ชื่อของ อแมนดา กอร์แมน นักกวีหญิงวัย 22 ปี ผู้ได้รับรางวัลกวีเยาวชนแห่งชาติคนแรกของสหรัฐฯ กลายเป็นที่สนใจของชาวอเมริกันทั่วประเทศ หลังจากที่เธอกลายเป็นกวีอายุน้อยที่สุดที่ได้ขึ้นขับขานบทกวีบนเวทีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน เมื่อวานนี้ (20 มกราคม)
กอร์แมนร่ายบทร้อยแก้วชื่อ ‘เนินเขาที่เราปีน’ สะกดผู้ชมทั้งในพิธีที่หน้าอาคารรัฐสภา กรุงวอชิงตัน ดีซี. ไปจนถึงผู้ที่รับชมพิธีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และทางออนไลน์จากทั่วโลก โดยเริ่มต้นบทกวีได้กินใจชาวอเมริกัน
“เมื่อวันเวลามาถึง เราเฝ้าถามตัวเองว่าจะหาแสงสว่างในร่มเงาที่มืดมิดไร้จุดจบนี้ได้ที่ไหน?”
เนื้อหาบทร้อยแก้วความยาว 5 นาที ยังอ้างอิงถึงเหตุจลาจลบุกรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา
“เราได้เห็นพลังอำนาจที่อาจทำลายชาติเรา มากกว่าการร่วมแบ่งปัน มันอาจทำลายประเทศเรา หากหมายถึงการฉุดรั้งประชาธิปไตย
และความพยายามนี้เกือบสำเร็จ ในขณะที่ประชาธิปไตยถูกฉุดรั้งไว้ชั่วคราว แต่มันไม่อาจปฏิเสธได้ถาวร” กอร์แมนร่ายบทร้อยแก้ว ขณะที่เนื้อหาส่วนหนึ่งยังอธิบายตัวตนของเธอ
“เด็กสาวผิวดำซูบผอม ผู้สืบเชื้อสายจากทาส และได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เลี้ยงเดี่ยว ใฝ่ฝันเป็นประธานาธิบดี เพียงเพื่อพบว่าเป็นได้แค่คนอ่านกวีให้เขาเท่านั้น”
บทร้อยแก้วของกอร์แมนยังฉายภาพลักษณ์แห่งชัยชนะและความยากลำบาก และบอกไปยังชาวอเมริกันว่า “แม้ในขณะที่เราเสียใจ เราก็เติบโตขึ้น”
ภายหลังการขับขานบทร้อยแก้วของกอร์แมน บรรดานักการเมืองหญิงและบุคคลมีชื่อเสียง ทั้งฮิลลารี คลินตัน, มิเชล โอบามา, โอปราห์ วินฟรีย์ ต่างออกมาชื่นชมและแสดงความภาคภูมิใจในบทกวีอันน่าทึ่งของสาวน้อยรายนี้
กอร์แมนเกิดและเติบโตที่นครลอสแอนเจลิส ในปี 1998 และเคยมีปัญหาด้านการพูดในวัยเด็ก ก่อนจะเอาชนะและหายดีในที่สุด จนกลายเป็นนักกวีตั้งแต่วัยเยาว์
ปัจจุบันกอร์แมนได้เข้าเรียนในสาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งที่ผ่านมา เธอเคยเข้าร่วมเป็นผู้แทนรุ่นเยาว์ของสหประชาชาติในปี 2013 และได้แรงบันดาลใจจากการดูสุนทรพจน์ของ มาลาลา ยูซาฟไซ สาวน้อยเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพชาวปากีสถาน ซึ่งทำให้เธอได้รับเลือกเป็นกวีเยาวชนแห่งนครลอสแอนเจลิสในปีถัดมา ก่อนที่ในปี 2017 เธอจะคว้ารางวัลกวีเยาวชนแห่งชาติคนแรกของสหรัฐฯ
ขณะที่เธอยังมีผลงานหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกชื่อว่า The One for Whom Food is not Enough ที่ตีพิมพ์ในปี 2015 และเตรียมเปิดตัวหนังสือภาพประกอบบทกวีอีกเล่มในปีนี้
ทั้งนี้ กอร์แมนอธิบายตัวตนในบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัวที่มีผู้ติดตามกว่า 800,000 คนว่า เธอเป็นกวี นักเขียน และนักฝัน ซึ่งความใฝ่ฝันสูงสุดของเธอคือการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีภายในปี 2036
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: