×

ศาลอาญาสั่งจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา แอมมี่ คดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ เหตุวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อปี 64

โดย THE STANDARD TEAM
27.05.2024
  • LOADING...
แอมมี่

วันนี้ (27 พฤษภาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 3 คดีหมายเลขดำ อ.1199/2564 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ ศิลปินและนักกิจกรรมทางการเมือง และ ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า เป็นจำเลยที่ 1 และ 2

 

ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 217 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)

 

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐานบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมได้รับความเสียหาย

 

นับเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ต่อมาจำเลยได้นำภาพเข้าและเผยแพร่สู่ระบบคอมพิวเตอร์ในบัญชีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า ‘The Bottom Blues’ ของจำเลย ซึ่งเป็นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่เปิดเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

 

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และได้ประกันตัว

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ครั้งที่ 2 แต่มารดาซึ่งเป็นนายประกันแจ้งว่า ไชยอมรยังมีอาการป่วย ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งเลื่อนฟังคำพิพากษามาเป็นวันที่ 27 พฤษภาคม

 

โดยวันนี้จำเลยทั้งสองพร้อมทนายความเดินทางมาศาล

 

ศาลอาญาพิเคราะห์หลักฐานโจทก์จำเลยทั้งสองแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันวางเพลิงจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดิษฐานหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม หลังกระทำแล้วจำเลยที่ 1 ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ The Bottom Blues เผยแพร่ภาพไฟไหม้รูปพระบรมฉายาลักษณ์ และเปิดเป็นสาธารณะ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้

 

แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่ได้ทำเพื่อมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ทั้งนี้การเรียกร้องดังกล่าวจำเลยยังสามารถแสดงออกได้อีกหลายวิธี การที่เลือกเผาพระบรมฉายาลักษณ์ย่อมเป็นการใช้สิทธิที่มิใช่สิทธิตามปกตินิยม แม้จะอ้างว่าไม่มีเจตนาต่อพระมหากษัตริย์ แต่โจทก์มีรายงานการสืบสวนและคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองว่า พยานจำเลยทั้งสองร่วมกับเพนกวินเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ

 

โดยการกระทำที่ไปจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ว่า หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของจำเลยทั้งสอง ก็จะสามารถทำลายสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันฯ ที่ประชาชนเคารพรัก การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะการขู่เข็ญโดยการแสดงออกด้วยการกระทำว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ ชื่อเสียง กิตติคุณ และลดคุณค่าของพระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิด

 

พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)

 

การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ กับฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นโทษที่หนักสุด

 

จำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี ขณะที่จำเลยที่ 2 ขณะกระทำผิดอายุ 18 ปี และไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 1 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ

 

คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 112 กำหนด 2 ปี และฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2 ปี รวมโทษแล้วจำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising