การดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะโลกร้อน ถือเป็นความท้าทายของมนุษยชาติ ผลกระทบที่เกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อมสามารถขยายผลถึงขั้นอวสานของสิ่งมีชีวิตก็เป็นได้ การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นวิถีสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ การเลือกใช้พลังงานทางเลือกก็ดี หรือการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมพลังงานทางเลือก ล้วนเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยบำบัดรักษาสิ่งแวดล้อมและอนาคตของคนรุ่นใหม่ได้
จากการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของนานาประเทศ ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่างๆ มากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรักษาสมดุลได้ ส่งผลให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้น เป็น ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่นำไปสู่การแปรปรวนของสภาพอากาศ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตบนโลก ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ หรือที่เรียกกันว่า ‘ภาวะโลกรวน’ ในปัจจุบัน
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ซึ่งเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในด้านสภาวะโลกร้อน ทำหน้าที่ทบทวนงานวิจัยจากทั่วโลก และรวบรวมเป็นองค์ความรู้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการประเมิน ที่เรียกว่า IPCC Assessment Report ทุกๆ 5 ปี ระบุว่า หากมนุษย์เรายังคงใช้ชีวิตตามปกติ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเรื่อยๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวโลกเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ราวศตวรรษที่ 18) จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3.7-4.8 องศาเซลเซียส ภายในปี 2643
เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส ถึงแม้ว่าระดับการเพิ่มขึ้นอาจจะดูเหมือนไม่มากนัก แต่ก็ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย สร้างความเสียหายทั้งชีวิตผู้คน สัตว์ป่า ทรัพย์สินบ้านเรือนอย่างมหาศาล เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปีในอินโดนีเซีย หรือแม้แต่ประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งรุนแรงขึ้นด้วย และล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ความแปรปรวนของสภาพอากาศถึงขั้นเกิดเหตุหิมะตกกลางฤดูร้อนในประเทศจีนและแคนาดา
เหตุการณ์ดังกล่าวล้วนเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากปล่อยให้อุณภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งสร้างผลกระทบที่รุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งมีการคาดการณ์จากรายงานของ อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ ของนิตยสาร The Economist เมื่อปี 2562 ระบุว่า ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะสร้างความสูญเสียโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกถึง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2593
ทั้งนี้ แบบจำลองนักวิจัย เอ็มไอที-คาลเทค ได้ระบุว่าทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดพายุฝนรุนแรงขึ้น 6% เพราะความร้อนที่เพิ่มขึ้นทำให้ไอน้ำในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนักเขียนชาวอังกฤษ ‘มาร์ค ไลนัส (Mark Lynas)’ ที่ได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก สรุป และฉายภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1 ไปถึง 6 องศาฯ ผ่านทางหนังสือ ‘Six Degrees: Our Future on a Hotter Planet’ หากอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาฯ ผลที่เกิดขึ้นคือ ทะเลทรายแห้งแล้งมากขึ้น น้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาและธารน้ำแข็งละลาย หมู่เกาะมัลดีฟส์และเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกจะหายไป สิ่งมีชีวิตบางชนิดจะสูญพันธ์ุ และเกิดน้ำท่วมในเมืองต่างๆ จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาฯ เกิดคลื่นความร้อน (Heat Wave) ทั่วโลก ประชาชนจะมีอาการช็อกจากความร้อน (Heatstroke) และเสียชีวิตจำนวนมาก เกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่ว ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างมากทั่วโลก และท่วมเมืองชายฝั่งของมหาสมุทรอย่างกว้างขวาง สิ่งมีชีวิตของโลกประมาณ 1 ใน 3 จะสูญพันธุ์
อุณหภูมิสูงขึ้น 3 องศาฯ จะเกิดการอพยพของประชากรโลกครั้งยิ่งใหญ่ (Mass Migration) เกิดสงครามแย่งน้ำและอาหาร เกิดไฟป่าขึ้นมากมาย ป่าไม้ของโลกสูญพันธ์ 10% น้ำแข็งทั้ง 2 ขั้วโลกละลายอย่างมหาศาล เมืองต่างๆ จมอยู่ใต้น้ำ อุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศาฯ ห่วงโซ่อาหารของโลกสลายหมดถึงขั้นวิกฤต อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 45 องศาฯ แหล่งน้ำแห้งเหือด แผ่นดินหลายส่วนของโลกเกิดการยุบตัว กลับไปสู่ยุคเมื่อหลายล้านปีก่อนอีกครั้ง
อุณหภูมิสูงขึ้น 5 องศาฯ ชั้นน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้ละลายหมดสิ้น ภูเขาไฟที่คุกรุ่นจะระเบิดลาวาออกมามากมาย พืชผลทางการเกษตรสูญสิ้น สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์มากมาย เกินกว่าที่มนุษย์จะหาทางแก้ไขได้ โลกจะเหมือนกับเมื่อ 55 ล้านปีก่อน ยุคอีโอซีน (Eocene) และเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น 6 องศาฯ เหมือนกับโลกเมื่อ 251 ล้านปีก่อน ยุคเพอร์เมียน (Permian) สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์สูญสิ้นไปมากกว่า 95% (Mass Extinction) โลกจะค่อยๆ ปรับสมดุลใหม่ในอีกหลายล้านล้านปี ก่อนเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง
ความเป็นไปได้ดังกล่าวทำให้นานาประเทศหันมาให้ความสำคัญ ดำเนินการยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ออกมาตรการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม การขนส่งและคมนาคม การทำเกษตร วิธีการใช้งานทรัพยากร มุ่งมั่นในการลดการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ให้เป็นตามความตกลงปารีส หรือ COP21 ที่มีเป้าหมายรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาฯ เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
ประเทศมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศนโยบายให้สหรัฐฯ กลับคืนสู่ข้อตกลงปารีส พร้อมตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับก๊าซเรือนกระจกปี 2548 โดยลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล และหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
ประเทศจีน เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ประกาศกลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยให้คำมั่นที่จะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ก่อนปี 2603 ควบคุมโครงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินหลายร้อยแห่งทั่วประเทศอย่างเคร่งครัด เกาหลีใต้ประกาศนโยบาย ‘ข้อตกลงสีเขียวใหม่’ หรือ ‘Green New Deal’ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ขณะที่ญี่ปุ่นให้คำมั่นจะบรรลุเป้าหมายในปี 2593 เช่นเดียวกัน
แม้กระทั่งเอกชนรายใหญ่ระดับโลกหลายราย ก็ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างกล้าหาญ ทั้ง เนสท์เล่ ที่รุกขึ้นมาให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึงศูนย์ภายในปี 2593 เช่นเดียวกับ Royal Dutch Shell หรือแม้กระทั่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งบริษัท Facebook ก็ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนไปถึงศูนย์ภายในปี 2573
ประเทศไทย แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ปัญหาที่เห็นชัดมากที่สุดของไทยขณะนี้ คือสภาพภัยแล้งที่ยาวนานและรุนแรงมากขึ้น ฝนจะตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 16% ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจหลักของประเทศ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องตระหนัก และเข้าไปมีส่วนร่วมกับนานาประเทศในการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้
หนทางที่สำคัญของการบรรเทาปัญหาโลกร้อน คือการลดการพึ่งพาการใช้พลังงานจากฟอสซิล ที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหันมาใช้พลังงานสะอาด พลังงานที่ได้จากธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น
โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่หลายประเทศนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยจีนครองอันดับ 1 ของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด ด้วยการติดตั้งรวมประมาณ 1.75 แสนเมกะวัตต์ รองลงมาคือญี่ปุ่น กำลังการติดตั้ง 5.5 หมื่นเมกะวัตต์ อันดับ 3 สหรัฐอเมริกา กำลังการติดตั้ง 4.9 หมื่นเมกะวัตต์ อันดับ 4 เยอรมนี กำลังการติดตั้ง 4.5 หมื่นเมกะวัตต์ และอันดับ 5 อินเดีย กำลังการติดตั้ง 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งอินเดียเริ่มหันมาใช้โซลาร์เซลล์ได้เพียง 5 ปี แต่พัฒนาแบบก้าวกระโดด เป็นชาติที่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตโซลาร์เซลล์ถูกที่สุดในโลก
สำหรับประเทศไทย ด้วยภูมิประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีพื้นที่รับพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าเขตอื่นๆ ของโลก ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยมีค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ อาทิ การติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ สำหรับผลิตไฟฟ้าขนาด 12.5 เมกะวัตต์ ใช้ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC จังหวัดระยอง โครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน ซึ่งรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ครัวเรือนผลิตได้จากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) โดยขายไฟฟ้าเข้าระบบให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน. และ กฟภ.) หรือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด เขื่อนสิรินธรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โดยปัจจุบันตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ได้กำหนดเป้าหมายปริมาณกำลังผลิตตามสัญญาสะสม 10 กิกะวัตต์ ในปี 2580 ส่งผลให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีพัฒนาการไปตามการเติบโตของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเซลล์หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ งานวิศวกรรมการออกแบบติดตั้งและการบำรุงรักษา การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การพัฒนาเม็ดพลาสติก HDPE เกรดพิเศษสีเทา สำหรับทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ได้ถึง 5-8 องศาฯ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการวิจัยและพัฒนาไฮโดรเจล หรือที่หลายคนเรียกว่า Water Gel ซึ่งก็คือเจลที่ดูดซับน้ำ และด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้มีการนำไฮโดรเจลไปใช้งานในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุทางการแพทย์ วัสดุทางการเกษตร วัสดุทางด้านวิศวกรรม เช่น คอนแทคเลนส์ แผ่นปิดแผลไฟไหม้ สารที่ใช้แทนดินหรือผสมในดิน ตัวนำไฟฟ้าในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำมาใช้งานในการลดอุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์
จากงานวิจัยพบว่าไฮโดรเจลช่วยให้ประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ดีขึ้นประมาณ 13-15% และอยู่ในระหว่างการทดสอบปรับปรุงอายุการใช้งานของแผ่นไฮโดรเจลให้สามารถใช้ได้ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ กลไกการทำงานของไฮโดรเจลจะเป็นการนำแผ่นไฮโดรเจลไปติดไว้ ที่ด้านหลังของแผงโซลาร์เซลล์ เวลากลางคืนแผ่นไฮโดรเจลจะดูดซับน้ำจากอากาศเก็บไว้ในรูพรุนของไฮโดรเจล เมื่อถึงเวลากลางวันอุณหภูมิสูงขึ้นน้ำจากแผ่นไฮโดรเจลจะระเหยไปหล่อเย็นแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้อุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์ไม่สูงขึ้น จึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตกระแสไฟฟ้าให้สูงขึ้นได้ และจากงานวิจัยเรื่อง Lifetime degradation and regeneration in multi-crystalline silicon under illumination at elevated temperature ที่เผยแพร่ใน AIP Advances สรุปผลว่า อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์จะลดลง จากการใช้งานที่อุณหภูมิสูง ดังนั้นการช่วยลดอุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์ จึงช่วยยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ได้ด้วย
ประเด็นข้างต้น เป็นเพียงแค่ตัวอย่างงานวิจัยและพัฒนา ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด นับเป็นนวัตกรรม การดำเนินการเพื่อความยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและพิษเศรษฐกิจรอบด้าน ที่ล้วนจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงการดำเนินการของธุรกิจ และการสูญเสียงบประมาณในการแก้ปัญหา ดังนั้นทุกฝ่ายต้องตระหนัก ให้ความสำคัญ ร่วมมือกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ไม่ใช่เพียงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยบรรเทาผลกระทบของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากปัญหาโลกร้อนด้วย เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้ยั่งยืนต่อไปได้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์