×

ชัยธวัช หวังได้ถก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สมัยประชุมสภาหน้า ชี้ไม่ควรมีร่างใดถูกปัดตก กรณีคดี ‘พอล แชมเบอร์ส’ สะท้อน ม.112 มีปัญหา

โดย THE STANDARD TEAM
10.04.2025
  • LOADING...
amnesty-bill-thai-parliament

วันนี้ (10 เมษายน) ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้าจะเกิดเกมการเมืองทำให้ไม่ได้พิจารณาหรือไม่ ว่า หวังว่าจะไม่มี จริงๆ ร่างกฎหมายของตน ที่เสนอตั้งแต่สมัยพรรคก้าวไกล จนถึง สส.พรรคประชาชน อยู่ในลำดับต้นๆ อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีการเลื่อนขึ้นมา ดังนั้นในสมัยการประชุมหน้า ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือมีเจตนาที่จะขัดขวางไม่ให้เรื่องนี้ได้รับการพิจารณา ก็จะต้องมีการพิจารณาในไม่ช้า

 

สำหรับกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศตัวจะไม่รับร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่นิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชัยธวัช หวังว่า พรรคการเมืองต่างๆ จะเห็นด้านบวก และประโยชน์ จากการที่จะนิรโทษกรรม ให้กับคดีการเมืองทุกกลุ่ม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการคลี่คลายความขัดแย้งที่มีมา เราต้องยอมรับว่า คดีการเมือง โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112 ที่หลายฝ่ายกังวล และไม่อยากให้หยิบนำมารวมในการนิรโทษกรรมครั้งที่จะถึงนี้ ผมคิดว่าเรายังมีเวลาที่จะหาทางออกต่อเรื่องนี้ ที่ยอมรับกันได้

 

ชัยธวัช ยกตัวอย่าง กลไกในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้มีการเสนอไว้ส่วนหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อพิจารณาสำหรับคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง จากข้อกังวลที่ว่า หากมีการนิรโทษกรรมไปแล้ว จะกลับมากระทำผิดซ้ำหรือไม่ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอของรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ให้คณะกรรมการนิรโทษกรรม พิจารณาวางเงื่อนไข และกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ให้เป็นเงื่อนไขก่อนที่จะได้รับการนิรโทษกรรมโดยสมบูรณ์

 

ชัยธวัช ยังหวังว่า เมื่อมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็อยากให้เปิดโอกาส ยังไม่อยากให้รีบปัดตกร่างของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไปพูดคุยหารือกันให้รอบคอบ มองเห็นทั้งผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน ถ้าเราปิดกั้นการนิรโทษกรรมบางคดีไปแล้ว จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการคลี่คลายความขัดแย้งในปัจจุบันได้จริงหรือไม่ เพราะอย่างไรการคุยกันในชั้นกรรมาธิการก็ยังมีเวลาอยู่ และ สส.ฝ่ายรัฐบาล ก็เป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ปัดตกร่างใดร่างหนึ่งไป

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกัน ถูกออกหมายจับในคดี ม.112 นั้น ชัยธวัช มองว่า กรณีนี้ยิ่งเห็นได้ชัดว่า คดี ม.112 มีปัญหาจริงๆ ทั้งปัญหาในเชิงตัวบทกฎหมาย และการบังคับใช้ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นคดีที่หลายคนยังสงสัย ว่าการกระทำอะไรที่ทำให้พอลถูกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงเช่นนี้ ยังไม่นับกรณีที่ถึงขั้นต้องออกหมายจับแทนที่จะออกหมายเรียกตามปกติ

 

ทั้งนี้ เมื่อพอลรับทราบ ก็ได้มีเข้าไปเจรจา และรายงานตัวโดยไม่คิดหลบหนี เพราะเป็นอาจารย์ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แม้จะได้รับการประกันตัวในภายหลัง ก็ยังจะให้ถอนวีซ่าอยู่ดี ทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาว่า พอลได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งก็เป็นกรณีที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ได้สำคัญว่า จะเป็นคนสัญชาติอเมริกัน หรือสัญชาติไทย

 

คดีนี้คือการตอกย้ำว่า คดี ม.112 มีปัญหาจริงๆ กลายเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นต่อจากนี้ คือ กระบวนการที่เป็นปกติ ทั้งสิทธิในการต่อสู้ตามกระบวนการ สิทธิที่จะได้รับการประกันตัว หรือสิทธิอื่นๆ และหวังว่าคดีนี้ จะไม่ทำให้สถานการณ์คดีการเมืองเลวร้ายลงไปอีก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising