×

ตีตกทุกเรื่อง ปมยื่นสอบจริยธรรมอมรัตน์ ชี้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ประกันตัวแกนนำเป็นสิทธิ ร่วมชุมนุมเป็นเสรีภาพตาม รธน.

โดย THE STANDARD TEAM
31.05.2022
  • LOADING...
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

วานนี้ (30 พฤษภาคม) คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้พิจารณารายงานเสนอความเห็นจากคณะอนุกรรมการจริยธรรม ส.ส. ในการตรวจสอบ กลั่นกรอง แสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นในเรื่องร้องเรียน กรณีขอให้ตรวจสอบจริยธรรม อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่แสดงความคิดเห็นไม่สนับสนุนสินค้าเอกชน การโพสต์ข้อความในการเข้าร่วมชุมนุม และการใช้ตำแหน่ง ส.ส. ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย

 

คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้ถูกร้องที่มีความรู้สึกต่อสินค้าเอกชน ซึ่งเป็นเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 ประกอบกับการโพสต์ข้อความดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใด 

 

สำหรับการโพสต์ข้อความของผู้ถูกร้องหรือพฤติกรรมที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ ในการเข้าร่วมการชุมนุม และใช้ตำแหน่ง ส.ส. ประกันตัวแกนนำ ทำให้สังคมเชื่อว่าผู้ถูกร้องสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนและเพียงพอว่าผู้ถูกร้องสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยแนวคิดหรือพฤติกรรมในการโพสต์ข้อความก็เป็นสิทธิและเสรีภาพในด้านความคิดและพฤติกรรมของผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 และในกรณีมีภาพผู้ถูกร้องปรากฏอยู่ในพื้นที่ของการชุมนุม หากเป็นการชุมนุมภายใต้กรอบของกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุม

 

ส่วนกรณีการประกันตัวแกนนำโดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. เห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะขอรับการปล่อยตัวชั่วคราวตามบทบัญญัติของกฎหมาย ส.ส. ก็มีสิทธิในการใช้ตำแหน่งในการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย 

 

การที่ผู้ถูกร้องใช้ตำแหน่ง ส.ส. เป็นหลักประกันในการขอปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ จึงเป็นการกระทำที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย ดังนั้นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจึงยังไม่มีมูลเพียงพอว่าผู้ถูกร้องมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการจึงไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา

 

ขณะที่กรณีขอให้ตรวจสอบจริยธรรมอมรัตน์เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมกับกลุ่ม REDEM คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องมีภาพถ่ายว่าอยู่ในการชุมนุมที่มีการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่สมควรจะถูกนำไปรวมว่าเป็นการกระทำของผู้ถูกร้อง หรือของผู้จัดการชุมนุม หรือของการชุมนุมโดยรวม

 

นอกจากนี้การที่ผู้ถูกร้องได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของผู้ถูกร้องว่า ผู้ถูกร้องมิใช่ ‘เตี้ยหลังม็อบ’ การโพสต์ข้อความพร้อมลงภาพถ่ายของผู้ถูกร้องในสถานที่ชุมนุมเพียงเท่านี้ยังไม่เป็นการเพียงพอที่ทำให้เชื่อว่าผู้ถูกร้องเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมกับกลุ่ม REDEM ประกอบกับผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง ส.ส. และยังดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ และเลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยหน้าที่และอำนาจของผู้ถูกร้องดังกล่าว จึงพบผู้ถูกร้องอยู่ในสถานที่ชุมนุมหรือกิจกรรมการชุมนุม เพื่อร่วมสังเกตการณ์ในการชุมนุมดังกล่าว 

 

ดังนั้นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจึงยังไม่มีมูลที่ชัดเจนเพียงพอที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการจึงไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา

 

สำหรับกรณีขอให้ตรวจสอบจริยธรรมอมรัตน์เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก และการใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การกล่าวหาผู้ถูกร้องเข้าร่วมชุมนุมหรือเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม ยังมิได้บรรยายกล่าวหาโดยชัดแจ้งว่าผู้ถูกร้องมีการกระทำที่มีส่วนร่วมในการชุมนุม หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการชุมนุมอย่างไร และการกระทำในแต่ละครั้งเป็นความผิดหรือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมหรือมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างไร และการกล่าวหาผู้ถูกร้องในบางเหตุการณ์ ผู้ร้องได้บรรยายในลักษณะว่าผู้ถูกร้องเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งก็มิได้อยู่ในฐานะผู้เข้าร่วมชุมนุมตามที่กล่าวหา 

 

สำหรับกรณีกล่าวหาผู้ถูกร้องเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม REDEM ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มีการกระทำผิดกฎหมาย โดยมีภาพถ่ายของผู้ถูกร้องอยู่ในสถานที่ชุมนุม ก็ไม่สมควรจะนำไปรวมว่าการอยู่ในที่ชุมนุมของผู้ถูกร้องเป็นความผิดอาญา และไม่สมควรนำไปรวมว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้จัดการชุมนุม หรือของการชุมนุมโดยรวม และจากการที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง ส.ส. และยังดำรงตำแหน่งกรรมาธิการและเลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงพบผู้ถูกร้องในสถานที่ชุมนุมและเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการชุมนุมหรือกิจกรรมการชุมนุม สำหรับกรณีผู้ถูกร้องได้กล่าวแสดงความคิดเห็นและโพสต์ข้อความในการแสดงความคิดเห็น การแจ้งข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการชุมนุม หรือการประกันตัวผู้ต้องหา ก็เป็นเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การโพสต์มิได้มีลักษณะที่ใช้คำไม่สุภาพหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใด 

 

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกร้องใช้ตำแหน่ง ส.ส. เพื่อขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นการใช้สิทธิของ ส.ส. ที่พึงกระทำได้ โดยไม่มีกฎหมายห้ามการใช้ตำแหน่ง ส.ส. ในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งจะทำให้การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ดังนั้นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจึงยังไม่มีมูลที่ชัดเจนเพียงพอตามที่กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการจึงไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising