ยุคที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่มีทีท่าดีขึ้น ผลสำรวจเผย ชาวอเมริกันเริ่มกังวล ใช้เงินเดือนชนเดือน เงินไม่พอออม พร้อมลดค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าลงต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญแนะควรตัดสินใจใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันมีพฤติกรรมในการจับจ่ายที่แตกต่างกัน โดยบางคนยังมีการใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย ในขณะที่คนส่วนใหญ่เริ่มประหยัดค่าใช้จ่ายลง เพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ยังสูงขึ้น
จากผลสำรวจของค้าปลีกและภาครัฐในอเมริกา ระบุว่า ชาวอเมริกันประมาณ 22% โดยเฉพาะ Millennials และ Gen Z ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เริ่มมีความกังวลที่ไม่มีเงินออมในบัญชีเลย และพยายามหันมาใช้เงินสดในการซื้อสินค้าแทนการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นการพยายามไม่สร้างหนี้สินให้กับตัวเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ถึงกระนั้น ชาวอเมริกันประมาณครึ่งหนึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ก็ยังมีเงินออมในธนาคารอย่างน้อย 2,000 ดอลลาร์ หรืออยู่ราวๆ 70,000 บาท
สัญญาณดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ หลายคนเริ่มปรับตัวและมีแนวทางในการเก็บเงินมากขึ้น
หากดูจากฐานข้อมูลเศรษฐกิจของอเมริกา ระบุว่า ภาพรวมการออมเงินส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาลดลงอย่างมาก ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีกอย่าง Walmart และ Target กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นลดลงต่อเนื่อง ภายใต้แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยที่สูง ตามด้วยอัตราเงินเฟ้อ และการกลับมาชำระคืนเงินกู้นักเรียนในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“ในปี 2023 เราเห็นผู้บริโภคจำนวนมากชะลอการใช้จ่าย ยกตัวอย่าง จากเดิมแล้วในช่วงเดือนกันยายนผู้บริโภคจะเริ่มตัดสินใจซื้อเสื้อสเวตเตอร์หรือผ้าเดนิม เพื่อรองรับอากาศหนาวในช่วงปลายปี แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นการมาใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งผู้บริโภคบางคนให้เหตุผลว่าจะรอจนกว่าอากาศหนาวถึงจะตัดสินใจซื้อ” Brian Cornell ซีอีโอของ Target ย้ำ
อีกทั้งเมื่อดูในช่วง Black Friday เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้บริโภคกลับใช้จ่ายอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่าจะรอซื้อสินค้าในช่วงลดราคา เพราะหากไม่ซื้อช่วงนี้สินค้าก็จะมีราคาสูง
สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าผู้บริโภคจะระมัดระวังมากขึ้น แต่บริษัทบางแห่งยังสามารถสร้างยอดขายเติบโตได้ นั่นเป็นเพราะยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ใช้จ่ายอย่างหนักหลังไม่ได้ใช้จ่ายในช่วงโควิดมานาน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การใช้จ่ายน้อยลงและเลือกที่จะประหยัดมากขึ้นอาจไม่ดีเท่าการใช้จ่ายแบบ Hedonistic หรือเรียกง่ายๆ ว่าควรตัดสินใจใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล และภาครัฐก็ต้องควบคุมการขึ้นราคาที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อในอนาคตได้
อ้างอิง: