ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตปัญหาโรฮีนจาในเมียนมาจะจบลงตรงไหน เพราะถึงเวลานี้ (15 กันยายน 2017) ตัวเลขชาวโรฮีนจาที่หนีตายออกจากตอนเหนือของรัฐยะไข่ เพื่อลี้ภัยไปยังบังกลาเทศพุ่งสูงถึง 370,000 คนแล้ว และไม่มีทีท่าว่าตัวเลขนี้จะหยุดนับง่ายๆ
ล่าสุดแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลได้เปิดเผยหลักฐานชิ้นใหม่ที่ชี้ให้เห็นผลจากการกวาดล้างในวงกว้างที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ โดยกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาและกลุ่มชาวบ้านได้เผาหมู่บ้านชาวโรฮีนจาทั้งหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีการยิงสังหารประชาชนโดยไม่เลือกเป้าหมายระหว่างการหลบหนี
จากการวิเคราะห์ข้อมูลบ่งชี้ถึงจุดที่กำลังมีเพลิงไหม้ ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายอื่นๆ และวิดีโอจากในพื้นที่ รวมทั้งจากการสัมภาษณ์ประจักษ์พยานหลายสิบคนในเมียนมาและส่วนที่หนีข้ามพรมแดนมายังบังกลาเทศ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า มีหลักฐานบ่งชี้ถึงการวางเพลิงอย่างเป็นระบบ โดยพุ่งเป้าโจมตีหมู่บ้านของชาวโรฮีนจาตลอดทั่วตอนเหนือของรัฐยะไข่ เป็นเวลาเกือบสามสัปดาห์
ทีรานา ฮัสซัน (Tirana Hassan) ผู้อำนวยการแผนกรับมือภาวะวิกฤต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า พยานหลักฐานที่มีนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพเมียนมากำลังวางเพลิงตลอดทั่วตอนเหนือของรัฐยะไข่ โดยเป็นปฏิบัติการที่พุ่งเป้าผลักดันชาวโรฮีนจาให้ออกจากเมียนมา ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างชัดเจน
“การปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นมีแบบแผนที่ชัดเจนและเป็นระบบ กองกำลังความมั่นคงได้เข้าปิดล้อมหมู่บ้าน ยิงใส่ประชาชนที่กำลังตระหนกตกใจ จากนั้นได้วางเพลิงเผาบ้านจนราบเป็นหน้ากลอง ในทางกฎหมายแล้วถือได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เป็นการโจมตีอย่างเป็นระบบ และเป็นการเนรเทศพลเมืองออกจากประเทศ”
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังตรวจพบการวางเพลิงขนาดใหญ่อย่างน้อย 80 แห่งในพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ โดยเพลิงไหม้แต่ละแห่งกินบริเวณกว้างอย่างน้อย 375 เมตร ซึ่งจากการพิจารณาภาพถ่ายดาวเทียมในเวลาและเดือนเดียวกันในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยพบว่าเกิดปรากฏการณ์เพลิงไหม้ระดับรุนแรงเช่นนี้ในพื้นที่ใดของรัฐดังกล่าวมาก่อน
เจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้พูดคุยกับชายวัย 27 ปีจากหมู่บ้านอินดิน ซึ่งอธิบายว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม กองทัพพร้อมกับกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เข้ามาล้อมหมู่บ้าน และยิงปืนขึ้นฟ้า ก่อนจะบุกเข้ามาไล่ยิงชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านและกำลังหลบหนีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย สาเหตุที่เขารอดตายเพราะหนีไปซ่อนตัวอยู่ในป่าใกล้ๆ และมองเห็นทหารยึดหมู่บ้านอยู่สามวัน มีการปล้นสะดมและเผาบ้านเรือน
ส่วนประจักษ์พยานชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่และผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศได้บรรยายตรงกันถึงยุทธการกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาว่า พบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกลุ่มชาวบ้านเข้ามาปิดล้อมหมู่บ้านและยิงปืนขึ้นฟ้า ก่อนจะบุกเข้ามาและเริ่มยิงปืนใส่ในทุกทิศทาง ก่อนจะวางเพลิงบ้านเรือนโดยใช้น้ำมันหรือบางครั้งก็ใช้เครื่องยิงระเบิดแบบพาดไหล่ยิงใส่
ชายอายุ 48 ปีคนหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเยทวิน เมื่อวันที่ 8 กันยายนว่า “ตอนที่ทหารบุกเข้ามา พวกเขาเริ่มไล่ยิงคนที่กำลังตกใจและจะวิ่งหนี ผมเห็นทหารยิงใส่ประชาชนจำนวนมากและสังหารเด็กผู้ชายไปสองคน พวกเขาใช้อาวุธสงครามเพื่อเผาบ้านเรือนของเรา เดิมทีหมู่บ้านเรามีกันอยู่ 900 หลังคาเรือน ตอนนี้เหลือเพียง 80 หลังที่ไม่โดนเพลิงไหม้ แต่ไม่มีชาวบ้านเหลืออยู่และไม่มีใครที่จะมาฝังศพคนเหล่านี้”
ส่วนชายชาวโรฮีนจาซึ่งหลบหนีจากบ้านของเขาที่เมียวทูจีในเขตหม่องดอว์เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมบอกว่า “กองทัพได้เริ่มโจมตีเมื่อตอน 11 โมงเช้า พวกเขาไล่ยิงเข้าไปในบ้านและยิงใส่ชาวบ้าน ปฏิบัติการนี้เกิดขึ้นประมาณหนึ่งชั่วโมง หลังจากหยุดลง ผมเห็นเพื่อนตายอยู่บนถนน ต่อมาตอนประมาณสี่โมงเย็น ทหารได้เริ่มยิงใส่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อชาวบ้านหลบหนี พวกเขาก็ใช้ขวดน้ำมันและที่ยิงระเบิดยิงใส่เพื่อเผาบ้านเรือน การวางเพลิงเกิดขึ้นต่อเนื่องไปเป็นเวลาสามวัน จนปัจจุบันไม่มีบ้านเหลืออยู่ในพื้นที่ของเราเลย บ้านทุกหลังถูกเผาไปจนหมด”
ที่น่าสังเกตคือ ในบางพื้นที่หน่วยงานปกครองท้องถิ่นดูเหมือนจะประกาศแจ้งเตือนชาวบ้านล่วงหน้าว่าจะมีการวางเพลิงเผาบ้านของพวกเขา ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนว่าการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความจงใจและมีการวางแผน
ขณะที่ทางการเมียนมาได้ปฏิเสธว่า กองกำลังความมั่นคงไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการวางเพลิงเหล่านี้ และมีการอ้างว่าชาวโรฮีนจาเป็นผู้จุดไฟเผาบ้านตนเอง “ความพยายามของรัฐบาลที่โยนความผิดให้กับชาวโรฮีนจา เป็นการโกหกอย่างชัดเจน จากการศึกษาของเราทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากว่า กองกำลังความมั่นคงและชาวบ้านบางส่วน มีส่วนรับผิดชอบต่อการวางเพลิงเพื่อเผาไหม้บ้านเรือนของชาวโรฮีนจา
“ชาวโรฮีนจาเกือบครึ่งล้านได้หลบหนีออกจากบ้านเรือนของตนภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ต้องมีการสอบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยกองกำลังความมั่นคง และต้องมีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลเมียนมาต้องยุติการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮีนจา ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของวิกฤตในปัจจุบัน” ผู้อำนวยการแผนกรับมือภาวะวิกฤต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
Photo: Amnesty International