วันนี้ (16 พฤษภาคม) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยถึงรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2022 ที่ผ่านมา พบว่า เป็นปีที่มีการประหารชีวิตสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่มีการประหารชีวิตบุคคลมากที่สุด
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ได้บันทึกการประหารชีวิตในปี 2022 พบว่า มีจำนวนสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยมีข้อมูลการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 883 คนใน 20 ประเทศ เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปี 2021 จำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มสูงมากเช่นนี้ยังไม่นับรวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้ง ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีน โดยการประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มจาก 520 ครั้งในปี 2021 เป็น 825 ครั้งในปี 2022
จนถึงสิ้นปี 2022 ที่ผ่านมา มี 112 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี ขณะที่อีก 9 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น ส่วนอีก 23 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ รวมแล้วมี 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว ส่วนประเทศที่มีและยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ในขณะนี้มีถึง 55 ประเทศทั่วโลก
สำหรับประชาคมอาเซียนนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ประกาศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาวและบรูไนได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ กล่าวคือยังคงโทษประหารชีวิตอยู่ตามกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไป แต่ได้มีการระงับการประหารชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น ขณะที่ประเทศไทย เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่มีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการสากลของแอมเนสตี้เผยว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเร่งประหารชีวิตบุคคลในปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งเผยให้เห็นถึงความเพิกเฉยอย่างเลือดเย็นต่อชีวิตมนุษย์ จำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดทั่วทั้งภูมิภาค โดยซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตบุคคลมากถึง 81 คนภายในวันเดียว ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ อิหร่านเองก็ได้ประหารชีวิตประชาชนเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง ซึ่งเป็นความพยายามของทางการที่จะยุติการลุกฮือของประชาชน
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นที่น่าเศร้าใจว่า การประหารชีวิตทั่วโลก 90% นอกประเทศจีน เกิดขึ้นเฉพาะใน 3 ประเทศในภูมิภาคนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการประหารชีวิตในอิหร่านที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก จาก 314 ครั้งในปี 2021 เป็น 576 ครั้งในปี 2022 ขณะที่ในซาอุดีอาระเบีย ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจาก 65 ครั้งในปี 2021 เป็น 196 ครั้งในปี 2022 นับเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่แอมเนสตี้บันทึกได้ในรอบ 30 ปี ในขณะที่อียิปต์ประหารชีวิตบุคคลมากถึง 24 คน
การใช้โทษประหารชีวิตยังเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บเป็นความลับในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศจีน เกาหลีเหนือ และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวาง ดังนั้นตัวเลขระดับโลกที่แท้จริงมีจำนวนที่สูงกว่านี้มาก ในขณะที่เราไม่ทราบจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตที่แท้จริงในประเทศจีน แต่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตบุคคลมากสุด มากกว่าอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา
ขณะที่อัฟกานิสถาน คูเวต เมียนมา ปาเลสไตน์ และสิงคโปร์ เป็น 5 ประเทศที่ได้มีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในปี 2022 ที่ผ่านมา ส่วนคาซัคสถาน ปาปัวนิวกินี เซียร์ราลีโอน และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท ส่วนอิเควทอเรียลกินีและแซมเบีย ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น
จนถึงสิ้นปี 2022 ขณะนี้มี 112 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท และมี 9 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น โดยแนวโน้มเชิงบวกยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไลบีเรียและกานาได้ดำเนินการด้านนิติบัญญัติ เพื่อมุ่งสู่แนวทางการยกเลิกโทษประหารชีวิต ในขณะที่ทางการศรีลังกาและมัลดีฟส์ระบุว่า จะไม่กลับไปใช้โทษประหารชีวิตอีก ด้านมาเลเซียเองก็ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตเชิงบังคับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภา
โดยคาลามาร์ดกล่าวทิ้งท้ายว่า ตัวเลขที่น่าเศร้าในปี 2022 ย้ำเตือนว่าเรายังไม่สามารถพอใจกับผลสำเร็จเท่านี้ และยังคงจะต้องรณรงค์ต่อไป จนกว่าจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก
ภาพ: YuriAbas / Shutterstock
อ้างอิง: