×

กมธ.นิรโทษกรรม กำหนดขอบเขตนิรโทษกรรม ให้ถือว่าไม่เคยกระทำผิด พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง

โดย THE STANDARD TEAM
06.06.2024
  • LOADING...
Amnesty committee

วันนี้ (6 มิถุนายน) ที่อาคารรัฐสภา นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมในวันนี้ว่า มติที่ประชุมเห็นชอบเรื่องของกรอบเวลานิรโทษกรรม ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน 

 

ส่วนนิยามคำว่า การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ได้ข้อสรุปว่า ‘หมายถึงการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง’

 

โดย ชัยธวัช ตุลาธน สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เสนอความเห็นในที่ประชุมว่า ควรมีเรื่องขอบเขตการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นความเห็นใหม่ที่เสนอเข้ามาในกรรมาธิการฯ

 

ที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับขอบเขตการนิรโทษกรรม รวมถึงผลของการนิรโทษกรรมว่า “บรรดาการกระทำใดๆ หากเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด” 

 

ส่วนท้ายที่สุดการนิรโทษกรรมจะครอบคลุมเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่นั้น นิกรระบุว่า หลังจากผ่านการประชุมอีก 2-3 ครั้งก็น่าจะได้ข้อสรุป เนื่องจากขณะนี้มีรายละเอียดแต่ละคดีที่จะต้องพิจารณาว่าจะนิรโทษอะไรบ้าง 

 

เห็นชอบ 7 แนวทางนิรโทษกรรม

 

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ได้รายงานต่อที่ประชุมกรรมาธิการชุดใหญ่ ซึ่งเห็นชอบตามรายงานที่ได้เสนอไว้ 7 ประเด็น ประกอบด้วย

 

  1. นิยามแรงจูงใจทางการเมือง 

 

  1. การจำแนกประเภทคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองมี 3 ประเภทคือ การกระทำในคดีหลัก, การกระทำในคดีรอง, การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง

 

  1. การมีทางเลือกในการที่จะได้รับนิรโทษกรรม เสนอไป 3 ทางเลือก ประกอบไปด้วย รูปแบบคณะกรรมการ หรือคณะกรรมการนิรโทษกรรม, การนิรโทษกรรมโดยไม่ใช้คณะกรรมการ แต่ใช้กฎหมายที่ยกเว้นความผิด, การผสมผสานระหว่างการมีกรรมการกับการใช้กฎหมาย อาจเรียกว่าคณะกรรมการกลั่นกรองและติดตามการบังคับใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 

 

  1. กลไกและกระบวนการในการนิรโทษกรรม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทางเลือกว่าจะเลือกรูปแบบคณะกรรมการหรือไม่ ตั้งแต่การรับเรื่อง กลั่นกรอง ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการตัดสินและการเยียวยา 

 

  1. คณะกรรมการนิรโทษกรรมได้เสนอองค์ประกอบที่เน้นฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลัก ซึ่งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับและมีความเป็นกลางที่สังคมมีความเชื่อถือมากกว่าให้น้ำหนักฝ่ายบริหาร จึงเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานคณะกรรมการนิรโทษกรรม โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เป็นรองประธาน 

 

  1. มาตรการเยียวยา เน้นเรื่องคืนสิทธิให้กับบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม 

 

  1. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและการเสริมสร้างความปรองดอง โดยไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลา เพราะเมื่อผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมแล้วจะถือว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด แต่จะมีคณะอนุกรรมการที่ขึ้นมาทำหน้าที่ติดตามว่ามีการกระทำความผิดซ้ำหรือไม่ โดยมีวาระเพียง 2 ปี
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising