×

แก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ส่อไม่ได้โหวต สภาถกหาทางลง 3 แนวทาง

17.03.2021
  • LOADING...
แก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินทาสู่ทางแพร่งหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” 

 

คำวินิจฉัยย่อนี้รวมถึงคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็ม 12 หน้ากระดาษ ทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าที่สุดแล้วรัฐสภาสามารถเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ได้หรือไม่ โดยในการประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระที่ 1 และวาระที่ 2 มาแล้วนั้นเต็มไปด้วยข้อถกเถียง โดย ส.ส. และ ส.ว. ได้เสนอญัตติซ้อนกันรวมราว 5 ญัตติ แต่สามารถสรุปได้เพียง 3 แนวทาง

 

สมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติให้ลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ไม่ได้ โดยตีความจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภามอบอำนาจเด็ดขาดให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไปทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีการทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

 

ขณะที่ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เสนอญัตติเพื่อปรับปรุงถ้อยคำตามญัตติของสมชายว่าขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 เพราะเป็นการขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ทั้งนี้เนื่องจากถูก ส.ส. ท้วงติงว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายตกไปแล้ว ญัตติของสมชายจึงไม่เป็นญัตติ

 

ด้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติให้รัฐสภาได้มีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เพื่อชี้ชัดในประเด็นต่างๆ ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ทั้งนี้แม้จะมีคำวินิจฉัยกลาง แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ามีความหมายอย่างไรในทางปฏิบัติ

 

จุรินทร์ได้ยกตัวอย่างเช่น มีข้อถกเถียงกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รัฐสภาดำเนินการอยู่นี้ถือเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม หรือเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทั้งนี้ในร่างนี้มี 2 หลักการรวมกัน คือการแก้ไขมาตรา 256 และการตั้ง สสร. เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

 

จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำได้ แต่ต้องมีการจัดทำประชามติเสียก่อน ซึ่งมีข้อถกเถียงว่าต้องทำประชามติตอนไหน จะทำประชามติก่อนวาระที่ 1 หรือทำประชามติหลังลงมติวาระที่ 3 ไปแล้ว รวมทั้งเรายังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรายังไม่ทราบว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราทำอยู่นี้ตกไปแล้วหรือไม่

 

ต่อมา นิกร จำนง ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา คีย์แมนคนสำคัญของพรรคได้เสนอให้เลื่อนการลงมติวาระที่ 3 ออกไป และเห็นด้วยกับญัตติของจุรินทร์จากพรรคประชาธิปัตย์

 

ขณะที่ฝั่ง ส.ส. ฝ่ายค้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอญัตติให้ลงมติวาระที่ 3 ต่อไปตามระเบียบวาระ เช่นเดียวกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติให้สภาพิจารณาแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน

 

แก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X