวงเงินอัดฉีดขนาดใหญ่ออกมาจากจีน ทำให้ในแง่ของสภาพคล่องสหรัฐฯ ดูจะเป็นต่อมากกว่า”
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนไม่ต้องการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบมากเกินไป เนื่องจากภาวะการเก็งกำไรในตลาดหุ้น อย่างเมื่อปีก่อนที่หุ้นจีนปรับตัวขึ้นได้ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการซื้อขายโดยใช้มาร์จิ้น ทำให้ฝ่ายกำกับกังวลว่าหากยังคงอัดฉีดสภาพคล่องต่อไป อาจจะเกิดฟองสบู่มากขึ้นไปอีก
ในขณะที่ฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีความตั้งใจที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบต่อไป ทำให้หุ้นสหรัฐฯ ยังถูกประคองไว้ได้ แม้ว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากหุ้นเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีเงินทุนใหม่ไหลเข้าไปในหุ้นกลุ่มอื่นแทน ในขณะที่หุ้นจีนกลับปรับตัวลงแทบจะทั้งตลาด
“ในระยะสั้น ตัวเลขเศรษฐกิจและการอัดฉีดเงินของสหรัฐฯ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สูงขึ้น หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน แต่ด้วยนโยบายของ Fed ที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทำให้ในระยะกลางเงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวน”
เมื่อพิจารณาประกอบกับทิศทางการลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งเงินทุนไหลออกจากหุ้น Growth โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี เข้าสู่หุ้น Value สะท้อนได้จากดัชนี Dow Jones และ NASDAQ ที่วิ่งไปคนละทิศ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนและเอเชียเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้วิ่งขึ้นมาด้วยแรงหนุนของหุ้นเทคโนโลยี มีแนวโน้มจะยังถูกกดดันต่อไปไม่ต่างจากดัชนี NASDAQ
ในขณะที่ตลาดหุ้นของภูมิภาคอื่นๆ อย่าง ‘เอเชียเหนือ’ จะไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นจีน ซึ่งถูกกระทบจากการขายหุ้นเทคโนโลยี ขณะที่ ‘ยุโรป’ และ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีหุ้น Cyclical อยู่มาก มีแนวโน้มจะโดดเด่นขึ้นมาในช่วงถัดจากนี้ สำหรับตลาดหุ้นไทยแม้จะได้อานิสงส์ แต่ด้วย Valuation ที่ตึงตัว ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามดูจะโดดเด่นกว่า ทั้งการเติบโตที่สูงกว่าและมูลค่าหุ้นที่ยังต่ำกว่า
“ในระยะถัดจากนี้นักลงทุนจะยังโฟกัสไปกับกระแสของการ Rotate เม็ดเงินออกจากหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งส่วนตัวมองว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้ต่อหากไม่มี Inflation Shock เข้ามากระทบ เชื่อว่าจุดพีกของการ Outperform ของหุ้นเทคโนโลยีได้ผ่านไปแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะขึ้นต่อไม่ได้แล้ว เพียงแต่หุ้น Value จะ Outperform มากกว่า”
ขณะที่ ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า การที่จีนลดวงเงินการอัดฉีดลงมาจะช่วยปรับสมดุลของเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว
จีนไม่จำเป็นต้องอัดฉีดมากนัก เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวมาได้ค่อนข้างดี และหากสหรัฐฯ ฟื้นตัวหลังจากนี้ จีนก็จะได้ประโยชน์ในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ขณะเดียวกันจีนไม่ต้องการให้เกิดภาวะฟองสบู่ในประเทศ การที่ผ่อนการอัดฉีดเงินลงมาน่าจะเป็นเรื่องดี และเป็นการปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก เพราะหากทุกคนเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมาก อาจทำให้เกิดฟองสบู่ทั่วโลก
สำหรับสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะโควิด-19 กระทบภาคแรงงานค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ
“ช่วงนี้เงินทุนอาจจะถูกดึงกลับไปทางฝั่งสหรัฐฯ เพราะดอลลาร์แข็งค่า และบอนด์ยีลด์พุ่งขึ้น ขณะที่หุ้นจีนหลังจากปรับฐานลงมาแรง ทำให้ State Fund ของจีนเริ่มส่งสัญญาณว่าราคาหุ้นลงมาเยอะมาก จนถึงจุดที่จะเริ่มเข้าซื้ออีกครั้ง”
ด้าน ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่จีนลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินสะท้อนว่า รัฐบาลจีนมองเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง หากจีนยังคงอัดฉีดมาตรการกระตุ้นต่อไปอีก อาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ปิติยังกล่าวย้ำว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ยังโดนผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจยังทรุดตัว แต่ของจีนเริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ และปีนี้จีนก็ตั้งเป้าการเติบโตไว้ถึง 6% ถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ไม่น้อย
“จริงๆ ก็เหมือนกับเวลาที่คุณกินยาอะไรสักอย่างหนึ่งมานานๆ เมื่อหายดีแล้วหากยังกินต่อ เชื้อโรคก็อาจจะดื้อยาได้ จีนจึงต้องรีบหยุดเพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง และเที่ยวนี้เขาเริ่มหันมาเน้นการเติบโตจากภายใน ถือเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในระยะข้างหน้า”
ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในรอบนี้จะดึงให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามได้ด้วยหรือไม่นั้น ปิติบอกว่า ต้องขึ้นกับว่าไทยยังอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนหรือไม่ รวมทั้งต้องดูด้วยว่าไทยยังเป็นทางเลือกของนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศจีนด้วยหรือไม่ หากไม่ใช่ทั้ง 2 ข้อนี้ก็ยากที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตามประเทศจีน
“ปัญหาเหล่านี้ผู้ประกอบการไทยต้องหันมาเอกซเรย์ตัวเองว่าเราอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไหน เป็นอุตสาหกรรมที่โตไปพร้อมกับจีนได้หรือไม่ หากเราไม่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานใหม่ของจีน ก็ต้องเร่งหาคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อมาชดเชยกับสิ่งที่จะหายไป พวกนี้จึงเป็นเรื่องที่ว่าเราจะวางกลยุทธ์ตัวเองอย่างไรด้วย”
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า