×

เพื่อไทยเตรียมเสนอตั้ง กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม 60 วัน ชูศักดิ์ยันไม่ซื้อเวลา บอกไม่นานเกินไปและไม่ช้าเกินรอ

โดย THE STANDARD TEAM
30.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (30 มกราคม) ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2567 และการเดินหน้าตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของ ขัตติยา สวัสดิผล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดยจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถูกบรรจุเป็นวาระในที่ประชุมแล้ว และจะขอเลื่อนขึ้นมาเป็นญัตติด่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 31 มกราคม หรือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 

 

ชูศักดิ์กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายในการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม จึงอยากรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายพรรคการเมือง ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดจะต้องพิจารณากฎหมายเพื่อหาข้อยุติให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยคณะกรรมาธิการฯ ที่จะเกิดขึ้น เป้าประสงค์ของพรรคเพื่อไทยคือต้องการให้ทุกพรรคการเมืองและบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ให้ได้มากที่สุด โดยองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ควรมีไม่เกิน 28-29 คน และคณะกรรมาธิการฯ ควรมาจาก สส. ของพรรคที่มีจุดยืนในระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง ได้รับการยอมรับ และควรเปิดกว้างให้ภาคประชาชนและนักวิชาการที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เข้ามาร่วมศึกษา

 

“พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า การเสนอตั้งคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ไม่ได้เป็นการซื้อเวลา เรายืนยันว่าการศึกษาในเรื่องนี้ควรใช้เวลาไม่นานเกินไป แต่ไม่ช้าเกินรอ คือไม่เกิน 60 วัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ช้าจนเกินไป และไม่เร็วจนเกินไป เพื่อความรอบคอบ รัดกุม รับฟังทุกเสียงสะท้อนให้มากที่สุด” ชูศักดิ์กล่าว

 

สำหรับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย มองว่าการนิรโทษกรรมควรเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยไม่ควรเป็นสาเหตุของการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ 

 

นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (31 มกราคม) พรรคเพื่อไทยจะเสนอญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 โดย สส. ของพรรคเพื่อไทยได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว และจะยื่นต่อประธานสภาในเวลา 11.00 น. ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านก็เห็นด้วยในการแก้ไขกฎหมายนี้ โดยแก้ไขในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

 

  1. ประชาชนต้องใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ (เสียงข้างมากแรก) 

 

  1. เมื่อออกเสียงแล้วต้องชนะกันที่เสียงข้างมาก ต้องเกินกว่าหรือมากกว่าผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน หรือผู้ประสงค์จะไม่ใช้สิทธิ (เสียงข้างมากสอง) จากเดิมที่ชนะกันที่เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ

 

  1. การออกเสียงประชามติสามารถออกเสียงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปพร้อมๆ กันได้เพื่อประหยัดงบประมาณ 

 

  1. การออกเสียงประชามติสามารถออกเสียงโดยการกากบาทที่บัตร โดยจะเสนอให้ออกเสียงด้วยวิธีการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออกเสียงมากขึ้น เช่น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือไปรษณีย์ ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมในการดำเนินการในการทำประชามติ

 

  1. ถ้าจะออกเสียงประชามติ กกต. ต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้แสดงความเห็นโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน จากเดิมที่กฎหมายมีข้อกำหนดห้ามรณรงค์ออกเสียงหรือไม่ออกเสียง 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising