×

ยุทธพรเผย จำแนกคดีนิรโทษกรรมคืบหน้าแล้ว 90% ยืนยันยึดหลักสร้างความปรองดอง ไม่เอื้อประโยชน์ใคร

โดย THE STANDARD TEAM
05.06.2024
  • LOADING...
ยุทธพร อิสรชัย

วันนี้ (5 มิถุนายน) ที่อาคารรัฐสภา รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ

 

โดย รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า มีความคืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว ได้ยกร่างทั้งหมด 7 ประเด็น เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ ส่วนอีก 10% คือการปรับแก้ตามมติของกรรมาธิการชุดใหญ่ที่มีข้อเสนอแนะ ซึ่งการปรับแก้เป็นเรื่องนิยามของแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อที่จะให้ตรงกัน และเพิ่มเติมเรื่องของมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ รวมถึงแนวทางการสร้างความปรองดอง ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของการนิรโทษกรรม

 

รศ.ดร.ยุทธพร ย้ำว่า เจตจำนงของการนิรโทษกรรมคือการสร้างสังคมที่มีความปรองดอง โดยการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯ วันนี้จะนำเสนอคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ (6 มิถุนายน) ซึ่งถ้าไม่มีข้อเสนอแนะใดเพิ่มเติมก็ถือว่าสิ้นสุดการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ และนำไปสู่การทำรายงานเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 

สำหรับการทำงานในคณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่มีปัญหาและอุปสรรคแต่อย่างใด แต่มองว่าอุปสรรคอยู่ที่นอกห้องประชุมมากกว่า เช่น กระบวนการบิดเบือนนำข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งทางกรรมาธิการต้องชี้แจง ทำความเข้าใจ และเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ในการทำงานให้สังคมได้รับทราบมากที่สุด

 

“ประเด็นที่เป็นปัญหานอกห้องประชุม หนึ่งในนั้นคือประเด็นมาตรา 112 ท่ามกลางสังคมที่มีการแบ่งขั้วและมีความเห็นต่างในทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะมีมุมมองหรือข้อเสนอวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดก็ต้องดูข้อมูล ข้อเท็จจริงด้วย ซึ่งทางกรรมาธิการยืนยันว่าไม่ได้ถอดมาตรา 112 ในการพิจารณาออก และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา”

 

จากนั้นก็มีคำถามตามมาอีกว่า เมื่อไม่ถอดมาตรา 112 เป็นเพราะจะเป็นการช่วย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ จึงยืนยันว่ากรรมาธิการไม่มีการช่วยเหลือบุคคลใดเป็นพิเศษ ซึ่งการทำงานยึดหลักการเป็นที่ตั้ง และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ไปจะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร เพราะถ้ากฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ ซึ่งการนิรโทษกรรมครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะกินระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี

 

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวต่อไปว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะไม่มีผลต่อคดีของ ทักษิณ ชินวัตร ในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งการทำงานของคณะกรรมาธิการมีมาก่อนการที่จะมีการสั่งฟ้องทักษิณ และผลสำเร็จในงานครั้งนี้คือการมีข้อเสนอสำหรับการที่จะนำไปสู่การพิจารณาในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งไม่ว่าเราจะได้กฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ ตรงนั้นไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ แต่สิ่งที่ได้คือข้อเสนอที่วันนี้มีการรวบรวมข้อมูล ซึ่งไม่เคยมีการรวบรวมมาก่อน

 

“ข้อเสนอเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไปข้างหน้า แม้กฎหมายนิรโทษกรรมจะไม่สำเร็จ ก็สามารถที่จะนำข้อเสนอเหล่านี้มาพิจารณาได้อีกครั้ง ตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับสังคม ซึ่งเจตจำนงของการนิรโทษกรรมคือการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม และกฎหมายก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising