ภาพของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ยิ้มแย้มและทักทายกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ในระหว่างงานแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งปูตินเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจเพียงรายเดียวที่เดินทางไปร่วมในพิธีเปิด สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความสนิทสนมอย่าง ‘แนบแน่น’ และ ‘ลึกซึ้ง’ ระหว่างสองประเทศ
โดยแถลงการณ์ร่วมของสีและปูตินเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งเป็นการประกาศไปยังทั่วโลกว่า มิตรภาพของจีนและรัสเซียนั้น ‘ไร้ขีดจำกัด’
คำสัญญาของสีแสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อในเวลานั้นรัฐบาลปักกิ่งเป็นมหาอำนาจชาติเดียวที่ไม่ยอมแสดงออกใดๆ ต่อการกระทำของมอสโกที่คุกคามยูเครนด้วยการส่งกำลังทหารนับแสนประชิดแนวชายแดน ในขณะที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่างรุมประณามและประกาศจะคว่ำบาตรตอบโต้ขั้นรุนแรงต่อรัสเซีย หากตัดสินใจบุกยูเครน
ความเคลื่อนไหวของรัสเซียที่เขย่าบัลลังก์ของมหาอำนาจตะวันตกในตอนนั้นถูกมองว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อจีน และยังเป็น ‘บทเรียนสำคัญ’ ที่จีนสามารถเรียนรู้ได้ หากวันหนึ่งตัดสินใจที่จะเปิดฉากทำสงครามบุกไต้หวัน ซึ่งจีนเชื่อมั่นว่าเป็นมณฑลหนึ่งของตนและเคยขู่จะเข้ายึดครองด้วยกำลัง
แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ การที่รัสเซียเดินหน้าทำสงครามเต็มรูปแบบในยูเครน และมีข่าวว่ากำลังเรียกร้องให้จีนช่วยเหลือตนทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจและเงินสำรองที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรอย่างหนัก กลับกลายเป็นว่าอาจส่งผลให้สีไม่สามารถ ‘ยิ้มออก’ และสนับสนุนรัสเซียได้อย่าง ‘ไร้ขีดจำกัด’ เหมือนที่เคยประกาศไว้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
สงครามทำให้ชาติตะวันตกปรองดอง
- สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนทำให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตก จับมือกันประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียขั้นรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถึงขั้นบีบให้ธนาคารใหญ่ของจีนบางรายต้องยุติการทำธุรกิจในรัสเซีย และก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินและการค้าโลก ซึ่งจีนเองยังคงจำเป็นต้องพึ่งพา
- ชูลี่ เหริน คอลัมนิสต์ของ Bloomberg Opinion ระบุในบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุที่จีนจะไม่ช่วยรัสเซียรับมือกับการจับมือคว่ำบาตรของชาติตะวันตกรอบนี้ ทั้งที่จีนสามารถทำได้ เช่น การซื้อทองคำที่ธนาคารกลางรัสเซียถือครองไว้มูลค่ากว่า 130 พันล้านดอลลาร์ และจ่ายเป็นเงินดอลลาร์ การยอมรับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเบิลระหว่างธนาคาร การยกระดับทางการค้า เช่น ซื้อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ข้าวสาลี และปุ๋ย จากรัสเซียมากขึ้น ไปจนถึงการให้กู้ยืมเงินหรือการลงทุนในบริษัทพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ของรัสเซียมากขึ้น
- ที่ผ่านมาจีนมีประวัติคุ้นเคยกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มายาวนาน โดยเคยมีการทำธุรกิจกับอิหร่านที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรผ่านทางธนาคารขนาดเล็ก
- แต่การที่จะยั่วยุผู้นำ 2 ตลาดใหญ่ของโลกอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ที่จับมือกันคว่ำบาตรรัสเซียในตอนนี้คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่จีนต้องการ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของจีนเองก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายคุมโควิดเป็นศูนย์อย่างเข้มงวด ประกอบกับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่กำลังตกต่ำ ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศเป็นอีกความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่วางไว้ 5.5% ซึ่งจีนไม่ต้องการที่จะมีปัญหากับสหรัฐฯ และ EU เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่จีนมีสัดส่วนการส่งออกสินค้ารวมกันกว่า 35% ของการส่งออกทั้งหมด
- บทวิเคราะห์จาก CBC News ชี้ว่า ยังมีอีกความเคลื่อนไหวจากสงครามยูเครนที่รัฐบาลปักกิ่งต้องจับตามองคือ สวนหลังบ้านของตนอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ภายหลังอดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญอย่าง ชินโซ อาเบะ นำเสนอแนวคิดเพื่อคุ้มครองประเทศจากสงคราม ด้วยการแนะรัฐบาลโตเกียวให้พิจารณาเชิญสหรัฐฯ เข้าไปตั้งสถานีอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศของตน
- ซึ่งแม้รัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันจะปฏิเสธแนวคิดนี้ แต่ความเห็นดังกล่าวทำให้ปักกิ่งต้องประกาศคำเตือนอย่างหนักแน่นไปยังญี่ปุ่นว่าให้ ‘หยุดการยั่วยุและก่อปัญหา’
- สำหรับในเวทีระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติ รัสเซียกำลังกลายเป็นชาติที่ถูกโดดเดี่ยว โดยจีนนั้นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ถูกมองว่าอาจแสดงท่าทีปกป้องรัสเซีย เช่นเดียวกับเบลารุส ซีเรีย และเกาหลีเหนือ
- ริชาร์ด โกแวน ผู้สังเกตุการณ์ UN และผู้อำนวยการ International Crisis Group ซึ่งเป็นองค์กรวิเคราะห์และวิจัยภาวะวิกฤตทั่วโลก ให้ความเห็นว่า บทบาทและการแสดงท่าทีของจีนที่ต้องปกป้องรัสเซียทำให้จีนนั้น “เริ่มจะอึดอัดมากขึ้น”
- โดยที่ผ่านมาจีนเดินตามรัสเซียด้วยการปฏิเสธที่จะเรียกการทำสงครามในยูเครนว่าเป็นการบุก และเลือกยึดมุมมองของปูตินที่ประกาศว่าเป็นการ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ และจะ ‘ไม่มีการโจมตีด้วยขีปนาวุธทางอากาศหรือด้วยปืนใหญ่ในเมืองต่างๆ’ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งกล่าวเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการแถลงต่อสื่อ และยังพยายามปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชนในโลกอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการทำสงครามของรัสเซีย
- และเมื่อถูกถามเกี่ยวกับการสนับสนุน ‘อธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน’ ของประเทศต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาจีนเน้นย้ำและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในตอนนี้จีนกลับระบุว่า สถานการณ์ในยูเครนนั้นมีความซับซ้อนและเป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซียที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งชี้ว่า ข้อกังวลของรัสเซียต่อการขยายอำนาจของ NATO ในยุโรปตะวันออกนั้นควรได้รับการพิจารณา
จีนเสียงอ่อนลงในการสนับสนุนรัสเซีย
- โกแวนเชื่อว่า ปักกิ่งนั้นตระหนักและมีท่าทีอ่อนลงเรื่องการสนับสนุนรัสเซีย เห็นได้จากการลงมติประณามรัสเซียในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งเดิมทีเชื่อว่าจีนนั้นจะจับมือกับรัสเซียเพื่อใช้สิทธิ์ Veto คัดค้านมติดังกล่าว แต่กลับกลายเป็นว่าจีนเลือกที่จะงดออกเสียง หลังจากที่มีการเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องถ้อยคำที่ใช้ในมติประณาม
- ในการโหวตประณามรัสเซียระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา จีนก็ยืนยันท่าทีในจุดเดิมอีกครั้งด้วยการงดออกเสียง
- ท่าทีของรัฐบาลปักกิ่งทำให้เกิดคำถามมากมาย ทั้งเรื่องมิตรภาพระหว่างจีนและรัสเซีย และสีรู้หรือไม่ว่าปูตินนั้นเตรียมที่จะบุกยูเครนตอนที่ประกาศจะ “สนับสนุนซึ่งกันและกันแบบไร้ขีดจำกัด” ซึ่งปักกิ่งไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ แต่ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่าจีนนั้นไม่ได้รับสัญญาณใดๆ จากรัสเซียถึงสงครามที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์
- “ความประทับใจของผมในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์คือ การที่จีนไม่ทันตั้งตัวเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น พวกเขากลายเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างชัดเจนและมีปฏิกิริยาที่ชัดเจน” โกแวนกล่าว
หรือจริงๆ แล้วจีนกำลังถูก ‘ปั่นหัว’?
- อวิ๋นซุน ผู้อำนวยการโครงการจีนที่ Stimson Center ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของสหรัฐฯ มองว่า ในความเป็นจริงแล้วจีนนั้นน่าจะถูกปั่นหัวในเรื่องนี้
- เธอชี้ให้เห็นถึงการที่จีนขาดการเตรียมพร้อมในการนำพลเรือนของตนออกจากยูเครน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงเคียฟยังไม่มีการเปิดลงทะเบียนอพยพสำหรับพลเรือนจีนในยูเครนกว่า 6,000 คน จนกระทั่งหลังวันที่รัสเซียนำกำลังทหารพร้อมรถถังและขีปนาวุธบุกยูเครนเต็มรูปแบบ ขณะที่จีนยังเผชิญปัญหาในการอพยพพลเรือนของตน จนต้องขอความช่วยเหลือจากยูเครน
- ซุนยังมองว่า ในตอนแรกนั้นรัฐบาลปักกิ่งคิดว่าการเสริมกำลังทหารของรัสเซียบริเวณแนวชายแดนยูเครนเป็นเพียงการ “แสดงแสนยานุภาพและการข่มขวัญ” ซึ่งรัสเซียออกแบบมาเพื่อให้การเจรจากับชาติตะวันตกเป็นไปโดยที่รัสเซียมีจุดยืนที่แข็งแกร่งและมีอำนาจต่อรอง ซึ่งนั่นเป็นหนทางที่จีนเองจะทำหากอยู่ในจุดเดียวกับรัสเซีย แต่กลายเป็นว่าสีนั้นถูกปูตินปั่นหัว
- อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คนอื่นๆ นั้นไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ โดย ยาคุบ ยาโคโบว์สกี ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์รัสเซีย-จีน จากโครงการจีนของศูนย์ตะวันออกศึกษาในกรุงวอร์ซอ มองว่า จีนนั้นรู้เกี่ยวกับเป้าหมายสูงสุดของปูติน และระบุว่า รัฐบาลจีนจะเลือกสนับสนุนรัสเซียอยู่ดี เนื่องจากจีนมองเห็นประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์อย่างมหาศาลจากเรื่องนี้
- ซึ่งหากรัสเซียประสบความสำเร็จในการทำสงครามบุกยูเครนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จีนเองก็จะเป็นฝ่ายที่ชนะ ในขณะที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตก จะอ่อนแอลง
- แต่หากรัสเซียเกิดล้มเหลวก็จะถูกดูดให้เข้าหาจีนมากขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากต้องพึ่งพาจีนทั้งในด้านการเงินและความช่วยเหลือทางทหาร ซึ่งจะส่งผลให้รัสเซียนั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนเช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ
“รัสเซียก็จะกลายเป็นอภิมหาเกาหลีเหนือที่ตกไปอยู่ในอาณาจักรของจีน” ยาโคโบว์สกีกล่าว
ผลกระทบที่อาจสะเทือนถึงยุทธศาสตร์ไต้หวัน
- ไต้หวันเป็นอีกเหตุผลที่จีนต้องจับตามองสถานการณ์สงครามในยูเครน โดยความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัสเซีย ตลอดจนปฏิกิริยาจากทั่วโลก จะกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้จีนต้องพิจารณามากขึ้นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์เรื่องไต้หวันและการตัดสินใจเกี่ยวกับการบุกยึดไต้หวัน ซึ่งตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นดินแดนในขั้วของโลกประชาธิปไตย
- ทางฝั่งไต้หวันเองก็จับตามองความเคลื่อนไหวในยูเครน โดยรัฐบาลและประชาชนไต้หวันจำนวนมากแสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนชาวยูเครนและจับมือชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่ง โจเซฟ วู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไต้หวัน ยกย่องการต่อสู้ของยูเครนว่าเป็นแรงบันดาลใจแก่ชาวไต้หวัน “ในการเผชิญกับภัยคุกคามและการบีบบังคับจากอำนาจเผด็จการ”
- อย่างไรก็ตาม ทั้งสองสถานการณ์ยังมีความแตกต่างกันชัดเจนคือ กองทัพจีนนั้นทรงอำนาจมากกว่ารัสเซีย แม้ว่าจีนจะไม่ได้เผชิญกับการทำสงครามจริงๆ มานานกว่า 4 ทศวรรษแล้วก็ตาม
- ส่วนไต้หวันก็ไม่เหมือนกับยูเครน เนื่องจากการที่เป็นเกาะห้อมล้อมด้วยน้ำ อีกทั้งยังมีการเสริมกำลังอาวุธเพื่อต่อต้านการโจมตีของจีนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประกอบกับท่าทีของสหรัฐฯ ที่เคยให้สัญญาว่าจะช่วยเหลือไต้หวัน ทำให้หากจีนเลือกโจมตีไต้หวันก็อาจทำได้ยากกว่า
ภาพ: Photo by Kenzaburo Fukuhara – Poo l/ Getty Images
อ้างอิง: